ฉันทะ กับ ศรัทธา

 
พงษ์
วันที่  22 ต.ค. 2562
หมายเลข  31246
อ่าน  1,038

อยากทราบว่า ฉันทะคืออะไร และศรัทธา คืออะไร ความหมายแตกต่างกันหรือไม่ ต้องมีฉันทะตอนไหน เวลาจะทำอะไร หรือ ต้องมีศรัทธา ตอนไหน เวลาเราจะทำอะไร เราจะสร้างฉันทะขึ้นมาเองได้ไหม ศรัทธาก็เช่นเดียวกันสร้างเองได้ไหม มีวิธีสร้างฉันทะ หรือศรัทธา อย่างไรบ้างครับ รบกวนช่วยอธิบายหน่อยครับ ยังงงอยู่ ถ้าเรามีแต่ศรัทธา ในเรื่องหนึ่งๆ ต้องมีฉันทะด้วยทุกครั้งหรือไม่ หรือว่า ฉันทะ ก็อย่างหนึ่ง ศรัทธา ก็อย่างหนึ่ง


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 23 ต.ค. 2562

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ฉันทะ เป็นปกิณณกเจตสิก คือ ฉันทะเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่พอใจ ใคร่ที่จะทำ ซึ่งเป็นไปในทางกุศล อกุศลก็ได้ ซึ่งก็แล้วแต่ว่า จะเกิดร่วมกับจิตประเภทอะไรเป็นสำคัญ ครับ

แต่ก็ควรเข้าใจโดยทั่วไปว่า ฉันทะเจตสิก ก็เป็นสภาพธรรม ที่พอใจ ใคร่ที่จะทำ ที่ยังไม่ได้ติดข้อง ที่เป็นฉันทะเจตสิก แต่เมื่อใดที่เกิดความติดข้อง ขณะนั้นเป็นโลภเจตสิกที่ทำหน้าที่ และก็มีฉันทะเจตสิกเกิดร่วมด้วย ที่พอใจ ใคร่ที่จะทำในขณะนั้นด้วย ที่เกิดร่วมกันได้ ครับ

สัทธา เป็นภาษาบาลี ส่วน ศรัทธา ก็มีความหมายเดียวกับ สัทธา เพราะมาจากคำเดียวกัน คือ สัทธา ครับ ซึ่ง สัทธา หรือ ศรัทธา ในคำสอนทางพระพุทธศาสนานั้น เป็นธรรมฝ่ายดี (โสภณธรรม) ที่เกิดร่วมกับจิตที่ดีงาม คือจิตที่ไม่มีกิเลสเกิดร่วมด้วย ศรัทธาเป็นสภาพธรรมที่ผ่องใส ไม่ขุ่นมัวเป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในการอบรมความสงบของจิต และ การอบรมเจริญปัญญา จะไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิต และ สัทธา หรือ ศรัทธาเป็นสภาพธรรมที่ผ่องใส ศรัทธาเป็นปรมัตถธรรม เป็นเจตสิกฝ่ายดี คือเป็นเจตสิก ที่เกิดร่วมกับโสภณจิตทุกประเภท ศรัทธาจึงเปรียบเหมือนสารส้มหรือแก้วมณีที่ทำให้น้ำใสสะอาดไม่ขุ่นมัว เพราะเหตุว่าเมื่อศรัทธาเจตสิกเกิดขึ้น อกุศลธรรมทั้งหลายซึ่งเปรียบเหมือนกับโคลนตมย่อมจมลง คือเกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้น เมื่อศรัทธาเกิดขึ้นอกุศลธรรมประการต่างๆ จะเกิดร่วมไม่ได้เลย เพราะศรัทธาเป็นธรรมฝ่ายดีจะไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิต

ลักษณะของศรัทธาในพระไตรปิฎกแสดงลักษณะไว้ 2 อย่างคือ

1. มีความเลื่อมใสเป็นลักษณะ

2. มีการข่มนิวรณ์คือข่มกิเลสทำให้จิตผ่องใสเป็นลักษณะ

ดังนั้น ขณะใดที่มีศรัทธาก็มีฉันทะเกิดร่วมได้ เช่น ขณะที่เป็นกุศลจิต แต่ขณะใดที่เกิด อกุศลจิต มีโกรธ เป็นต้น มีฉันทะเจตสิกเกิดกับอกุศลจิตแต่ศรัทธาเจตสิกที่เป็นธรรมฝ่ายดี ไม่ได้เกิดร่วมด้วยในขณะนั้นครับ

ไม่มีใครจะบังคับฉันทะ ศรัทธาให้เกิดขึ้นได้ตามใจชอบเพราะธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ทั้งศรัทธาก็เป็นธรรมที่มีเหตุให้เกิดขึ้น เจริญขึ้นได้ด้วยการฟังพระธรรม การคบสัตบุรุษ เป็นต้น ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 23 ต.ค. 2562

