ณ กาลครั้งหนึ่ง บนเรือสำราญ Costa Fortuna ณ เมืองสีหนุวิลล์ กัมพูชา ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๑

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  8 ต.ค. 2562
หมายเลข  31216
อ่าน  2,574

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อวันพุธที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๑ ถึง วันอาทิตย์ที่ ๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ได้รับเชิญจากคุณสุภัทราและพลตำรวจตรี ปรัชญ์ชัย ใจชาญสุขกิจ เพื่อเดินทางไปพักผ่อนบนเรือสำราญ Costa Fortuna โดยเรือสำราญลำดังกล่าว มีกำหนดการเดินทางจากท่าเรือแหลมฉบัง ในวันพุธที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๑ ไปยังเมืองสีหนุวิลล์ กัมพูชา เกาะฟู้โกว๊ก เวียดนาม และเกาะสมุย (ที่เกาะสมุย ร.ต.โสภณ และคุณจริยา จ่ายพัฒน์ สมาชิกชมรมบ้านธัมมะ มศพ. จังหวัดสุราษฎร์ธานี หมายเลข ๒๗๐๘ และ ๒๗๐๙ กราบเรียนเชิญท่านอาจารย์และคณะฯ ไปรับประทานอาหารกลางวันและสนทนาธรรมด้วย ซึ่งจะได้นำความการสนทนาธรรมพร้อมภาพ บันทึกลง ณ กาลครั้งหนึ่ง ในลำดับต่อไป) หลังจากเกาะสมุยก็วนกลับมายังท่าเรือแหลมฉบัง ในช่วงเช้าของวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ เวลาประมาณ ๑๑.๐๐ น. รวมเวลาที่อยู่ในเรือ ๔ คืน ๕ วัน

ข้าพเจ้าและครอบครัวเดินทางโดยรถตู้ที่คุณนภา จันทรางศุ มีกุศลเจตนาจัดหามาเพื่อการนี้ เราออกเดินทางไปรับท่านอาจารย์และคุณป้าจี๊ดที่บ้านในซอยสุขุมวิท ๗๑ ระหว่างการเดินทางได้แวะพักรับประทานอาหารกลางวันที่ร้านอาหารริมทะเล บรรยากาศร่มรื่นสวยงามแสนสบาย ก่อนจะเดินทางไปสมทบกับคณะฯ ที่ท่าเรือแหลมฉบังในเวลาราวบ่ายโมงเศษ

สำหรับผู้โดยสารท่านอื่นๆ ทางบริษัททัวร์ได้จัดรถบัสรับส่งระหว่างกรุงเทพฯ-ท่าเรือแหลมฉบังไว้บริการที่สวนจุฬา ๑๐๐ ปี โดยนัดให้ทุกท่านไปพบกันเวลา ๘.๐๐ น. และทยอยออกเดินทางจากกรุงเทพฯ สำหรับคันที่เต็มก่อน จนถึงคันสุดท้าย ในเวลา ๑๑.๐๐ น. สำหรับท่านที่มีรถไปเอง สามารถนำรถไปจอดไว้ที่ท่าเรือแหลมฉบังได้เช่นกัน โดยเดินทางไปพบกันที่ท่าเรือ ซึ่งจุดที่ทำการเช็คอินจะเริ่มเปิดให้บริการในเวลา ๑๒.๐๐ น. เป็นต้นไป ท่านที่เดินทางมาถึงก่อนสามารถทำการเช็คอินได้เลย โดยมีพนักงานของทางบริษัททัวร์ผู้จัดคอยอำนวยความสะดวก

เมื่อถึงท่าเรือ ก็ได้พบกับผู้โดยสารและสหายธรรมจำนวนมากที่ทยอยเดินทางมาถึง และเข้าแถวรอการตรวจเอกสารเพื่อเดินผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง (หรือต้องพูดว่าตรวจคนออกจากเมืองจึงจะถูก) ไปขึ้นเรือ (ที่ใช้คำว่า "ขึ้นเรือ" ไม่ใช่ "ลงเรือ" เพราะเรือลำนี้มีขนาดใหญ่มหึมา กว้าง ๓๕ เมตร ยาว ๒๗๒ เมตร สูงถึง ๑๓ ชั้น จุผู้โดยสารได้ถึง ๒,๗๐๐ คน และต้องเดินขึ้น ไม่ใช่ก้าวเท้าลงเรือ ฮาาาา)

หลังผ่านพิธีการตรวจคน (ออกจากเมือง) แล้ว ท่านอาจารย์และคณะฯ ก็ทยอยเดินขึ้นเรือ ซึ่งนอกจากเรือจะมีความสูงถึง ๑๓ ชั้นแล้ว ยังมีความกว้างขวางใหญ่โตมาก อีกทั้งมีผู้โดยสารในเรือถึงสองพันกว่าคน สหายธรรมที่มาด้วยกัน จึงยากที่จะได้พบปะเจอะเจอหากมิได้นัดหมายเวลาและสถานที่กันไว้ก่อน ภายในเรือนอกจากจะมีบันไดขึ้นลงไปยังชั้นต่างๆ ในแต่ละจุดแล้ว ยังมีลิฟท์ให้บริการทั้งตอนหน้า ตอนกลาง และตอนท้ายเรือ ด้วยความสะดวกสบายอย่างยิ่ง

สหายธรรมส่วนใหญ่จะได้เจอกันก็เพียงในวันเวลาที่สนทนาธรรม หรือเมื่อออกไปท่องเที่ยวตามเมืองต่างๆ ที่เรือจอดแวะ หรือในห้องอาหาร และแม้กระนั้น ห้องอาหารก็ยังมีให้เลือกหลายแห่ง มีทั้งห้องอาหารที่เป็นแบบบุฟเฟต์ที่ชั้น ๙ และ ชั้น ๑๐ บริเวณท้ายเรือ หรือห้องอาหารที่เป็นแบบต้องจองที่นั่งก่อน บริเวณชั้น ๓ และ ๔ ท้ายเรือ และ อีกห้องหนึ่งบริเวณ ชั้น ๓ และ ๔ กลางลำเรือ บางท่านที่ไปด้วยกันคราวนี้ จึงอาจไม่ได้พบเจอกันเลยก็เป็นได้ครับ

