ทำไม รู้อารมณ์ ธาตุน้ำ ได้ทางมโนทวาร เท่านั้น
ผมอ่านหนังสือ อภิธรรมในชีวิตประจำวัน ได้เขียนว่า ธาตุน้ำ รับรู้ได้ทางมโนทวารเท่านั้น ตามความรู้สึกของผม เมื่อเราโดนน้ำทางกาย ก็รู้สึกได้ว่าเป็นน้ำนะครับ ยังสงสัยอยู่ รบกวนอธิบายหน่อยครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ธาตุน้ำ คือ อาโปธาตุ [สภาพธรรมใด ย่อมเอิบอาบ คือ แผ่ไปสู่รูปที่เกิดร่วมกันหรือสภาพธรรมใด ยังรูปที่เกิดร่วมกันให้แนบแน่น ให้พอกพูน คือ ให้เจริญ สภาพธรรมนั้นชื่อว่า อาโปธาตุ] เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นรูปธรรม เป็นรูปที่ละเอียดซึ่งไม่ปรากฏทาง ๕ ทวาร คือ ไม่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น และ ทางกาย แต่ปรากฏให้รู้ได้ทางมโนทวารเท่านั้น เพราะธาตุน้ำ เป็นรูปที่ละเอียด และ ที่สำคัญ เวลาที่กระทบสัมผัส ก็มีเพียงเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หรือ ตึง ไหว เท่านั้น ความเป็นธาตุน้ำ ไม่ได้ปรากฏทางกาย
ก็ต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ศึกษาพิจารณาไตร่ตรองพระพระธรรมต่อไป ครับ
ข้อความบางตอนจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
มีดังนี้
"ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ซึ่งเป็นมหาภูตรูป สำหรับที่เป็นโผฏฐัพพะนั้น มีเพียง ๓ รูป คือ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม สำหรับธาตุน้ำ ไม่ใช่โผฏฐัพพารมณ์เพราะเหตุว่าลักษณะของธาตุน้ำ คือ อาโปธาตุ คือ
บทว่า อาโป ความเอิบอาบเป็นการแสดงสภาวะ อาโปนั่นแหละ เรียกว่า อาโปคตํ ธรรมชาติที่เอิบอาบ ที่ชื่อว่า สิเนโห ความเหนียว ด้วยอำนาจที่เป็นยางใยแห่งความเหนียวนั่นแหละ เรียกว่า สิเนหคตํ ธรรมชาติที่เหนียว
บทว่า พนฺธนตฺตํ รูปสฺส ธรรมชาติเครื่องเกาะกุมรูป ได้แก่ ธรรมชาติ เป็นเครื่องประกอบภูตรูปมีปฐวีเป็นต้น จริงอยู่ อาโปธาตุควบคุมวัตถุทั้งหลายมีแท่งเหล็กเป็นต้นไว้ แล้วย่อมทำให้ติดกัน ธรรมชาติทั้งหลายมีก้อนเหล็กเป็นต้นเหล่านั้น ชื่อว่า ติดกันอยู่ เพราะความที่อาโปธาตุนั้นเป็นเครื่องเกาะกุมไว้ แม้ในแผ่นหิน ภูเขาต้นตาล หน่อไม้ งาช้าง และเขาโค เป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกันก็อาโปธาตุเท่านั้น เกาะกุมวัตถุเหล่านั้นทั้งหมด กระทำให้ติดกัน ธรรมชาติเหล่านั้น ชื่อว่า เป็นธรรมชาติติดกัน ก็เพราะถูกอาโปธาตุควบคุมไว้ด้วยเหตุนี้ เมื่อกระทบสัมผัสทีไร ก็จึงเป็นแต่เพียงปฐวี หรือเตโช หรือ วาโย แต่ว่าไม่สามารถที่จะกระทบสัมผัสอาโปธาตุ ซึ่งไหลเอิบอาบ ซึมซาบเกาะกุมธาตุที่เกิดร่วมด้วย"
...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอขอบพระคุณเป็นอย่างมาก ที่ได้อธิบายและยกตัวอย่างให้ทราบ ทำให้เข้าใจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ครับ