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แสดงให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง และสิ่งที่มีจริงนั้นก็มีจริงในขณะนี้ ไม่เคยขาดธรรมเลย แต่ไม่รู้ จนกว่าจะมีโอกาสได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง แม้แต่ ฉันทะ กับ โลภะ ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ทุกคนตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ มีโลภะ และในขณะที่โลภะเกิด ก็มีเจตสิกธรรมประการต่างๆ เกิดร่วมด้วย ฉันทะ เป็นสภาพธรรมที่พอใจใคร่ที่จะกระทำ เป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิตได้ทุกชาติเลย ขึ้นอยู่กับว่าจะเกิดกับจิตประเภทใด ถ้าเกิดกับจิตที่เป็นกุศล ก็เป็นกุศล ถ้าเกิดกับจิตที่เป็นอกุศลก็เป็นอกุศล ถ้าเกิดกับจิตชาติวิบาก ก็เป็นชาติวิบาก ถ้าเกิดกับจิตชาติกิริยา ก็เป็นกิริยา ในขณะที่มีการเจริญกุศลประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ให้ทาน บ้าง รักษาศีลบ้าง ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมบ้าง อย่างนี้ มีฉันทะที่เป็นไปในทางที่เป็นกุศล เป็นผู้ไม่ทอดทิ้งฉันทะในการเจริญกุศล แต่ถ้าอกุศลเกิด ที่เป็นประเภทที่มีโลภะเกิดร่วมด้วย กับ ประเภทที่มีโทสะเกิดร่วมด้วย ก็จะต้องมีฉันทะเกิดร่วมด้วย ฉันทะในลักษณะอย่างนี้ เป็นอกุศลฉันทะ ไม่ใช่กุศล เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

ข้อควมบางตอนจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ มีดังนี้

ฉันทเจตสิก เป็นเจตสิกที่พอใจกระทำ เกิดกับจิต ๖๙ ดวง เว้นไม่เกิดกับจิต ๒๐ ดวง คือ อเหตุกจิต ๑๘ ดวงและโมหมูลจิต ๒ ดวง ทั้งนี้เพราะอเหตุกจิตเป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย ส่วนโมหมูลจิตนั้น แม้ว่ามีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เมื่อไม่มีโลภเจตสิกหรือโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วยจึงไม่มีฉันทเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉันทเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่พอใจตามสภาพของโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิตหรือจิตอื่นๆ ที่ฉันทเจตสิกเกิดร่วมด้วย


ศรัทธา ในคำสอนทางพระพุทธศาสนา นั้น เป็นธรรมฝ่ายดี (โสภณธรรม) ที่เกิดร่วมกับจิตที่ดีงาม คือ จิตที่ไม่มีกิเลสเกิดร่วมด้วย ศรัทธาเป็นสภาพธรรมที่ผ่องใส ไม่ขุ่นมัว เป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในการอบรมความสงบของจิต และ การอบรมเจริญปัญญา จะไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิต ดังนั้น ศรัทธา ก็ต้องเป็นธรรมฝ่ายดี ความเป็นจริงของศรัทธาจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ความเป็นผู้เห็นประโยชน์ของพระธรรมฟังพระธรรมบ่อยๆ เนืองๆ ละเว้นบุคคลผู้ไม่มีศรัทธา คบหาสมาคมกับบุคคลผู้มีศรัทธา ย่อมเกื้อกูลให้ศรัทธาเจริญยิ่งขึ้นได้

ในบางพระสูตร พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ศรัทธา เป็นเพื่อนสองของคน หมายถึง เป็นเพื่อนของผู้ที่จะไปสู่สวรรค์และนิพพาน เพราะเหตุว่า เมื่อบุคคลประกอบด้วยศรัทธาแล้ว ย่อมสามารถทำให้ได้รับประโยชน์ทั้งในโลกนี้ ประโยชน์ในโลกหน้า คือ เกิดในภพภูมิที่ดี (มีสวรรค์ และมนุษย์ภูมิ) และได้รับสิ่งที่ดี ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ อันเป็นผลของกุศล และ ทำให้ได้รับประโยชน์อย่างยิ่ง คือการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ ดับกิเลสตามลำดับขั้น เนื่องจากว่าบุคคลผู้ที่มีศรัทธา จึงมีการเจริญกุศลประการต่างๆ มีการคบหากัลยาณมิตร ผู้มีปัญญา มีการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ไตร่ตรองพระธรรม อบรมเจริญปัญญา เมื่อปัญญาเจริญขึ้นไปตามลำดับ ก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้ เพราะอาศัยศรัทธา เป็นเบื้องต้น นั่นเอง ดังนั้น ศรัทธา จึงเป็นสภาพธรรมที่นำมาซึ่งประโยชน์เท่านั้น นำมาซึ่งประโยชน์ ทั้งในโลกนี้ ในโลกหน้า และอุปการะเกื้อกูลให้ถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ด้วยครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
kullawat
วันที่ 24 ต.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
พงษ์
วันที่ 24 ต.ค. 2562

ขอขอบพระคุณครับที่ให้ความกระจ่าง จะนำความหมายไปพิจารณาและขัดเกลาจิตใจต่อไป ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Dechachot
วันที่ 24 ต.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 20 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