เราทราบมาก่อนล่วงหน้าจากบริษัททัวร์ว่า ในคืนวันแรกของการเดินทางนี้ หลังจากรับประทานอาหารค่ำแล้ว ทางเรือ Costa Fortuna ได้จัดงานฮาโลวีน [Halloween Night Party] ขึ้นที่บริเวณดาดฟ้า ริมสระน้ำด้านท้ายของเรือ คุณแอ๊ว (นภา จันทรางศุ) และสาวๆ ของข้าพเจ้าจึงนัดแนะกับน้องพอร์ชและน้องสกาย หลานย่าที่น่ารักทั้งสองคนของคุณเอ๋ (สุภัทรา ใจชาญสุขกิจ) เพื่อไปร่วมสนุกด้วยกันหลังเสร็จภารกิจพาท่านอาจารย์และคุณป้าจี๊ดเข้าห้องพักเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำหรับห้องพักบนเรือสำราญลำนี้ เท่าที่ทราบมี ๔ แบบ คือ แบบที่อยู่ตอนกลางของลำเรือ (ไม่มีหน้าต่าง) แบบที่อยู่ด้านข้างลำเรือ (มีหน้าต่างกลมๆ แต่ไม่มีระเบียง) แบบมีระเบียง (ซึ่งเป็นห้องแบบที่ข้าพเจ้าและครอบครัวพัก) และ ห้องสวีท (แบบที่ท่านอาจารย์พัก) ภายในห้องมีเครื่องอำนวยความสะดวกครบครัน เหมือนที่กล่าวกันว่าโรงแรมลอยน้ำนั่นเองครับ เนื่องจากเรือมีขนาดใหญ่มาก เมื่ออยู่ในเรือ จึงไม่รู้สึกเลยว่าเรือกำลังจอดอยู่หรือกำลังแล่นฉิวอยู่ในทะเลกันแน่

ท่านอาจารย์เคยกล่าวว่า อยู่ที่ไหนก็เหมือนกัน (เพราะมีเพียงเห็น ได้ยิน ฯลฯ) ที่ต่างกันก็เพียงแค่คิด ว่าเรากำลังอยู่ที่บ้าน หรือว่ากำลังอยู่ในเรือลำใหญ่โตมโหฬาร หรือเราคิดว่าขณะนี้เรือกำลังอยู่ที่ท่าเรือแหลมฉบัง พรุ่งนี้จะถึงเมืองสีหนุวิลล์ กัมพูชา ความจริงแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงว่า ทั้งหมดทั้งปวงก็แค่ "คิด" เท่านั้นเอง (จิตที่คิดมีจริงๆ สิ่งที่คิดไม่มีจริง) สิ่งที่มีจริงๆ มีเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนั้นเท่านั้น ไม่ใช่เรือ ไม่ใช่ห้องพักสวยงาม ไม่ใช่โรงแรมลอยน้ำแต่ประการใด หากไม่ฟังความจริงจากการทรงตรัสรู้ จะมีอะไรเป็นที่พึ่งให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีอยู่จริงๆ ในทุกๆ ขณะนี้ได้ ว่าทุกขณะ มีเพียงจิตและเจตสิกเท่านั้น ที่กำลังเกิดขึ้นเป็นไป ในขณะนี้ หาได้มีตัวตน สัตว์ บุคคลใดเลยไม่

เรือออกเดินทางจากท่าเรือแหลมฉบังในเวลา ๑๗.๐๐ น. หลังเข้าห้องพักทำภารกิจส่วนตัว พักผ่อนชมวิวบริเวณท้องทะเลท่าเรือแหลมฉบังที่ระเบียงหลังห้องแล้ว จึงออกไปรับประทานอาหารค่ำ ณ ห้องอาหารท้ายเรือ เราได้โต๊ะริมหน้าต่างด้านที่สามารถมองเห็นบรรยากาศพระอาทิตย์กำลังจะลับขอบฟ้าพอดี แสงของพระอาทิตย์ยามอัสดงเปลี่ยนน้ำทะเลสีฟ้าให้มีสีดังทอง แสงของดวงอาทิตย์ที่สาดส่องผิวน้ำทะเลมองเห็นเป็นประกายระยิบระยับ สวยสดงดงามยิ่ง เป็นเวลาที่รื่นรมย์มากสำหรับทุกคนครับ

หลังรับประทานอาหารค่ำเสร็จ เป็นเวลาสนุกสนานตื่นเต้นของทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ที่ต่างพากันแต่งหน้าแต่งตัวกันสนุกสนาน เพื่อมาร่วมงานปาร์ตี้ฮาโลวีน [Halloween Night Party] ซึ่งจัดขึ้นบริเวณชั้นดาดฟ้า ริมสระน้ำด้านท้ายของลำเรือ คุณนภาผู้ที่สะสมความละเอียดรอบคอบมา ไม่ลืมที่จะจัดเตรียมอุปกรณ์การแต่งตัวน่ารักๆ (หรือน่ากลัว?) มาให้เด็กน้อย (และเด็กเหลือน้อย) ได้พากันสนุกสนานด้วย สหายธรรมหลายท่านก็พากันแต่งกายมาร่วมวงปาร์ตี้กันอย่างครึกครื้นยิ่ง ตอนเช้าที่พวกเราพบกับท่านอาจารย์ที่ห้องพัก ท่านเมตตาเล่าให้ฟังอย่างติดตลกว่า เมื่อคืนเจอผีมาหาที่ห้อง มีผีสุรภา ผีน้ำฝน ผีหมอเหน่ง ฯลฯ

หลังจากสนุกสนานกันตามสมควรแล้วก็แยกย้ายกันกลับห้องพัก อาบน้ำเข้านอน เรือเดินทางถึงเมืองสีหนุวิลล์ ในเวลาเช้าตรู่ ตามรายการที่แจ้ง หลังรับประทานอาหารเช้าเสร็จ สำหรับผู้ที่ประสงค์จะเดินทางไปเที่ยวในเมืองสีหนุวิลล์ ทางเรือมีเรือเล็กบริการรับส่งขึ้นลงจากเรือเพื่อเดินทางท่องเที่ยวตามโปรแกรมทัวร์ซึ่งได้ติดต่อจองไว้ล่วงหน้าแล้ว ส่วนผู้โดยสารที่ไม่ไปเที่ยว ก็สามารถพักผ่อนอยู่บนเรือได้ตามความสมัครใจ

