ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๔๒๒
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๔๒๒
~ ถ้าไม่มีการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ทรงแสดงธรรมก็ไม่มีใครสามารถจะรู้ความจริงได้เลย เพราะฉะนั้น ก็เป็นการสะสมของแต่ละท่านที่ได้สะสมมาแล้ว ที่ได้เคยฟัง แต่ก็จะต้องรู้ว่าฟังพระธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นความละเอียดยิ่ง และต้องเป็นความรู้ความเข้าใจของเราเองแล้วก็ไม่ท้อถอยด้วย
~ ถ้าไม่มีกรรมที่ได้กระทำไว้แล้วเป็นปัจจัย จะไม่มีการเกิดเลย การเกิดเป็นผลของกรรม แต่ละท่านเกิดมาต่างกันเพราะกรรมที่ได้กระทำไว้ต่างกัน ในชาตินี้ก็มีกรรมต่างๆ แต่ว่ากรรมต่างๆ ที่ต่างกันไปในชาตินี้ย่อมมาจากเหตุ คือ การสะสมในอดีต สะสมอัธยาศัยมาต่างๆ กันในชาติก่อนๆ แล้วก็กระทำกรรมต่างๆ กัน ในชาติก่อนๆ เป็นเหตุให้อัธยาศัยในปัจจุบันชาตินี้ต่างกัน และกรรมในชาตินี้ ก็ต่างกัน
~ เกิดมาแล้ว จากโลกนี้ไปแน่นอน แต่ว่าขอให้ได้เป็นคนดีและเข้าใจธรรม แต่ไม่ลืมความเป็นอนัตตา (ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น) ทำอย่างดีที่สุด ผลจะเป็นอย่างไร ก็เป็นอนัตตา แต่ว่าห้ามไม่ให้ทำดีได้ไหม ในเมื่อสะสมมาที่จะเห็นคุณของความดี คนนั้นก็จะทำสิ่งที่ดี
~ กิเลสทั้งหลาย อยู่ที่ไหน? อยู่ที่ใจ ใครก็เอาออกไม่ได้ ความไม่รู้และกิเลสทั้งหมดที่สะสมมา ดี ชั่ว อยู่ที่ใจ แต่สิ่งที่ควรพลัดพรากจากไป ก็คือ อกุศลและความไม่รู้ ใครเอาออกไปได้ไหม ถ้าไม่ใช่ปัญญา (ความเข้าใจถูกความเห็นถูก)
~ แต่ละขณะที่เข้าใจ ไม่สูญหาย มีค่ายิ่ง เพราะเหตุว่าสามารถเข้าใจขึ้นอีกทีละเล็กทีละน้อย เมื่อไม่ลืมที่จะคิดถึงคำที่ได้ฟังแล้ว แล้วก็ฟังต่อไปอีก
~ โทสะ เป็นโทษกับจิตที่มีโทสะเกิดร่วมด้วย เหมือนกับว่าไฟกำลังไหม้จิต เพราะเหตุว่า ประทุษร้ายจิตให้ไม่เป็นสุข และถ้ามีไฟกองใหญ่ ไฟนั้นก็ลามไปทำร้ายบุคคลอื่นต่อไป
~ การให้อภัย ก็ทำให้บุคคลอื่นมีความสุข เขาไม่ต้องเดือดร้อนเพราะความโกรธของเราหรือเพราะความคิดเบียดเบียนของเรา
~ ถ้ามีความเข้าใจธรรมมากขึ้น ความเข้าใจนั้นเองก็จะทำให้เกิดกุศลมากหลายขั้นทีเดียว ไม่ใช่เพียงแต่เฉพาะขั้นทานหรือขั้นเมตตา หรือความสงบของจิตเท่านั้น ก็เป็นการเห็นประโยชน์ของการฟังเพื่อมีความเห็นถูก และเมื่อมีความเห็นถูก ความเห็นถูกนั้นเองก็เป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งที่จะให้กุศลต่างๆ เกิด
~ เมตตาเกิดเมื่อไหร่ ขณะนั้นจะเป็นการพร้อมที่จะช่วยบุคคลอื่นมีความหวังดี ไม่ว่าจะเห็นก็มีความเป็นเพื่อน หรือไม่ว่าจะคิดถึงก็คิดถึงในทางที่จะเป็นประโยชน์แก่บุคคลนั้น
~ ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจเรื่องกรรมและผลของกรรม จะไม่รีรอการทำกุศลทุกประการ ทุกขณะด้วย ทำให้เราเจริญทางฝ่ายกุศลยิ่งขึ้น
~ ถ้าไม่มีการฟังเรื่องสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็ไม่มีปัจจัยใดๆ ทั้งสิ้นที่จะทำให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
