ที่มาของกฐินในพระพุทธศาสนา

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  21 พ.ย. 2562
หมายเลข  31313
อ่าน  966

[เล่มที่ 7] พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ หน้าที่ 193

กฐินขันธกะ

ภิกษุปาไฐยรัฐเดินทางเข้าเฝ้า

[๙๕] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันอาราม ของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุปาไฐยรัฐจำนวน ๓๐ รูป ล้วนถืออารัญญิกธุดงค์ บิณปาติกธุดงค์ และเตจีวริกธุดงค์ เดินทางไปพระนครสาวัตถี เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจวนถึงวันเข้าจำพรรษา ไม่สามารถจะเดินทางให้ทันวันเข้าพรรษาในพระนครสาวัตถี จึงจำพรรษา ณ เมืองสาเกต ในระหว่างทาง ภิกษุเหล่านั้นจำพรรษามีใจรัญจวนว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ใกล้ๆ เรา ระยะทางห่างเพียง ๖ โยชน์ แต่พวกเราก็ ไม่ได้เฝ้าพระองค์

ครั้นล่วงไตรมาส ภิกษุเหล่านั้นออกพรรษาทำปวารณา เสร็จแล้ว เมื่อฝนยังตกชุก พื้นภูมิภาคเต็มไปด้วยน้ำ เป็นหล่มเลน มีจีวรชุ่มชื้นด้วยน้ำ ลำบากกาย เดินทางไปถึงพระนครสาวัตถี พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. การที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลาย ทรงปราศัยกับพระอาคันตุกะทั้ง หลายนั่นเป็นพุทธประเพณี

พุทธประเพณี

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอยังพอทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ พวกเธอเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตหรือ

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า พวกข้าพระพุทธเจ้ายังพอทนได้ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้ พระพุทธเจ้าข้า อนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระพุทธเจ้าในชุมนุมนี้เป็นภิกษุปาไฐยรัฐจำนวน ๓๐ รูป เดินทางมาพระนครสาวัตถี เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจวนถึงวันเข้าพรรษา ไม่สามารถจะเดินทางให้ทันวันเข้าพรรษา ในพระนครสาวัตถี จึงจำพรรษา ณ เมืองสาเกต ในระหว่างทาง พวกข้าพระพุทธเจ้านั้นจำพรรษามีใจรัญจวนว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ใกล้ๆ เรา ระยะทางห่างเพียง ๖ โยชน์ แต่พวกเราก็ไม่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นล่วงไตรมาส พวกข้าพระพุทธเจ้าออกพรรษาทำปวารณาเสร็จแล้ว เมื่อฝนยังตกชุก พื้นภูมิภาคเต็มไปด้วยน้ำ เป็นหล่มเลน มีจีวรชุ่มชื้นด้วยน้ำ ลำบากกาย เดินทางมา พระพุทธเจ้าข้า

พระพุทธานุญาตให้กรานกฐิน

[๙๖] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลาย ผู้จำพรรษาแล้วได้กรานกฐิน พวกเธอผู้ได้กรานกฐินแล้ว จักได้อานิสงส์ ๕ ประการ คือ:-

๑. เที่ยวไปไหนไม่ต้องบอกลา

๒. ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ

๓. ฉันคณะโภชน์ได้

๔. ทรงอดิเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา

๕. จีวรอันเกิดขึ้น ณ ที่นั้นจักได้แก่พวกเธอ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๕ ประการนี้ จักได้แก่เธอทั้งหลายผู้ได้กรานกฐินแล้ว

วิธีกรานกฐิน

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แล สงฆ์พึงกรานกฐินอย่างนี้ คือ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:- กรรมวาจาให้ผ้ากฐิน ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผ้ากฐินผืนนั้นเกิดแล้วแก่สงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้ผ้ากฐินผืนนี้ แก่ภิกษุมีชื่อนี้ เพื่อกรานกฐิน นี้เป็นญัตติ ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผ้ากฐินผืนนี้เกิดแล้วแก่สงฆ์ สงฆ์ให้ผ้ากฐินผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้ เพื่อกรานกฐิน การให้ผ้ากฐินผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้ เพื่อกรานกฐิน ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงนิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด. ผ้ากฐินผืนนี้ สงฆ์ให้แล้วแก่ภิกษุมีชื่อนี้ เพื่อกรานกฐิน ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล กฐินเป็นอันกราน อย่างนี้ไม่เป็นอันกราน

