ปาราชิก ข้อ 2 ภิกษุลักเอาทรัพย์ผู้อื่น

 
Akarachan
วันที่  2 ต.ค. 2562
หมายเลข  31208
อ่าน  3,396

ถ้าตอนเป็นฆราวาสเรายืมของแล้วลืมคืน จนเจ้าของไม่เอาแล้ว ของนั้นจะเป็นของเราไหม และถ้าบวชของนั้นอยู่กับเรา จะเป็นปาราชิกไหม


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 3 ต.ค. 2562

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การที่จะเป็นปาราชิก ในข้อลักทรัพย์นั้น ต้องมีเจตนาลักขโมย ตามองค์ประกอบของการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ (ดังข้อความในพระไตรปิฎก)

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๑๙๐

อทินนาทาน มีองค์ ๕

อทินนาทานนั้น มีองค์ ๕ คือ

๑. ของที่เจ้าของหวงแหน

๒. รู้อยู่ว่า เป็นของที่เจ้าของหวงแหน

๓. มีจิตคิดลัก

๔. มีพยายามลัก

๕. และลักมาได้ด้วยความพยายามนั้น

แต่ในกรณีที่เป็นหนี้ แล้วลืมคืน แสดงว่า ลืม ไม่ได้มีเจตนาที่จะถือเอาหรือขโมยมาเป็นของของตน แต่เมื่อระลึกได้ว่าเป็นหนี้ ก็จะต้องคืนเจ้าของ ส่วนเขาจะรับคืนหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แม้ว่าจะได้บวชเป็นพระภิกษุแล้ว เมื่อเกิดระลึกได้ ว่า ตนเอง เป็นหนี้ ก็ต้องคืนเจ้าของ ครับ

อีกประการหนึ่ง บุคคลผู้เป็นหนี้ ย่อมบวชไม่ได้ ดังข้อความใน

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ ๒๕๔ ว่า

ห้ามบวชคนมีหนี้

[๑๐๘] ก็โดยสมัยนั้นแล ลูกหนี้คนหนึ่งหนีบวชในสำนักภิกษุ พวกเจ้าทรัพย์พบแล้ว กล่าวอย่างนี้ว่า ภิกษุรูปนี้คือลูกหนี้ของพวกเราคนนั้น ถ้ากะไรพวกเราจงจับมัน

เจ้าทรัพย์บางพวกพูดทัดทานอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายอย่าได้พูดเช่นนี้เพราะพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามคธราช ได้มีพระบรมราชานุญาตไว้ว่ากุลบุตรเหล่าใดบวชในสำนักพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร กุลบุตรเหล่านั้น ใครๆ จะทำอะไรไม่ได้ เพราะธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด

ประชาชนจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ มิใช่ผู้หลบหลีกภัย ใครๆ จะทำอะไรไม่ได้ แต่ไฉนจึงให้คนมีหนี้บวชเล่า ภิกษุทั้งหลายกราบทูลความเรื่องนั้นแด่พระผู้พระภาคเจ้า

พระผู้มีพระภาคเจ้ารับ สั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนมีหนี้ภิกษุไม่พึงให้บวช รูปใดให้บวชต้องอาบัติทุกกฏ

ดังนั้น ถ้ายังเป็นหนี้อยู่ บวชไม่ได้ ก็จะต้องชำระให้เรียบร้อยก่อนถึงจะสามารถบวชได้ แต่ที่สำคัญยิ่งไปกว่า นั้น บวชแล้ว ทำอะไร? มีความเข้าใจพระธรรมวินัยหรือไม่? ขัดเกลากิเลสหรือไม่? มีความจริงใจที่จะขัดเกลากิเลสในเพศที่สูงยิ่งโดยไม่ได้มีความประพฤติเหมือนอย่างคฤหัสถ์ หรือไม่?

ขอเชิญคลิกอ่านหนังสือ "ทำไมบวช" ได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ ครับ

ทำไมบวช

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 20 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
birdzaba288
วันที่ 3 ก.พ. 2564

ถ้าหลวงตา ก. ป่วยหนักอยู่ที่ร.พ.แล้วญาติเข้ามาเก็บของในกุฏิแล้วหลวงตา ข. ซึ่งผมไม่ได้สั่ง และไม่อยาก แต่ต้องรับไว้ด้วยความเกรงใจ และให้คนอื่นต่อไปถือว่าอาบัติเปล่า

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 4 ก.พ. 2564

เรียน ความคิดเห็นที่ 3 ครับ

ในขณะที่มีการรับ ทั้งๆ ที่ตนเองก็รู้ว่าของนั้นได้มาโดยไม่ถูกต้อง สามารถปรับอาบัติตามราคาของสิ่งของนั้นได้ สูงสุดถึงปาราชิกขาดจากความเป็นภิกษุได้

ตามความเป็นจริง เมื่อรู้ว่า เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ควรกล่าวให้ผู้นำมาถวายได้เข้าใจว่าไม่ถูกต้องอย่างไร แล้วไม่รับของนั้น ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 4 ก.พ. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อบรมปัญญาให้เข้าใจความจริง จะเป็นประโยชน์ทั้งชาตินี้ และชาติต่อๆ ไป กุศลที่ทำได้เสมอๆ คือ การฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีคุณค่ามหาศาลสำหรับชีวิตที่ต้องเดินทางต่อไป อีกแสนไกล และกันดาร

ขอเชิญศึกษาพระธรรม...

รวมลิงก์เมนูต่างๆ ในเว็บไซต์

พระไตรปิฎก

ฟังธรรม

วีดีโอ

ซีดี

หนังสือ

กระดานสนทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