~ กุศลกรรมเจริญเพราะปัญญา ก็จะทำให้ค่อยๆ ละคลายหรือลดกำลังของอกุศล ปัญญาจะทำให้กุศลต่างๆ เจริญขึ้น ทั้งความอดทนเวลาที่ประสบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจก็อดทนได้ หรือประสบกับสิ่งที่น่าพอใจก็ยังอดทนที่จะไม่ให้เป็นโลภะอย่างรุนแรงหรือว่าแล้วแต่กำลังของปัญญา และกุศลอื่นๆ ก็เจริญด้วย
~ ถ้าเรารักสุขเกลียดทุกข์ คนอื่นก็เหมือนกัน จะต่างกันอย่างไร แล้วเราจะไปเบียดเบียนเขาไหม เราก็ไม่ได้ทำอกุศลกรรมแล้วเพราะเรารู้
~ มีทรัพย์สมบัติมากมาย ไม่สามารถทำให้พ้นจากทุกข์ใจได้เลย
~ กล้ากระทำในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่ถูกต้อง
~ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ก็จะไม่รู้อะไรเลยตลอดชีวิต
~ การเกิด เป็นผลของกรรมหนึ่งเท่านั้นในบรรดากรรมทั้งหลายที่ได้กระทำแล้วโดยที่ว่าไม่มีใครสามารถที่จะเลือกที่เกิดได้ ไม่สามารถที่จะเลือกตระกูล สมบัติหรือว่าวงศาคณาญาติได้ ย่อมเป็นไปตามกรรมทั้งสิ้น
~ บางท่านที่เป็นผู้รักความสะอาดทางกาย เป็นผู้ที่รังเกียจความสกปรกทางกายมาก แต่ว่าลืมคิดว่า ขณะใดที่อกุศลเกิด ขณะนั้นสกปรกหรือว่าน่ารังเกียจยิ่งกว่าความสกปรกทางกาย
~ กิเลส ดี มีหรือ? ถ้าเห็นว่ากิเลส ดี นั่นเห็นผิดแล้ว ไม่ใช่เห็นถูก
~ เมื่อเป็นอกุศลก็ต้องเป็นอกุศล ถ้าธรรมนั้นเป็นอกุศล จะเปลี่ยนสภาพธรรมนั้นให้เป็นกุศลไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ทรงแสดงความละเอียดของอกุศลธรรมซึ่งจะต้องละให้หมดสิ้นไป เพราะเหตุว่าถ้าไม่แสดงโดยละเอียด ท่านผู้ฟังก็จะไม่ทราบว่าอกุศลธรรมนั้นมีความละเอียดมากเพียงใด
~ ถ้าไม่มีโสตินทรีย์ (สภาพที่เป็นใหญ่ คือ โสตปสาทะ (หู)) จะไม่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ไม่มีโอกาสจะเข้าใจเรื่องของสภาพธรรม ที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน
~ การศึกษาพระไตรปิฎก ถ้าศึกษาผิดแล้วเป็นโทษ คือ ถ้าเข้าใจพระวินัยผิด ก็จะทำให้กระทำสิ่งที่เป็นโทษ เพราะคิดว่าพระวินัยไม่ได้แสดงไว้อย่างนั้น เข้าใจในพระวินัยผิดไป และถ้าศึกษาพระสูตรโดยที่ไม่ได้พิจารณาโดยละเอียด ก็ทำให้เป็นมิจฉาทิฏฐิ คือ มีความเห็นผิดคลาดเคลื่อนจากสภาพธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง และถ้าศึกษาพระอภิธรรมผิด คือ คิดถึงสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ก็อุตส่าห์คิดพิจารณาค้นคว้าสงสัยไม่ควรแก่การพิจารณาก็จะทำให้เป็นผู้มีจิตฟุ้งซ่าน
~ ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง และทรงพร่ำสอนเป็นอันมากในพระไตรปิฎก ประโยชน์ ก็คือ เพื่อที่จะให้เข้าใจจริงๆ ว่าชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงสภาพธรรม คือ จิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต) รูป (สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเลย) ซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น ทำกิจการงานต่างๆ
~ ถ้าได้เข้าใจธรรมละเอียดขึ้น ก็สามารถจะพิจารณาธรรมที่เกิดกับตนและรู้ได้ว่า สิ่งใดเป็นสาระ และสิ่งใดไม่เป็นสาระ เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นอกุศลมาก ก็จะทำให้ขวนขวายในการที่เจริญกุศลยิ่งขึ้น