ห้องอาหารเช้าถูกจัดเตรียมไว้อย่างหรูหราอลังการ มีอาหารนานาชนิดไว้ให้บริการแก่ผู้โดยสารอย่างมากมายพอเพียง คุณเอ๋และหลานๆ มาหาที่ห้องตามที่ได้นัดกันไว้ว่าจะไปจองโต๊ะอาหารไว้ก่อนล่วงหน้า ส่วนคุณแอ๊ว (นภา) รับหน้าที่ไปรอรับท่านอาจารย์และคุณป้าจี๊ดมารับประทานอาหารเช้าที่โต๊ะซึ่งเรา (จอง) เตรียมไว้แล้ว เมื่อท่านอาจารย์เดินทางมาถึง ท่านดูสดชื่นแจ่มใสมากครับ คุณป้าจี๊ดก็เช่นกัน เมื่อได้เห็นภาพอีกครั้ง รู้สึกปลื้มปีติที่เห็นท่านสดใส และมีเมตตามาก

[เล่มที่ 39] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่มที่ ๓๙ - หน้าที่ ๓๒๘

กรณียเมตตสูตร

(ว่าด้วยการเจริญเมตตาในสัตว์ทั้งปวง)

[๑๐] กิจนั้นใด อันพระอริยะบรรลุบทอันสงบ ทำแล้ว กิจนั้นอันกุลบุตรผู้ฉลาดพึงทำ กุลบุตรนั้น พึงเป็นผู้อาจหาญ ตรงและตรงด้วยดี พึงเป็นผู้ว่าง่าย อ่อนโยน ไม่มีอติมานะ พึงเป็นผู้สันโดษ เลี้ยงง่าย เป็นผู้มีกิจน้อย ประพฤติเบากายและจิต พึงเป็นผู้มีอินทรีย์สงบ มีปัญญารักษาตัว เป็นผู้ไม่คะนอง ไม่ติดในตระกูลทั้งหลาย วิญญูชนติเตียนชนทั้งหลายอื่นได้ด้วยกรรมลามกอันใด ก็ไม่พึงประพฤติกรรมอันลามกนั้น พึงเจริญเมตตาไปในหมู่สัตว์ว่า ขอสัตว์ทั้งปวง จงเป็นผู้มีสุข มีความเกษม มีตนถึงความสุขเถิด สัตว์มีชีวิตทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอยู่ ยังเป็นผู้สะดุ้ง [มีตัณหา] หรือเป็นผู้มั่นคง [ไม่มีตัณหา] ทั้งหมดไม่เหลือเลย เหล่าใดยาวหรือใหญ่ ปานกลางหรือสั้น ผอมหรืออ้วน เหล่าใดที่เราเห็นแล้ว หรือมิได้เห็น เหล่าใดอยู่ในที่ไกล หรือไม่ไกล ที่เกิดแล้ว หรือที่แสวงหาภพเกิด ขอสัตว์ทั้งปวงเหล่านั้น จงเป็นผู้มีตนถึงความสุขเถิด สัตว์อื่นไม่พึงข่มเหงสัตว์อื่น ไม่พึงดูหมิ่นอะไรๆ เขาไม่ว่าในที่ไรๆ เลย ไม่พึงปรารถนาทุกข์แก่กันและกัน เพราะความกริ้วโกรธ และเพราะความคุมแค้น.

มารดาถนอมบุตรคนเดียวผู้เกิดในตนด้วยชีวิตฉันใด พึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณในสัตว์ทั้งปวงแม้ฉันนั้น พึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณในโลกทั้งปวง ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง เป็นธรรมอันไม่คับแค้น ไม่มีเวร ไม่มีศัตรู.

ผู้เจริญเมตตานั้น ยืนก็ดี เดินก็ดี นั่งก็ดี นอนก็ดี เป็นผู้ปราศจากความง่วงนอน [คือไม่ง่วงนอน]เพียงใด ก็พึงตั้งสตินั้นไว้เพียงนั้น. ปราชญ์ทั้งหลายเรียกการอยู่นี้ว่า พรหมวิหาร ในพระศาสนานี้ ผู้มีเมตตา ไม่เข้าถึงทิฏฐิ [สักกายทิฏฐิ] เป็นผู้มีศีล ถึงพร้อมด้วยทัสสนะ [สัมมาทิฏฐิในโสดาปัตติมรรค] นำความหมกมุ่นในกามทั้งหลายออกไปได้ ก็ย่อมไม่เข้าถึงการนอนในครรภ์อีก โดยแท้แล.

จบกรณียเมตตสูตร.

สำหรับสหายธรรมและผู้สนใจใฝ่ธรรมที่ไม่เดินทางไปเที่ยวในเมืองสีหนุวิลล์ ก็เดินทางมาพร้อมกันที่ห้องประชุมชั้น ๕ บริเวณส่วนกลางของเรือ ซึ่งทางบริษัททัวร์ได้ทำการติดต่อห้องประชุมไว้ให้เพื่อร่วมกันสนทนาธรรม โดยมีท่านอาจารย์และคณะวิทยากรร่วมสนทนา มีความการสนทนาบางตอนที่จะขอนำมาบันทึกไว้ สำหรับทุกท่านพิจารณาเพื่อประโยชน์ในวาระนี้ ซึ่งจะได้นำภาพที่ได้บันทึกไว้ในทริปนี้ มาแทรกเพื่อบันทึกเหตุการณ์ไว้ด้วย พร้อมกัน ดังนี้

คุณชนันต์ กราบท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง และกราบท่านอาจารย์วิทยากรทุกท่าน กระผมรู้สึกระลึกถึงคำหนึ่งที่กล่าวว่า ติดข้องในสิ่งที่ไม่มีครับท่านอาจารย์ครับ และมีความเข้าใจยังไม่ละเอียดลึกซึ้งมากนัก ขอความกรุณาท่านอาจารย์ได้โปรดเกื้อกูลด้วยครับผม

