ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารบก ถนนเทอดดำริ กรุงเทพมหานคร ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๒

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  9 พ.ย. 2562
หมายเลข  31282
อ่าน  3,458

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อวันศุกร์ ที่ ๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา และวิทยากร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อรรณพ หอมจันทร์ อาจารย์วิชัย เฟื่องฟูนวกิจ และอาจารย์คำปั่น อักษรวิลัย ปธ.๙ ได้รับเชิญจากพลโท ธเนศ วงศ์ชะอุ่ม เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก เพื่อไปสนทนาธรรมกับคณะอนุศาสนาจารย์กองทัพบก ที่อาคารศาสนสถานกลางกองทัพบก กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารบก ถนนเทอดดำริ กรุงเทพมหานคร เนื่องในโอกาสที่ท่านเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก เดินทางมามอบนโยบายการปฏิบัติงานให้กับคณะอนุศาสนาจารย์ของกองทัพบกที่เดินทางมาจากกองทัพภาคต่างๆ หลังจากได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบกคนใหม่ เมื่อเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา

อนึ่ง คำว่า "อนุศาสนาจารย์" เป็นคำเรียกชื่อนายทหารที่ปฏิบัติงานด้านศาสนาในกองทัพ ตามพระราชานุมัติของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ที่ได้พระราชทานกำเนิดไว้ในกองทัพไทย เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๖๒ ทราบว่าผู้ที่จะสมัครเข้ามาเป็นอนุศาสนาจารย์ ต้องเป็นผู้ที่จบเปรียญธรรม ๙ ประโยค หรือ จบ พุทธศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา (พธ.บ.) จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หรือ ศาสนศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาพุทธศาสตร์ (ศน.บ.) จากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ทั้งนี้ ถ้าใช้ วุฒิ พธ.บ. หรือ ศน.บ.สมัคร ต้อง ได้เปรียญธรรม 4 ประโยค ขึ้นไปด้วย

ในโอกาสนี้ จึงขอถอดความการสนทนาบางตอน เพื่อบันทึกไว้ เป็น ณ กาลครั้งหนึ่ง ของการเดินทางไปเกื้อกูลความเข้าใจพระธรรม แก่เหล่าบรรดาอนุศาสนาจารย์ กองทัพบก ของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะฯ ในวาระนี้ ซึ่งจะเป็นสิ่งให้ได้ระลึกถึงในวันข้างหน้าสำหรับผู้ฟัง ที่อาจหวนระลึกนึกถึงอดีตกาลที่ผ่านไปนี้ ด้วยความซื่อตรงต่อพระธรรม ความจริงใจจากการได้ฟังความจริงจากการทรงตรัสรู้และได้ทรงมีพระมหากรุณาแสดงไว้ และเพื่อประโยชน์อันยิ่ง ต่อทุกท่าน ในวาระนี้ ในอันที่จะดำรงรักษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนาด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง จากคำกล่าวของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่ได้กล่าวเตือนใจให้ได้คิดพิจารณาว่า "เต็มใจไหม ที่จะเข้าใจความจริง"

ท่านอาจารย์ ถ้ามีความเข้าใจธรรมะ แล้วจะพูดตรงตามความเข้าใจไหม? เพื่อประโยชน์ ไม่ใช่ตามที่คิดว่า ถ้าเราพูดตรงแล้วคนอื่นจะไม่พอใจ ถึงเขาไม่พอใจ แต่วันหนึ่งเขาจะต้องรู้ถึงความหวังดีของเรา ถ้าเป็นเพื่อนที่ดี มีความหวังดีก็คือว่า พร้อมที่จะทำประโยชน์เกื้อกูลบุคคลอื่น ถ้าเรามีเพื่อนที่ดี และเขาให้สิ่งที่ไม่จริง แล้วก็ไม่จริงใจด้วย เขาเป็นเพื่อนที่ดีจริงหรือเปล่า? ลองคิดดู

แต่อีกคนหนึ่ง ถ้าเราผิด เขาก็บอกว่าเราผิด เพื่อเราจะได้รู้ว่าผิด ควรแก้ไข หรือว่า เขาก็ไม่บอก ก็ปล่อยให้เราผิดๆ ๆ ไปเรื่อยๆ ตลอดชีวิต ควรจะเป็นอย่างไหน? ควรจะเป็นเพื่อนที่ดีแบบไหน?

