สภาพธรรมที่มีกำลัง กับ สภาพธรรมที่ไม่มีกำลัง
เกี่ยวเนื่องจาก พละ
อยากทราบว่า สภาพธรรมที่มีกำลัง กับ สภาพธรรมที่ไม่มีกำลัง นั้นต่างกันอย่างไร เช่น วิริยะเฉยๆ (คือไม่มีกำลัง) กับ วิริยพละ หรือ ผู้ที่มีสมาธิ กับ ผู้ที่มีสมาธิพละ มีลักษณะของสภาพธรรมที่ต่างกันหรือไม่
ขอขอบพระคุณ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สภาพธรรม ที่เป็นพละ นั้น เป็นสภาพธรรมเป็นไปเพื่อการตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ที่จะเป็นไปเพื่อดับอกุศลได้ในที่สุด
ความเพียร เกิดกับจิตส่วนใหญ่ เว้นไม่เกิดกับอเหตุกจิต ๑๖ ดวงเท่านั้น, ความเพียรที่เป็นไปในอกุศล หรือ แม้แต่ความเพียรที่ไม่เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ใช่สภาพธรรมที่เป็นพละ ในส่วนของสมาธิ ก็พิจารณาได้ว่า ถ้าเป็นไปกับอกุศล หรือ ไม่ได้เป็นไปในการตั้งมั่นที่จะรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ก็ไม่ใช่สมาธิพละ
ข้อความบางตอนจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ มีดังนี้
เมื่ออินทรีย์ ๕ เจริญเพิ่มขึ้น เป็นสภาพธรรมที่มีกำลัง ไม่หวั่นไหวในการพิจารณาอารมณ์ใดๆ ที่ปรากฏ ก็เป็นสภาพธรรมที่เป็น พละ ๕ คือ ...
๑. สัทธาพละ ไม่หวั่นไหวไปด้วยความไม่ศรัทธา
๒. วิริยพละ ไม่หวั่นไหวไปด้วยความท้อถอย
๓. สติพละ ไม่หวั่นไหวในการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใดๆ ที่ปรากฏ
๔. สมาธิพละ ไม่หวั่นไหวไปด้วยความฟุ้งซ่านไม่มั่นคง
๕. ปัญญาพละ ไม่หวั่นไหวไปด้วยความไม่รู้
การที่สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ จะเป็นสภาพธรรมที่มีกำลังได้ ก็เมื่อปัญญาเป็น
พละ เพราะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั่วขึ้น จึงไม่หวั่นไหวที่จะระลึกรู้ได้ว่าขณะที่กำลังเห็นเป็นนามธรรมและรูปธรรมอย่างไร ขณะที่กำลังได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรสรู้โผฏฐัพพะ ก็โดยนัยเดียวกัน
...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...