ท่านอาจารย์ คงไม่ลืมว่า "ฟังไว้" และพิจารณาในขณะที่ฟัง ว่าจริงไหม? ด้วย เพราะเหตุว่า ถ้ายังไม่เข้าใจจริงๆ ตั้งแต่ต้น "คำนี้" จะไม่ "อยู่ในใจ" แต่ถ้าฟังแล้วรู้ว่าจริง เราจะไม่เปลี่ยน เพราะอะไรก็ตามที่เราไตร่ตรองแล้ว เข้าใจแล้ว ว่า "จริง" หมายความว่า เราไม่ได้เชื่อใคร แต่ขณะนั้น เพราะ "คิด" เพราะ "ไตร่ตรอง" และ "เริ่มเข้าใจ" ว่า เราไม่สามารถที่จะ "รู้เอง" ได้ แม้แต่คำที่ว่า "ไม่มี" ใช่ไหม? แต่ "ลองคิด" ดูว่า ก่อนมีนั้น ไม่มีหรือเปล่า? ใช่ไหม? ก่อนมีก็ต้องไม่มี แล้วจึงมี อย่าง "เสียง" เมื่อกี้นี้ก็ไม่มี "ได้ยิน" เมื่อกี้นี้ก็ไม่มี แล้วก็มี "เสียง" แล้วก็มี "ได้ยิน"

เพราะฉะนั้น ต้องพิจารณาทุกคำ ไม่ใช่เพื่ออะไรเลย "เพื่อเข้าใจความจริง" เพราะว่าเราไม่เคยคิดถึงความจริงเลย ตั้งเกิดจนตาย เพราะไม่มีใครบอก แล้วเราจะคิดเองได้อย่างไร? เพราะ "แต่ละขณะ...จริง" ที่ คนอื่นไม่สามารถจะรู้ได้ ถ้าไม่ได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พอฟังแล้ว ไม่ใช่ว่าเราต้องไปทำอะไร อย่างเราคิดว่า เราต้องทำอย่างนั้น อย่างนี้ ไม่ใช่!! ให้รู้ว่า "ไม่มีเรา" แต่มี "สิ่งที่เกิดขึ้น" แล้วก็ "ทำหน้าที่กิจการงานของสิ่งนั้น" เช่น "เห็น" เดี๋ยวนี้ ใช่ไหม? ต้องเกิด ถ้าไม่เกิดก็ไม่มี

"ทุกคำ" ต้อง "พิจารณาให้เข้าใจ" เพราะว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสว่า ไม่มีอะไรเลยทั้งสิ้น ถ้าไม่มีอะไรเลยทั้งสิ้น แล้วนี่อะไร? ที่กำลังปรากฏ!! แต่ก่อนนั้นไม่มี เพราะฉะนั้น ความจริงก็คือว่า ไม่มี แล้วมี แล้วหามีไม่ แต่ละคำ เป็นคำจริง ซึ่งคนฟังเผินๆ ก็ไม่ไตร่ตรอง ฟังเผินๆ ก็..พอแล้ว แล้วก็เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แต่ถ้าไม่เผิน ก็รู้ว่า จริงๆ แล้ว มีอะไรหรือเปล่าที่ควรติดข้อง เพราะเหตุว่า แท้ที่จริง จากไม่มีเลยให้ติดข้อง แล้วก็เกิดมี ปรากฏให้ติดข้อง แล้วสิ่งที่ถูกติดข้องก็หมดไป ก็ไม่เหลืออะไรเลย ก็เป็นอย่างนี้ ชาติก่อนอยู่ไหน? เดี๋ยวนี้ "ทุกขณะ" อยู่ไหน?

เพราะฉะนั้น การฟัง "เพื่อเข้าใจ" เพราะเหตุว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ให้เราไปทำอะไร ให้รู้ความจริงว่า ไม่มีเรา แต่มีสิ่งซึ่งเกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัย แล้วดับไป แล้วไม่กลับมาอีกเลย สักอย่างเดียว

ถ้าประจักษ์แจ้ง สภาพธรรมะ ที่ไม่มี แล้วก็เกิด แล้วก็ดับ เมื่อนั้นจึงสามารถที่จะ มั่นคงขึ้น ว่า ไม่ใช่เราเลย แต่ถ้าตราบใดเป็นการฟัง ก็ต้อง "เริ่มตั้งแต่ ความเข้าใจถูก มั่นคง ทีละเล็ก ทีละน้อย" ว่าเป็นอย่างนี้ทุกชาติ เราเกิดมาชาตินี้ แต่ว่าเป็นชาตินี้ตลอดไปไม่ได้ เป็นคนนี้ตลอดไปไม่ได้ ก็ต้องเปลี่ยนไปเป็นคนอื่น ต้องเกิดอีกแน่ๆ แต่ไม่ใช่คนนี้

เพราะฉะนั้น "ฟังเพื่อเข้าใจ" และขณะนี้ "ความเข้าใจ" ที่เกิดขึ้น "เริ่มสะสม" ที่จะเห็นถูกต้อง จนกว่าจะประจักษ์ความจริง ซึ่งไม่มีใครไปทำอะไรได้เลย แต่การสะสมของความเห็นถูก จะค่อยๆ ลดละความติดข้องเพราะไม่รู้ น้อยมาก เป็นต้นว่า ได้ฟังมากี่ครั้ง? เดี๋ยวนี้ก็กำลังฟัง แต่ยังไม่พอ ที่สามารถที่จะรู้ความจริงได้

แต่ผู้ที่บำเพ็ญบารมี จากฝั่งของความไม่รู้ กว่าจะไปถึงฝั่งที่ค่อยๆ รู้ และค่อยๆ เข้าใจ จนกระทั่งประจักษ์แจ้งได้ ไม่มีใครไปทำอะไรได้เลย เพราะเหตุว่า ใครจะทำให้ธรรมะเกิดได้? ไม่มีสักอย่างเดียว แล้วจะไปคิดว่าเราจะไปทำให้เกิดปัญญาได้อย่างไร

มีแต่คำของผู้ที่ได้ทรงตรัสรู้ และทรงแสดงไว้แล้ว ๔๕ พรรษา ๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว จะดำรงอยู่ได้ ต่อเมื่อ "มีผู้ที่เข้าใจ" ถ้าไม่มีใครเข้าใจเลย หรือเข้าใจผิด ก็ไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คำสอนอื่น ไม่มีทางที่จะละความไม่รู้ ซึ่งกำลังปิดกั้นสิ่งที่ปรากฏ ไม่ให้รู้ว่านี่เกิด แล้วก็ดับด้วย แล้วก็เกิดดับสืบต่อ เร็วสุดที่จะประมาณได้ ไม่เห็นการเกิดดับเลย