(พันเอกกัมปนาท พุทธปวรางกูล อนุศาสนาจารย์ กองทัพภาคที่ ๒)

ถ้าเพื่อนที่ดีจริงๆ ต้องหวังให้เขาได้เข้าใจสิ่งที่ถูกต้อง แม้เขาจะไม่ชอบ แต่ถ้าเขาไตร่ตรองบ่อยๆ ฟังบ่อยๆ เขาก็อาจจะเริ่มรู้ว่า ความจริงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แทนที่จะได้สิ่งที่ไม่จริงเลย สิ่งหลอกลวง เพชรเก๊ พลอยเก๊ ทองเก๊ ทั้งหมด เอามาทำไม? ใช่ไหม? เพียงเอามาหลอกเราว่า นี่เหมือนทอง อย่างนั้น อย่างนี้

เพราะฉะนั้น คำพูดที่จริงทุกคำ เป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจึงเข้าใจได้จริง ถ้าพระองค์ไม่ตรัสความจริง เราจะเข้าใจได้จริงๆ ไหม? พระธรรมที่เป็นศาสดาแทนพระองค์เมื่อปรินิพพานแล้ว คำใดเป็นคำจริง ทุกคนเต็มใจไหม? ที่จะเข้าใจความจริงนั้น? หรือว่า ไม่อยากที่จะให้พระองค์ตรัสอย่างนี้ แล้วคนอื่นจะได้พอใจ ตามใจเขา เขาชอบอย่างไหนก็พูดอย่างนั้น แต่ผิด

เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น ต้องรู้ว่า ถ้าใครเป็นเพื่อนเราจริงๆ เขาจะต้องให้สิ่งที่ดีที่สุด และสิ่งที่ดีที่สุดคือสิ่งที่มีจริง สามารถที่จะเข้าใจได้ แม้ว่าเข้าใจยาก คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ง่าย เพราะเมื่อตรัสรู้แล้ว ก็ตรัสว่าธรรมะลึกซึ้ง ทวนกระแสของชาวโลก คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกคำ เปลี่ยนได้ไหม? เป็นไม่ลึกซึ้ง ง่าย ให้คนทั้งหลายได้เข้าใจ โดยไม่ต้องคิด ไม่ต้องไตร่ตรอง นั่นไม่ใช่คำของพระองค์ ต้องทราบว่าธรรมะลึกซึ้ง

ก่อนอื่น ให้เขาได้รู้ว่า ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าลึกซึ้ง ถูกไหม? ไม่ใช่ว่า ง่ายๆ ไปสำนักปฏิบัติ ไปทำไม? เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความจริงเดี๋ยวนี้ ที่ไหนก็ตามที่พระองค์ประทับ มีคนไปเฝ้า ได้รับความรู้ ความจริงในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้แล้ว ทรงแสดงทุกกาลสมัย ถ้าเป็นในเรื่องของสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ ให้เข้าใจถูกต้องว่า แต่ละคำต้องมั่นคง ธรรมะทั้งหลายเป็นอนัตตา แค่นี้ จะยอมฟัง รับฟัง พิจารณาว่า นี่เป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระมหากรุณาให้สัตว์โลก ได้รู้ความจริง ไม่ใช่ว่าจะรู้ง่าย เพราะว่าพระองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมีมานานเท่าไหร่ แล้วใครที่คิดว่า จะไปสำนักปฏิบัติง่ายๆ ไปสักเดือนหนึ่งหรือว่ากี่วันก็ตามแต่ แล้วจะเข้าใจธรรมะได้ เขาไม่รู้เลย เดี๋ยวนี้มีธรรมะหรือเปล่า? ถ้ามี เข้าใจธรรมะเดี๋ยวนี้ได้ไหม? ไม่ว่าที่ไหน ทำไมจะต้องรอ ทุกขณะมีประโยชน์มาก ไม่ควรที่จะผัดผ่อนไป ไว้วันนั้น ไว้วันนี้ เมื่อนั่น เมื่อนี่ จึงจะเข้าใจ แล้วเราจะมีชีวิตอยู่จนถึงวันนั้นหรือเปล่า และเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งกว่าอย่างอื่น เพราะว่าคนที่ไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่สามารถที่จะกล่าวถึงสิ่งที่มีจริงให้เข้าใจ แค่นี้...ให้เข้าใจ หมายความว่า ก่อนฟังพระธรรม ไม่เข้าใจ แน่นอน

เพราะฉะนั้น เมื่อฟังแล้ว จึงเข้าใจ และเห็นความลึกซึ้งว่า ถ้าจะเข้าใจได้มั่นคง ก็คือว่า ต้อง "ทีละคำ" อย่างเมื่อกี้นี้ "พระพุทธศาสนา รุ่งเรืองจริงหรือไม่?"