กฐินเป็นอันกราน

[๙๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่างไรเล่า กฐินเป็นอันกราน คือ:-

๑. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าใหม่

๒. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าเทียมใหม่

๓. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าเก่า

๔. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าบังสุกุล

๕. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ตกตามร้าน

๖. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ได้ทำนิมิตได้มา

๗. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ได้พูดเลียบเคียงได้มา

๘. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ได้ยืมเขามา

๙. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ได้เก็บไว้ค้างคืน

๑๐. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ได้เป็นนิสสัคคีย์

๑๑. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ทำกัปปะพินทุแล้ว

๑๒. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าสังฆาฏิ

๑๓. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าอุตราสงค์

๑๔. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าอันตรวาสก

๑๕. กฐินเป็นอันกราน ด้วยจีวรมีขันธ์ ๕ หรือเกิน ๕ ซึ่งตัดดีแล้ว ทำให้มีมณฑลเสร็จในวัน

๑๖. กฐินเป็นอันกราน เพราะการแห่งบุคคล

๑๗. กฐินเป็นอันกรานโดยชอบ ถ้าภิกษุอยู่ในสีมาอนุโมทนากฐินนั้น แม้อย่างนี้ กฐินก็ชื่อว่าเป็นอันกราน

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล กฐินเป็นอันกราน

[๙๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่างไรเล่า กฐินเป็นอันเดาะ

มาติกา ๘

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มาติกาเพื่อเดาะกฐิน ๘ ข้อนี้ คือ

๑. กำหนดด้วยหลีกไป

๒. กำหนดด้วยจีวรทำเสร็จ

๓. กำหนดด้วยตกลงใจ

๔. กำหนดด้วยผ้าเสียหาย

๕. กำหนดด้วยได้ยินข่าว

๖. กำหนดด้วยสิ้นหวัง

๗. กำหนดด้วยล่วงเขต

๘. กำหนดด้วยเคาะพร้อมกัน

อาทายสัตตกะที่ ๑

[๑๐๐] ๑. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรที่ทำเสร็จแล้วหลีกไป ด้วย คิดว่าจักไม่กลับมา การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยหลีกไป

๒. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไป เธออยู่นอกสีมา เกิดความคิดอย่างนี้ว่า จักให้ทำจีวรผืนนี้ ณ ภายนอกสีมานี้แหละ จักไม่กลับมาละ เธอให้ทำจีวรผืนนั้นเสร็จ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ

๓. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไป เธออยู่นอกสีมา เกิดความคิดอย่างนี้ว่า จักไม่ให้ทำจีวรผืนนี้ จักไม่กลับ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยตกลงใจ

๔. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไป เธออยู่นอกสีมา เกิดความคิดอย่างนี้ว่า จักให้ทำจีวรผืนนี้ ณ ภายนอกสีมานี้แหละ จักไม่กลับ แล้วให้ทำจีวรผืนนั้น จีวรของเธอที่กำลังทำอยู่นั้นได้เสียหรือหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยผ้าเสียหาย

๕. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไป ด้วยคิดว่าจักกลับมา เธออยู่นอกสีมา ให้ทำจีวรผืนนั้น ครั้นทำจีวรเสร็จแล้ว ได้ยินข่าวว่าในอาวาสนั้น กฐินเดาะเสียแล้ว การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยได้ยินข่าว

๖. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไป ด้วยคิดว่าจักกลับมา เธออยู่นอกสีมา ให้ทำจีวรผืนนั้น ครั้นทำจีวรเสร็จ คิดว่าจักกลับมา จักกลับมา แล้วล่วงคราวกฐินเดาะ ณ ภายนอกสีมา การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยล่วงเขต

๗. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไป ด้วยคิดว่าจักกลับมา เธออยู่นอกสีมา ทำให้จีวรผืนนั้น ครั้นทำจีวรเสร็จ คิดว่าจักกลับมา จักกลับมา แล้วกลับมาทันกฐินเดาะ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น พร้อมกับภิกษุทั้งหลาย

อาทายสัตตกะที่ ๑ จบ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 23 ม.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