เพราะฉะนั้น การฟัง ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่นเลย "เข้าใจ" แล้วก็ "เป็นปกติ" จะไปเปลี่ยนทำไม? ใช่ไหม? ทุกอย่างเกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัย จะไปนั่งทำโน่น ทำนี่ ทำไม? ในเมื่อเดี่๋ยวนี้ก็เกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย ที่สำคัญที่สุดก็คือว่า จะได้ฟัง มากหรือน้อย ก็ตาม แต่ "ประโยชน์ของการฟัง" ไม่ว่าเรื่องอะไร "เพื่อเข้าใจ" ไม่ใช่อย่างอื่นเลย ไม่ว่าจะเป็นวิชาการใดๆ ทั้งสิ้น ใครก็ตามที่ฟังแล้วไม่เข้าใจ ก็ไม่ได้ประโยชน์ ประโยชน์คือ "เข้าใจ" แม้เพียงเล็กน้อย แล้วความเข้าใจจะเพิ่มขึ้น เมื่อเห็นประโยชน์

แต่ถ้าเราไม่เห็นประโยชน์ ตายพรุ่งนี้ เย็นนี้ก็ได้ แล้วก็ไม่รู้อะไรเหมือนเดิม แล้วก็เกิดอีก เป็นอะไรก็ไม่รู้ เพราะไม่สามารถจะรู้ได้ ว่าที่มาเกิดเป็นเราคนนี้ ชาตินี้ มาจากไหน พอไปเกิดอีก เป็นอะไรก็ตามแต่ เราก็ไม่รู้ว่า มาจากชาตินี้ กำลังนั่งฟังอย่างนี้ แต่ว่าต่อไป จะเป็นอะไรก็ไม่รู้!! แต่เป็นแน่ เพราะชาตินี้ยังเป็น แล้วชาติต่อไปจะไม่เป็นได้อย่างไร

ก็เป็น "การฟังปกติ" เพื่อเข้าใจ "ความเป็นปกติ" ค่อยๆ เข้าใจขึ้นเรื่อยๆ แต่มั่นคงขึ้น และ "มั่นคง" นี่ ต้องถามใครไหม? ไม่มีทางเลยที่ความเข้าใจของเราแล้วคนอื่นจะมารู้ได้ ตัวเองยังไม่รู้เลยว่ามั่นคงแค่ไหน? ใช่ไหม? เพราะอะไร เห็นทุกวัน ได้ยินทุกวัน และเห็นก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทุกวัน เพราะฉะนั้น ตัวเองจะมั่นคงแค่ไหน ใครจะรู้ได้? เพราะเหตุว่า ความมั่นคงยิ่งละเอียด ยิ่งลึกซึ้งขึ้น "ต้องเป็นปรกติ"

เพราะฉะนั้น มั่นคง ขณะที่ฟังธรรมะ เพราะไม่ได้ไปฟังอย่างอื่น แค่นั้น ฟังจบแล้ว ก็เป็นอย่างอื่น มั่นคงไหม? "มั่นคง" ก็คือว่า มั่นคงในความเข้าใจว่า "ไม่ใช่เรา" นี่สำคัญที่สุด!!! ธรรมะ ถ้าฟังเผิน เป็นเราแล้ว!! อ่านพระไตรปิฎกก็ พระพุทธเจ้าให้ทำอย่างนั้น ให้ทำอย่างนี้ ไม่ได้เข้าใจเลย ใครให้ใครทำ (อะไร) ไม่ได้!! แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งเดียวที่พระมหากรุณาและพระปัญญา จะให้คนอื่นได้ ก็คือว่า "คำ" ที่ให้คนอื่นไตร่ตรอง จนกระทั่งเป็นความเข้าใจของเขา ถ้าเป็นความเข้าใจของเขา แล้วใครจะเอาไปได้ไหม? และถ้าไม่ใช่ความเข้าใจ (ของเขาเอง) คนอื่นจะเอามาให้ได้ไหม? ก็ไม่ได้

มีหนทางเดียวเท่านั้น คือ สาวก คือ ผู้ฟัง และผู้ฟังนี้ ต้องเป็นผู้ที่เคารพ ใน "แต่ละคำ" ที่จะ "ไม่คิดเอง" "ไม่เผิน" และรู้ด้วยว่า "ยากจริงๆ " ซึ่งสภาพธรรมะเกิดดับ เป็นปกติ แล้วจะให้ "ความเข้าใจ ค่อยๆ เข้าใจ สิ่งที่กำลังมี ตามปกติ อย่างนี้แหละ" เพราะฉะนั้น ฟังแล้ว ก็ "เข้าใจขั้นฟัง" ที่ใช้คำว่าปริยัติ ต้องหมายความว่า รอบรู้ในคำนั้น ที่จะไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น ขณะนี้ มีธรรมะ ที่เกิด ปรากฏ แล้วก็ดับไป ไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น ไม่ต้องไปทำอะไรเลย แต่ "ค่อยๆ มีความเข้าใจที่เกิดขึ้น" ตามการสะสม

เราไม่สามารถที่จะรู้เลยว่า เมื่อไหร่เราจะคิด แม้ "เพียงคิด" ว่า "นี่ไม่ใช่เรา" แต่อาศัยการฟัง มีแข็ง กำลังมีแข็งด้วย แต่ "ความเข้าใจ" อยู่ไหน? ไม่ใช่เอาความเข้าใจขั้นฟัง ไปรู้ ไปเข้าใจความเป็นสภาพธรรมะที่เพียงแข็ง แต่เวลาฟังบ่อยๆ ฟังมากๆ ถึงเวลาที่จะ "รู้ตรงนั้น" "เพียงแข็ง" แต่ก็ยัง "มีอื่น" อีกเยอะมาก แล้วก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามเหตุตามปัจจัย แม้แต่จะคิด ยังไม่รู้เลยว่าจะคิดเมื่อไหร่ คิดก็ไม่รู้ว่าจะคิดอะไร "คิด" แล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะคิดอีกมากไหม หรือว่าคิดสั้นๆ คิดนิดหน่อย แล้วก็เป็น "ได้ยิน" เป็นอะไรๆ สารพัดอย่าง ซึ่งเกิดดับขณะนี้ เร็ว อะไรก็ตามที่เกิดแล้ว ดับแล้วไม่รู้ ก็หมดไป แล้วจะต้องไปคิดทำไมในสิ่งที่หมดแล้ว ก็มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