(พันเอกสุรินทร์ อ้วนศรี ผู้อำนวยการกองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารบก)

พระพุทธศาสนาไม่ใช่วัด ไม่ใช่เครื่องรางของขลัง แต่ว่า "คำสอน" คือ ศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รุ่งเรืองจริงหรือไม่? เราจะรักษาพระศาสนาไม่ใช่ให้เราสร้างวัดใหญ่โตเสียเงินมากมายแต่ไม่มีใครอยู่ มีก็แค่คนสองคน แล้วภายหลังก็อาจจะเป็นตลาดนัด เป็นที่ขายของ นั่นไม่ใช่วัด วัดต้องเป็นที่อยู่ของผู้ที่สละอาคารบ้านเรือน ผู้ที่จะเป็นภิกษุ หรือผู้ที่จะศึกษาพระศาสนา โดยการสละอาคารบ้านเรือน สละเพศคฤหัสถ์ ต้องเป็นผู้ที่มั่นคง เพราะได้ฟังแล้วเข้าใจ แล้วก็รู้จักตัวเองด้วย ว่าสามารถที่จะดำรงชีวิตในเพศบรรพชิตซึ่งขัดเกลาอย่างยิ่งกว่าเพศคฤหัสถ์ได้ไหม

ต้องคิดละเอียดมาก ถ้าไม่เข้าใจคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะบวชไหม? นี่ก็ข้อหนึ่ง ถ้ามีคนบวชมากๆ ชวนกันไปบวชเป็นหมื่นเป็นแสน หรืออาจจะถึงเป็นล้าน ตามที่ตั้งเป้าหมายกันไว้ว่า อยากจะให้มาก แต่ว่าเขาเหล่านั้นไม่รู้จักพระพุทธศาสนาเลย ไม่เข้าใจเลย แล้วชวนเขาไปบวชทำไม? และบวชคืออะไร? ปะ-วะ-ชะ คุณคำปั่นคะ หมายความว่าอะไร?

อ.คำปั่น กราบท่านอาจารย์ครับ ปวช (ปะ-วะ-ชะ) ก็คือ การเว้นโดยทั่ว เพราะว่า แสดงถึงความจริงใจของผู้ที่จะสละชีวิตของคฤหัสถ์ เป็นการเว้นจากชีวิตของคฤหัสถ์ เว้นจากความติดข้องต้องการ เว้นจากการกระทำกิจของคฤหัสถ์ทุกประการ เพื่อที่จะเข้าสู่เพศที่สูงยิ่ง ก็คือ เพศบรรพชิต เพื่ออย่างเดียว ก็คือ ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ขัดเกลากิเลส มีความประพฤติคล้อยตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงจะเป็นการบวชจริงๆ ครับ

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น พระภิกษุ มีเงินมีทอง ได้ไหม? พระพุทธศาสนารุ่งเรือง จริงหรือเปล่า? ถ้าเป็นผู้ที่ตรง มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรมะให้เราได้เข้าใจสิ่งซึ่งไม่เคยเข้าใจมาก่อนเลยในสังสารวัฏฏ์

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒[เล่มที่ 25]

ข้อความตอนหนึ่งจาก อายาจนสูตร

ความปริวิตกแห่งพระหฤทัยบังเกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ธรรมที่เราตรัสรู้แล้วนี้ ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต คาคคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต

ก็หมู่สัตว์นี้แล ยังยินดีด้วยอาลัย ยินดีแล้วในอาลัย เบิกบานแล้วในอาลัย ก็ฐานะนี้ คือ ความเป็นปัจจัยแห่งธรรม มีสังขารเป็นต้นนี้ เป็นธรรมอาศัยกันและกันเกิดขึ้น อันหมู่สัตว์ผู้ยินดีด้วยอาลัย ยินดีแล้วในอาลัย เบิกบานแล้วในอาลัย จะพึงเห็นได้ยาก แม้ฐานะนี้ ก็เห็นได้ยาก คือ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง ธรรมเป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง ธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา ธรรมเป็นที่สำรอก ธรรมเป็นที่ดับ นิพพาน ก็ถ้าเราจะพึงแสดงธรรม แต่ชนเหล่าอื่นจะไม่พึงรู้ทั่วถึงธรรมของเรา ข้อนั้น จะพึงเป็นความเหน็ดเหนี่อยของเรา ข้อนั้น จะพึงเป็นความลำบากของเรา. ฯลฯ

กราบเท้าท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของพลโท ธเนศ วงศ์ชะอุ่ม เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ

และเชิญคลิกชมบันทึกการสนทนาธรรมครั้งนี้ฉบับสมบูรณ์ ได้ที่นี่...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
Nataya
วันที่ 9 พ.ย. 2562

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chvj
วันที่ 20 ม.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