อยากทราบความจริงตามพระไตรปิฏกค่ะ

 
ชิงช้าชาลี
วันที่  4 ต.ค. 2562
หมายเลข  31210
อ่าน  781

มีประเด็นเรื่องพระตัดหญ้า อาบัติ แต่คนที่โพสข้อความด้านล่าง ชี้แจงว่าหากพระไม่ตัดใครจะตัด เพราะญาติโยมในสมัยนี้ไม่เข้าวัด และไม่ค่อยเอื้อเฟื้อช่วยงานวัด อาจต้องจ้างซึ่งพระอาจไม่มีเงิน วัดจะรก งูและสัตว์อันตรายจะมาก เขาจึงโพสข้อความด้านล่างลง ดังนี้

"พระพุทธเจ้าจึงตรัสทางแก้เมื่อก่อนที่พระองค์จะปรินิพพานว่า ถ้าในอนาคตจะบัญญัติเพิ่มลดพระวินัยก็ให้ทำได้ตาม "ความเหมาะสม"

ดังนั้น พระวินัยจึงมิใช่ "สัจจะ" ของ "ที่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปได้ เพราะวินัยในบางบทหรือก็คือส่วนหนึ่งของคน คน ก็ตกอยู่ในกฎของ อนิจจลักษณะ"

อยากทราบจากท่านผู้รู้ในบ้านธรรมะ ว่ามีข้อความดังกล่าวอ้างจริงไหมคะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 5 ต.ค. 2562

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระพุทธเจ้าทรงแสดงสัจจะความจริงของพระวินัยเพื่อให้พระภิกษุขัดเกลากิเลสอย่างยิ่งและเพื่อความเลื่อมใสของประชุมชนด้วย เป็นต้น ที่พระองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทเรื่องห้ามพระภิกษุตัดต้นไม้ เป็นต้น เพราะชาวบ้านสำคัญเชื่อว่าต้นไม้มีชีวิตและทำให้คนอยู่ในสถานที่นั้นเดือดร้อน มีเทวดา ที่อาศัยอยู่ เพราะฉะนั้น การบัญญัติสิกขาบท ก็ตามเหตุที่กล่าวมาเพราฉะนั้น แม้ไม่มีคฤหัสถ์แต่ก็ให้สามเณรทำหน้าที่ตัดหญ้าต้นไม้ได้ ทำสิ่งใดก็ตามที่จะไม่ล่วงละเมิดพระวินัย พระภิกษุที่ดีท่านย่อมรักษาสิกขาบทแท้ด้วยเหตุแห่งชีวิต แต่ผู้ไม่ขัดเกลาย่อมหาข้ออ้างมาเพื่อล่วงละเมิดพระวินัย และข้อความที่ผู้ถามยกมานั้น ที่ว่า

"พระพุทธเจ้าจึงตรัสทางแก้เมื่อก่อนที่พระองค์จะปรินิพพานว่า
ถ้าในอนาคตจะบัญญัติเพิ่มลดพระวินัยก็ให้ทำได้ตาม "ความเหมาะสม"

มีแต่ข้อความที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ดูกรอานนท์ เมื่อเราล่วงไป สงฆ์หวังอยู่ จะพึง ถอนสิกขาบทเล็กน้อย เสียก็ได้"

พระองค์ตรัสเพราะพระองค์ทรงรู้กำลังของพระสาวกพระอรหันต์ทั้งหลายที่จะยืนยันไม่ยกเลิกสิกขาบทเล็กน้อยประพฤติตามพระธรรมวินัย

หากจะกล่าวว่า พระพุทธเจ้าให้ยกเลิกสิกขาบทเล็กน้อย แล้วใครเล่าที่จะให้ยกเลิก ข้อนั้นข้อนี้ แม้แต่ พระอริยสาวก ผู้เป็นพระอรหันต์ มีท่านพระมหากัสสปะ และ ท่านพระอานนท์ เป็นต้น เมื่อครั้งทำสังคายนา ครั้งที่ 1 ผู้ล้วนทรงคุณ เลิศด้วยฤทธิ์และปัญญา ก็มีมติว่า เราจะไม่ยกเลิกสิกขาบทเล็กน้อย เพราะท่านเหล่านั้นเคารพในพระปัญญาคุณและเคารพในพระวินัยที่พระพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้นที่จะบัญญัติได้ แม้ท่านพระสารีบุตรผู้เลิศด้วยปัญญาก็ไม่สามารถบัญญัติพระวินัยได้เลย นี่คือ ความเคารพในพระวินัยบัญญัติและเคารพในพระพุทธเจ้า ของผู้มีปัญญาในสมัยอดีตกาล ครับ

"เรื่อง สิกขาบทเล็กน้อย"

ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ ได้ชี้แจงต่อพระเถระทั้งหลาย ว่า "ท่านเจ้าข้า .... เมื่อจวนจะปรินิพพาน พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสกับข้าพเจ้า ว่า ดูกรอานนท์ เมื่อเราล่วงไป สงฆ์หวังอยู่ จะพึง ถอนสิกขาบทเล็กน้อย เสียก็ได้" พระเถระทั้งหลาย ถามว่า "ท่านพระอานนท์ ก็ท่าน ทูลถามพระผู้มีพระภาค หรือเปล่า ว่า พระพุทธเจ้าข้า ก็สิกขาบทเหล่าไหน เป็นสิกขาบทเล็กน้อย?"