เพราะฉะนั้น ไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว และสิ่งที่ยังไม่มาถึง ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ จะไปสำนักปฏิบัติทำไม? สิ่งที่ยังไม่มาถึง แล้วไปคิดถึงสิ่งที่ยังไม่มาถึง แค่นี้ก็ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เข้าใจ จึงไม่ใช่ผู้รอบรู้ ถ้าปริยัติ คือรอบรู้ในคำที่ได้ฟัง ซึ่งไม่ใช่เรา (ที่รอบรู้) แต่เป็นธรรมะแต่ละหนึ่ง ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะให้เป็นอย่างอื่นได้ เมื่อเกิดแล้วก็ต้องเป็นอย่างนั้น ไม่เปลี่ยน (ไปเป็นอย่างอื่น เพราะเกิดแล้ว)

อ.ธิดารัตน์ กราบท่านอาจารย์ค่ะ เมื่อกี้ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงว่า ความมั่นคง แต่ละเอียดมาก ละเอียดอย่างไรคะ
ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ ใครมั่นคงที่จะรู้ว่า "เห็น ไม่ใช่เรา"
อ.ธิดารัตน์ ก็ต้องสภาพธรรมะปรากฏ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็รู้ใช่ไหม ว่ามั่นคงแค่ไหน ถามใครก็ไม่ได้
อ.ธิดารัตน์ หมายถึงว่า ความมั่นคง ต้องเป็นปัญญาที่เข้าใจขึ้น อย่างนั้นใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีปัญญาเลย จะเอาอะไรมาเป็นความมั่นคง

อ.ธิดารัตน์ เพราะฉะนั้น ความมั่นคงก็หมายถึงปัญญาที่เจริญขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่ขั้นปริยัติ การรอบบรู้ การเข้าใจลักษณะสภาพธรรมะ ถึงแม้เข้าใจนิดหนึ่งก็มั่นคงนิดหนึ่ง แต่ถ้ายังไม่รู้ก็ยังไม่มั่นคงอย่างนี้หรือคะ
ท่านอาจารย์ ถ้าใช้คำว่า รู้นิดหนึ่ง มั่นคงนิดหนึ่ง ความมั่นคงนี่ จะสักเท่าไหร่คะ? เท่าจักรวาล
อ.ธิดารัตน์ ก็ต้องสะสมเพิ่มขึ้น
ท่านอาจารย์ ค่ะ เพียงแต่ว่า มีโอกาสได้ฟัง ฟัง มั่นคงแค่ไหน? มั่นคงแค่...ฟัง...เห็นไหม? ตามความเป็นจริงเลย และฟังแล้ว "แล้ว" นะ มั่นคงอีกไหม?
อ.ธิดารัตน์ ก็ต้องฟังอีกค่ะ
ท่านอาจารย์ เห็นไหม วันหนึ่งๆ เราไม่ได้มีแต่การฟังธรรมะ อย่างอื่นเราก็มี แต่ถึงอย่างอื่นมี เราก็ฟังธรรมะอีก เพราะฉะนั้น ก็ "มั่นคงตรงฟัง" นั่นแหละ!!

อนึ่ง ช่วงบ่ายของวันที่ ๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ ท่านอาจารย์เมตตาสนทนาธรรมเป็นการส่วนตัวกับคุณณภัทรและเพื่อนกลุ่มเล็กๆ ภายในห้องพักบนเรือที่ลอยลำอยู่ ณ เกาะฟู้โกว๊ก ประเทศเวียดนาม มีข้อความที่ไพเราะอย่างยิ่ง ควรที่จะนำข้อความบางตอนมาบันทึกไว้ด้วย สำหรับท่านที่สนใจ สามารถคลิกฟังความทั้งหมดได้ ในยูทูปที่แนบไว้ตอนท้ายของกระทู้นี้ นะครับ

คุณณภัทร มีความเข้าใจผิดในเรื่องของการไปปฏิบัติธรรม เพราะคิดว่าศาสนาพุทธคือต้องปฏิบัติธรรม แต่ว่าละเลยการศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เข้าใจก่อน แล้วปัญญาก็ต้องเป็นไปตามลำดับ เพราะฉะนั้น คนที่ไม่ได้ฟัง จะไม่ได้เข้าใจเลยว่า ปัญญาต้องเป็นไปตามลำดับ
ท่านอาจารย์ ยังไม่รู้ด้วยซ้ำ ว่า ปัญญารู้อะไร?

คุณณภัทร ก็เป็นเรื่องที่ต้องศึกษา อย่างที่ท่านอาจารย์บอกว่า ถ้าไม่ศึกษา ก็ไม่มีโอกาสที่จะได้เข้าใจหรือรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลยครับท่านอาจารย์ พี่ชูชีพฟังแล้ว เบื้องต้นนี้มีความเห็นว่าการที่เราจะเข้าใจ เราก็ต้องศึกษา ใช่ไหมครับ ก็ต้องฟัง เพราะถ้าไม่ฟัง จะเข้าใจได้อย่างไร ท่านอาจารย์มีอะไรเพิ่มเติมไหมครับ

ท่านอาจารย์ ค่ะ ก็หมายความว่า เวลาที่เราไม่รู้พระพุทธศาสนาเลยนี่ เราควรจะรู้ไหม? คนส่วนใหญ่ไม่คิดข้อนี้เลย ว่าควรรู้
คุณณภัทร กราบท่านอาจารย์ครับ บางคนคิดว่า เป็นคนดีก็พอแล้ว ไม่เบียดเบียนคนอื่น ใช้ชีวิตประจำวัน เราทำดี เราไม่เบียดเบียนใคร พอแล้ว คนคิดกันอย่างนี้มีเยอะครับ ท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เมืองนี้ไม่ใช่เมืองที่คนสนใจพระพุทธศาสนา ใช่ไหม? สนุกสนานกันไปวันๆ ทำอะไรกันไปวันๆ ไม่ได้สนใจพระพุทธศาสนาเลย นอกจากคนที่สะสมมาแล้ว พอได้ยินเท่านั้นแหละ เขาสนใจ...เองด้วย...ใช่ไหม? อย่างบางคนที่เปิดเวปไซต์บ้าง ยูทูปบ้าง วิทยุบ้าง สนใจมาที่มูลนิธิฯ เอง โดยไม่มีใครชักจูงเลย