~ พระธรรม ชี้ให้เห็นโทษของอกุศล และให้เห็นประโยชน์ของกุศล ทำให้ปัญญาเจริญขึ้นที่จะรู้ว่ากิเลสคืออะไร และมีมากแค่ไหน จนกระทั่งสามารถที่จะให้ปัญญาความรู้ถูกที่เพิ่มขึ้นนั้น ละคลายกิเลสได้
~ เกิดมาเป็นมนุษย์ ก็เป็นผลของกุศล แต่ว่าเมื่อเกิดมาแล้วมีชีวิต ต่างๆ กันไป เพราะท่านไม่ได้ทำแต่กุศลกรรมอย่างเดียว ตลอดอดีตอนันตชาติ (ชาติที่ผ่านมาอย่างนับไม่ถ้วน) ก็มีทั้งกุศลกรรม และ อกุศลกรรม อกุศลกรรมก็ย่อมตามมาเบียดเบียน ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิต กุศลก็ให้ผลเป็นสุข อกุศลก็ให้ผลเป็นทุกข์
~ บรรพชิตต้องไม่ใช่คฤหัสถ์ บรรพชิตจะทำกิจของคฤหัสถ์ไม่ได้ เพราะเหตุว่า ได้สละชีวิตทั้งหมดที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต เพราะฉะนั้น ต้องศึกษาพระธรรมและประพฤติตามพระวินัย ถ้าภิกษุใด ไม่ศึกษาพระธรรมแต่คิดจะทำอย่างอื่นและไม่ประพฤติตามพระวินัย เช่น จะรับเงินและทอง คนนั้น ก็ไม่ใช่ภิกษุ
~ ชีวิตข้างหน้าจะสุขทุกข์อย่างไรก็ย่อมเป็นไปตามกรรม ซึ่งถ้าทุกคนมีความมั่นใจจริงๆ และมีความเข้าใจจริงๆ ในเรื่องของกรรม ก็ย่อมจะเป็นผู้ที่ไม่ประมาทในการเจริญกุศล
~ สำหรับเรื่องของการให้ เป็นเรื่องที่ไม่ควรประมาท บางท่านก็คอยโอกาสว่า มีทรัพย์สินมากๆ แล้วก็จะให้เยอะๆ แต่ถ้าท่านให้ทานแม้เล็กน้อย แม้นิดหน่อย แม้เป็นสิ่งซึ่งดูเหมือนกับว่าจะไม่มีประโยชน์ หรือว่าไม่มีความหมายอะไรมากมายนักสำหรับท่าน แต่ว่าเป็นประโยชน์ หรือว่ามีความหมายมากสำหรับผู้รับ ซึ่งแม้จะเป็นสัตว์เดรัจฉาน ในขณะนั้นที่ท่านให้ ก็เป็นกุศลจิต เป็นกุศลกรรม.
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๔๒๑
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์บริหารวนเขตต์ที่เคารพยิ่งค่ะ และขออนุโมทนาในกุศลจิตทุกท่านค่ะ
กราบเท้าบูชาพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง
สิ่งที่ท่านอาจารย์ทำตลอดชีวิต ประเสริฐยิ่งนักค่ะ
ท่านทำให้ผู้ฟังรู้จักพระคุณของสัมมาสัมพุทธเจ้าผ่านคำจริงจากพระธรรมที่ทรงแสดง ท่านคอยย้ำเตือนความจริงที่รู้ได้ยากแสนยาก ท่านทำให้พวกเราไม่ประมาทในการเจริญกุศล และอบรมปัญญา ท่านมีแต่ให้ และสิ่งที่ท่านให้ มีค่ากว่าสิ่งอื่นที่พวกเราได้รับมาตลอดชีวิตค่ะ ชาตินี้ ประเสริฐยิ่งนัก เมื่อได้พบท่านอาจารย์ ขอน้อมรับคำของท่านอาจารย์ด้วยความเห็นพระคุณค่ะ และกราบอนุโมทนาในกุศลท่านอาจารย์ทุกประการ
กราบขอบพระคุณอาจารย์คำปั่นด้วยค่ะ
ขอกราบขอบพระคุณท่าน อ. เป็นอย่างสูง ขอกราบอนุโมทนาสาธุในธรรมอันประเสริฐค่ะ
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส กราบอนุโมทนาค่ะ
กุศลกรรมเจริญเพราะปัญญา ก็จะทำให้ค่อยๆ ละคลายหรือลดกำลังของอกุศล ปัญญาจะทำให้กุศลต่างๆ เจริญขึ้น ทั้งความอดทนเวลาที่ประสบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจก็อดทนได้ หรือประสบกับสิ่งที่น่าพอใจก็ยังอดทนที่จะไม่ให้เป็นโลภะอย่างรุนแรงหรือว่าแล้วแต่กำลังของปัญญา และกุศลอื่นๆ ก็เจริญด้วย
น้อมกราบอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธู ขอรับ