พระเถระบางพวก กล่าวอย่างนี้ ว่า "เว้นปาราชิก ๔ นอกนั้น เป็นสิกขาบทเล็กน้อย"
ฯลฯ

"เรื่อง ไม่บัญญัติ และ ไม่ถอนพระบัญญัติ"

ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปะ ประกาศให้สงฆ์ทราบด้วย ญัตติทุติยกรรมวาจา ว่า ดังนี้

ญัตติทุติยกรรมวาจา

"ท่านทั้งหลาย ขอสงฆ์ จงฟังข้าพเจ้า สิกขาบท ของพวกเรา ที่ปรากฏ แก่คฤหัสถ์ มีอยู่แม้ พวกคฤหัสถ์ ก็รู้ว่า สิ่งนี้ ควรแก่สมณะ เชื้อสายพระศากยบุตรสิ่งนี้ ไม่ควร.
ถ้าพวกเรา จักถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสีย จักมีผู้กล่าวว่า พระสมณโคดม บัญญัติสิกขาบท แก่สาวกทั้งหลายเป็นการชั่วคราว. พระศาสดา ของพระสมณะเหล่านี้ยังดำรงอยู่ ตราบใดสาวกเหล่านี้ ก็ยังศึกษาในสิกขาบททั้งหลายอยู่ ตราบนั้น. เพราะเหตุที่ พระศาสดาของสมณะเหล่านี้ ปรินิพพานแล้ว พระสมณะ เหล่านี้ จึงไม่ศึกษา ในสิกขาบท

ในบัดนี้ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ ถึงที่แล้ว "สงฆ์" ไม่พึงบัญญัติ สิ่งที่ไม่ทรงบัญญัติ ไม่พึงถอนพระบัญญัติ สิ่งที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว พึงสมาทาน ประพฤติในสิกขาบททั้งหลายตามที่ทรงบัญญัติแล้ว"

ฯลฯ

ท่านผู้ฟัง จะเห็นถึงความเคารพ นอบน้อม ของพระอรหันต์ทั้งหลาย ที่มีต่อพระผู้มีพระภาค แม้ว่าจะทรงอนุญาติให้ถอน "สิกขาบทเล็กน้อย" แต่ พระอรหันตเถระทั้งหลาย ท่านก็มีความเคารพ ในสิกขาบท ที่พระผู้มีพระภาค ได้ทรงบัญญัติแล้ว..เพราะฉะนั้น พระอรหันตเถระทั้งหลายก็ไม่ถอนพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติแล้วและ ไม่บัญญัติ สิ่งที่ไม่ทรงบัญญัติ.. ถ้าหากว่าท่านผู้ฟัง ในสมัยนี้ มีความคิดเห็น ว่า พระวินัยบัญญัติ ข้อใด อาจจจะประพฤติไม่ได้ หรือว่า ไม่เหมาะ ไม่ควร......

ก็ขอให้ท่านระลึกถึง พระอรหันตเถระทั้งหลาย ในการกระทำสังคายนาพระธรรมวินัย ครั้งที่ ๑ ซึ่ง พระอรหันตเถระทั้งหลายมีความเห็นร่วมกัน ว่า ท่านจะไม่บัญญัติสิ่งที่พระผู้มีพระภาค ไม่ทรงบัญญัติ. และ จะไม่ถอนสิกขาบทที่พระผู้มีพระภาค ทรงบัญญัติแล้ว

แนวทางเจริญวิปัสสนาครั้งที่ ๖๐๑ บรรยาย โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ชิงช้าชาลี
วันที่ 5 ต.ค. 2562

ขอขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 5 ต.ค. 2562

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น



พระภิกษุทุกรูป ทุกยุคทุกสมัย จะต้องสมาทานศึกษาน้อมประพฤติตามในสิกขาบทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ กล่าวคือ ไม่กระทำในสิ่งที่ผิด และ น้อมประพฤติในสิ่งที่ถูกต้องเท่านั้น จะไม่มีการบัญญัติเพิ่ม และ ไม่มีการถอนสิกขาบทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้แล้ว ซึ่งจะต้องกลับมาที่การตั้งต้นว่า บวช เพื่ออะไร? ถ้าไม่มีความจริงใจที่จะศึกษาพระธรรมวินัย ขัดเกลากิเลสของตนเองในเพศบรรพชิต นั่น ไม่ใช่ภิกษุในพระธรรมวินัยอย่างแน่นอน มีแต่โทษเท่านั้น เมื่อมีการล่วงละเมิดสิกขาบทต่างๆ ไม่ประพฤติตามพระวินัย ก็กำลังทำทางให้ตนเองไปเกิดในอบายภูมิเท่านั้น ไม่ว่าจะบวชนานหรือพึ่งบวชก็ตาม เพราะเหตุว่า การล่วงละเมิดสิกขาบท แล้วไม่มีการเห็นโทษ ไม่มีการแก้ไขให้ถูกต้องตามพระวินัย ก็เป็นผู้มีอาบัติเป็นเครื่องกั้นการบรรลุธรรม และ กั้นการเกิดในสุคติภูมิ ด้วย นั่นหมายความว่า ถ้าหากมรณภาพ (ตาย) ในขณะที่ยังเป็นพระภิกษุอยู่ ชาติถัดไป ก็เกิดในอบายภูมิเท่านั้น น่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง, ที่สำคัญ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้ทรงบังคับให้ใครบวช แม้เป็นคฤหัสถ์ ก็สามารถศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ขัดเกลากิเลสของตนเองได้ ครับ

ขอเชิญคลิกฟังการสนทนาได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ ครับ

พระธรรมวินัย ๐๒๗

พระธรรมวินัย ๐๒๘

.
..อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
โพธิ์งามพริ้ง
วันที่ 16 ต.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 20 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