คุณณภัทร เพราะฉะนั้น คนที่มาฟัง ได้มีโอกาสมาฟังท่านอาจารย์ ก็มาจากหลากหลายสาเหตุ เพราะถ้าจะให้แต่ละคนพูดว่า มีโอกาสมาฟังท่านอาจารย์ด้วยเหตุอะไร ผมว่าเหตุผลแต่ละคนคงไม่เหมือนกัน

ท่านอาจารย์ แต่ทีนี้ ปัญหาสิคะ เวลานี้ประเทศเรามีปัญหา เพราะว่าทุกคนไม่เข้าใจพระพุทธศาสนา แต่คิดว่าตัวเองนับถือพระพุทธศาสนา ก็ทำทุกอย่างโดยที่ไม่สนใจเลย ใครว่าพุทธศาสนาก็พุทธศาสนา ทอดกฐิน แล้วก็ให้เงินพระใส่บาตร (คิดว่า) ไม่ให้เงินแล้วพระจะอยู่ได้อย่างไร ทั้งหมดเขาไม่ได้รู้เลยว่า ความไม่รู้ตัวเดียวทำลายทุกอย่างหมด ทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำลายประเทศชาติ และเขาไม่สามารถจะก้าวหน้าไปสู่ความดียิ่งกว่านี้ได้

แค่เป็นคนดี พอหรือ? เขาไม่รู้สาเหตุเลยว่า ทำไมถึงได้เป็นคนดี และไม่ได้ดีตลอดวัน ตอนที่ไม่ดี เป็นอะไร? ใช่ไหม? แล้วจะดีกว่านั้นได้ไหม? ก็ไม่รู้สักอย่าง!! คือ เป็นคนที่ไม่คิด ไม่ไตร่ตรอง แต่ว่าถ้าเราสามารถที่จะสะสมมา ที่รู้ว่ามีผู้ที่ตรัสรู้ แค่นี้ อยากฟังคำของคนที่ตรัสรู้ไหม ว่าต้องไม่เหมือนใครแน่นอน!!! ก็คนอื่นไม่ได้ตรัสรู้ และท่านผู้นี้ตรัสรู้ ดูสิว่าคำของท่านเป็นคำที่ไม่เหมือนใครอย่างไรบ้าง ถ้าไม่ฟังไม่ศึกษาโดยละเอียด ไม่เข้าใจ "คิดเอง" ก็ผิดเลย!!

เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น ประมาทไม่ได้ แค่ได้ยินได้ฟังใครพูดเรื่องพระพุทธศาสนา ซักถามให้ถึงที่สุด เพื่อเราจะได้ไม่ผิด ไม่คลาดเคลื่อน ไม่อย่างนั้นก็เหมือนเดิม คือเชื่อตามๆ กัน ผิดถูกตามเรื่อง เพราะฉะนั้น ต้องศึกษา ถ้าเราศึกษาเข้าใจจริงๆ เรารู้เลย ใครพูดผิด ใครพูดถูก หลอกไม่ได้!! ตอนนี้ปัญหาใหญ่ก็คือ พระไม่ใช่พระ พูดได้เลย เต็มคำ สงสัยไหม? พระไม่ใช่พระ!!

คุณชูชีพ ก็พอเข้าใจครับ
ท่านอาจารย์ แล้วไหว้ไหม?
คุณชูชีพ ยังมีครับ (ทุกคนหัวเราะกันครืน)
คุณณภัทร คือ พี่ชูชีพ เมื่อก่อนชอบไปทำบุญกับพระตามต่างจังหวัด พอผมเริ่มให้พี่เขาได้มีความเข้าใจบ้าง เขาก็เริ่มที่จะ.....เดี๋ยวนี้ไม่ให้เงินพระแล้วใช่ไหมครับ?
คุณชูชีพ มีบ้าง (หัวเราะกันอีก)
ท่านอาจารย์ (หัวเราะ) ..ยังไม่สามารถจะเลิกได้ เพราอะไรให้เงินพระ?
คุณชูชีพ ก็เข้าใจว่า น่าจะปฏิบัติตามๆ กันมา

ท่านอาจารย์ แต่...ตามพระวินัย หรืออย่างไรก็ตาม เราก็ต้องรู้ว่า พระนี่ไม่ใช่ชาวบ้าน ใช่ไหม? ต่างกันตรงไหน? แล้วต่างกันมากด้วย เพราะว่าพระ ต้อง (ประพฤติปฏิบัติ) ตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฟังธรรมะ แล้วก็เห็นว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสามารถที่จะขัดเกลากิเลสได้ และ เขาสามารถอย่างนั้นหรือเปล่า? ถ้าไม่สามารถอย่างนั้น อย่าเป็นพระ!!!

เพราะจุดประสงค์คือว่า เราสามารถที่จะฟังธรรมะเพื่อเข้าใจ แล้วก็สามารถที่จะขัดเกลากิเลส รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ โดยไม่บวช แต่คนที่จะบวช ที่จะสละบ้านเรือน สละทรัพย์สมบัติ สละหมดทุกอย่าง!!! กิจการงานของคฤหัสถ์ ทำไม่ได้เลย อุทิศชีวิต ตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือพระองค์สละทุกอย่าง ทุกอย่างที่เป็นไปเพื่อความเข้าใจธรรมะ เพราะว่า ถ้าไม่เข้าใจธรรมะ ก็ละคลายกิเลสไม่ได้ ไม่มีทางเลย!!!

เพราะฉะนั้น ต้องมีความเข้าใจมั่นคงถึงอย่างนั้น จึงบวช ด้วยการที่มั่นคงที่จะฟัง เข้าใจธรรมะ ทั้งชีวิตเพื่อเหตุนั้น แล้วก็ขัดเกลากิเลส ในเพศบรรพชิตด้วย เราถึงได้กราบไหว้ นับถือ เอาเงินไปให้ แต่ความจริงเอาเงินไปให้เพราะเราไม่รู้ ซึ่งความจริง พระใดที่รับเงิน มีหรือที่ท่านจะไม่ยินดีที่จะใช้เงิน และใช้ทำอะไร? อย่างเราชาวบ้านเราใช้ ตาเราเห็นสิ่งที่ชอบเราก็ไปซื้อหามา หูได้ยินเสียงที่ชอบ กลิ่น รส ต่างๆ เป็นชาวบ้านธรรมดา

แต่ "พระจะมีชีวิตอย่างชาวบ้านอีก ไม่ได้เลย" มีเงินไม่ได้ มีรถยนต์ไม่ได้ ทำหน้าที่อย่างชาวบ้านไม่ได้ ไปสอนหนังสือที่โรงเรียนก็ไม่ได้ นั่นชาวบ้าน!! เพราะฉะนั้น เราไม่รู้ ตั้งแต่ระดับ ทุกระดับ ของคนไทย ไม่เลือกเลย พระศาสนานี้ไม่ได้จำกัดว่า เฉพาะ เด็ก ผู้ใหญ่ ชาย หญิง อาชีพนั้น อาชีพนี้ ทุกคนที่สะสมมา สามารถที่จะเข้าใจในเหตุในผล ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น เราถึงได้สนทนา เพื่อที่จะรู้ว่า อะไรถูก อะไรผิด

ท่านอาจารย์ แล้วลองดู พระที่เรารู้จัก เข้าใจอะไรหรือเปล่า?
คุณชูชีพ อ่อ...ครับ
ท่านอาจารย์ เข้าใจอะไรหรือเปล่า? (หัวเราะ)
คุณชูชีพ คือ ก็คงไม่เข้าใจครับ ยังไม่เข้าใจ
ท่านอาจารย์ ไม่เข้าใจ แล้วท่านมีชีวิตทำอะไร?
คุณชูชีพ น่าจะเป็นเหมือนกับว่า ผู้เผยแผ่คำสั่งสอนครับ
ท่านอาจารย์ แล้วท่านเผยแผ่อะไร?
คุณชูชีพ เท่าที่ดู ยังไม่ค่อยมี
ท่านอาจารย์ แล้วหน้าที่ท่านทำอะไร?
คุณชูชีพ ตอนนี้ ส่วนมากก็จะเป็นทางพิธีกรรม (หัวเราะ) เท่าที่ดู พิธีกรรมมากกว่าครับ
ท่านอาจารย์ นั่นสิ นั่นสิคะ เห็นไหม? เพราะฉะนั้น ก็ผิด เพราะว่าพุทธศาสนาไม่ใช่พิธีกรรม คือ ไม่มีอะไรที่จะให้เข้าใจถูกเลย แล้วก็ไม่สนใจที่จะเข้าใจถูกด้วย มีแต่คิดว่า พระต้องใช้เงิน ที่ให้เพราะคิดว่าพระต้องใช้เงิน ใช่ไหม?
คุณชูชีพ ใช่ครับ
ท่านอาจารย์ ก็เลยให้กัน พระก็เลยไม่ได้ศึกษา ไม่ได้ขัดเกลากิเลส ไม่ได้อะไร เพราะมีคนให้เงิน เริ่มเข้าใจ เริ่มเข้าใจ แสดงให้เห็นว่า เรารู้พระวินัยน้อยมาก และเราก็รู้ธรรมะน้อยมาก เพราะเหตุว่า ธรรมะกับพระวินัยต้องสอดคล้องกัน ทุกอย่าง ทั้งหมด เพื่อละ....แต่ถ้าไม่รู้ จะไปละอะไรได้

กราบเท้าท่านอาจารย์และคุณป้าจี๊ด ในเมตตาอันไม่มีประมาณสำหรับทุกๆ คน เพราะบุญแต่ปางก่อนโดยแท้ ที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้พบกับท่าน ชาตินี้ไม่เสียชาติเกิดแล้วครับ

อนึ่ง ทั้งหลายทั้งปวงที่ผ่านไป เป็นเพียง ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่หมดไปแล้ว ดับไปแล้ว ไม่มีวันหวนกลับมาเป็นอย่างนี้อีกได้เลย ในสังสารวัฏฏ์ เหลือแต่เพียงความทรงจำ ที่เมื่อมิได้มีการตรึกนึกถึง ก็หามีไม่ (มีเมื่อคิด) กราบขอบพระคุณและอนุโมทนา คุณนภา จันทรางศุ สำหรับรถตู้แสนสะดวกสบายอย่างยิ่ง พร้อมอาหารมื้อเที่ยงเลิศรส ทั้งขาไปและขากลับ

[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้าที่ ๒๓๔

๔. วัฑฒิสูตร ว่าด้วยความเจริญ ๑๐ ประการ

[๗๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกเมื่อเจริญด้วยความเจริญ ๑๐ ประการ ย่อมเจริญด้วยความเจริญอันประเสริฐ และเป็นผู้ถือเอาสิ่งที่เป็นสาระ สิ่งที่ประเสริฐแห่งกาย ความเจริญ ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ

อริยสาวก...ย่อมเจริญด้วยนาและสวน ๑ ย่อมเจริญด้วยทรัพย์และข้าวเปลือก ๑ ย่อมเจริญด้วยบุตรและภรรยา ๑ ย่อมเจริญด้วยทาส กรรมกรและคนใช้ ๑ ย่อมเจริญด้วยสัตว์ ๔ เท้า ๑ ย่อมเจริญด้วยศรัทธา ๑ ย่อมเจริญด้วยศีล ๑ ย่อมเจริญด้วยสุตะ ๑ ย่อมเจริญด้วยจาคะ ๑ ย่อมเจริญด้วยปัญญา ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวก ก็เมื่อเจริญด้วยความเจริญ ๑๐ ประการนี้ ย่อมเจริญด้วยความเจริญอันประเสริฐ และเป็นผู้ถือเอาสิ่งที่เป็นสาระ สิ่งที่ประเสริฐแห่งกาย. บุคคลใดในโลกนี้ ย่อมเจริญด้วยทรัพย์ ข้าวเปลือก บุตรภรรยา และสัตว์ ๔ เท้า บุคคลนั้นย่อมเป็นผู้มีโชค มียศ เป็นผู้อันญาติมิตรแลพระราชาบูชาแล้ว บุคคลใดในโลกนี้ ย่อมเจริญด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะและปัญญา บุคคลเช่นนั้น เป็นสัปบุรุษ ปัญญาเครื่องพิจารณา ย่อมเจริญด้วยความเจริญทั้งสองประการในปัจจุบัน.

จบวัฑฒิสูตรที่ ๔

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของคุณสุภัทราและพลตำรวจตรี ปรัชญ์ชัย ใจชาญสุขกิจ
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
kullawat
วันที่ 8 ต.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chvj
วันที่ 29 พ.ย. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