ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๔๓๓
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
* * ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๔๓๓ * *
~ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้วทรงแสดง ทรงพระมหากรุณาให้ผู้ฟัง เกิดปัญญาด้วยตนเอง นี่คือพระคุณที่สูงสุด คือ ทำให้ผู้มีอวิชชา (ความไม่รู้) เกิดมีวิชชา (ความรู้) ขึ้น ไม่หลง ไม่งมงาย ไม่ตื่นเต้นในข่าวต่างๆ ฉะนั้น แม้คำว่าปฏิบัติธรรม ก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้องด้วย ถ้ามีคนนั่งหลับตาแล้วบอกว่าปฏิบัติธรรม แล้วเราก็บอกว่าเขาปฏิบัติธรรม ใครๆ ก็บอกว่าเขาปฏิบัติธรรม ก็เป็นสิ่งที่เหลวไหล เพราะเหตุว่า ยังไม่เข้าใจเลยว่าปฏิบัติธรรมจริงๆ นั้นเป็นอย่างไร ต่อเมื่อใดเข้าใจแล้ว จึงจะรู้ว่าปฏิบัติธรรมหรือไม่ใช่ปฏิบัติธรรม ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับความเข้าใจที่ถูก
~ สำหรับความเห็นผิด ตราบใดที่ยังไม่ละทิ้งให้หมดสิ้น และยังไม่อบรมเจริญความเห็นถูกขึ้น ผู้นั้นก็ย่อมจะวนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์ โดยที่ว่าไม่มีการกำหนดได้ว่า เมื่อไรจึงจะพ้น เพราะเหตุว่ายังมีความเห็นผิดอยู่
~ ความเห็นมี ๒ อย่างคือ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก ๑ มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด ๑, ความเห็นถูก คือ เห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น ไม่คลาดเคลื่อน ไม่เข้าใจผิด เห็นว่าสภาพธรรมเกิดขึ้นแล้วดับไป เห็นถูกหรือเห็นผิด? เห็นว่าสภาพธรรมไม่มีปัจจัย เกิดขึ้นมาลอยๆ นั้น เห็นถูกหรือเห็นผิด?
~ ถ้าข้อปฏิบัตินั้นผิด คลาดเคลื่อน ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ อกุศลธรรม ก็ย่อมเจริญ (เกิดมากขึ้น) สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ก็ย่อมเจริญ (เกิดมากขึ้น) เพราะว่า ชีวิตปกติประจำวันนั้น มาจากความเห็นผิด เพราะฉะนั้น ทุกอย่างก็ผิดตามไปด้วย เพราะเหตุว่า ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้
~ ถ้ามีความเห็นผิดเสียแล้ว การชักชวน หรือ คำพูดที่ผิดก็ย่อมเกิดขึ้น ทำให้บุคคลอื่นประพฤติปฏิบัติตามในสิ่งที่ผิดไปด้วย แต่ว่าความเห็นชอบ เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ กุศลธรรมมิใช่น้อย ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เพราะความเห็นชอบเป็นปัจจัย
~ ผู้ที่เห็นผิด วันทั้งวัน คิดแต่เรื่องเห็นผิด แล้วจะเอากุศลมาแต่ไหน
~ ถ้าในชาตินี้ยังไม่เป็นผู้ที่ตรง ยังไม่เป็นผู้ที่อ่อนน้อม ยังไม่เป็นผู้ที่อดทน ยังไม่เป็นผู้ที่มีวาจาอ่อนหวาน ยังไม่เป็นผู้ที่เอื้อเฟื้อ คือ ว่าง่ายเมื่อถูกกล่าวสอนโดยธรรม ก็ควรที่จะพิจารณาแล้วเริ่มตั้งแต่ในชาตินี้ ซึ่งย่อมเป็นการกระทำตามอย่างพระอริยเจ้าในอดีตชาติทั้งหลาย ที่ท่านยอมรับฟังคำของบัณฑิต และประพฤติตามคำของบัณฑิต แม้ว่าเป็นสิ่งที่ยาก แต่ก็จะต้องเป็นผู้ที่ตรง เห็นว่าอกุศลเป็นอกุศล แล้วเริ่มขัดเกลาจริงๆ
~ กว่าที่จะดับกิเลสของตนเองได้ ก็จะต้องรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงทุกอย่าง เพราะเหตุว่าที่ยึดถือว่าเป็นตัวตน หรือเป็นเรา แท้ที่จริงก็คือ การสะสมของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ถ้าสะสมโลภะมา มีกำลังที่จะพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ (สภาพธรรมที่กระทบสัมผัสทางกาย) ก็จะยินดีในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ ในสุข จนกระทั่งสามารถที่จะหลอกลวง หรือกระทำทุจริตต่างๆ ได้
~ กิเลสที่มีมาก ใครบังคับไม่ได้ เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะมีการกระทำทางกาย วาจาอย่างไร ก็เป็นไปด้วยกำลังของกิเลสนั้นๆ ที่ยังไม่ดับ เพราะฉะนั้น เมื่อยังไม่ได้ดับ ก็ต้องมีปัจจัยที่เกิดขึ้นอีก แต่เมื่อมีหิริ ความละอาย ความรังเกียจ ความเห็นว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ เกิดขึ้นบ้าง ก็จะทำให้มีความเพียรที่จะขัดเกลา
~ ทุกคนเคยโกรธมาแล้วทั้งนั้น ก็พอที่จะเปรียบเทียบได้ว่า ขณะที่โกรธต่างกับขณะที่ไม่โกรธ เวลาที่ไม่โกรธก็รู้สึกสบายดี ไม่ว่าจะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส คิดนึกเรื่องราวต่างๆ ก็เป็นปกติ แต่พอเวลาที่เกิดโทสะขึ้น ขณะนั้นจะเห็นได้ว่า มีความดุร้ายเป็นลักษณะ ราวกับอสรพิษที่ถูกตี เปลี่ยนสภาพของปกติแล้ว ใช่ไหม ในขณะที่ความโกรธเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความขุ่นเคืองเล็กๆ น้อยๆ หรือว่าเป็นแต่เพียงความหงุดหงิด ความไม่แช่มชื่น ความไม่พอใจ จนกระทั่งถึงความรู้สึกน้อยใจ เสียใจ เดือดร้อนใจ จนกระทั่งเป็นทุกข์โศกเศร้า ในขณะนั้นให้เห็นลักษณะสภาพของจิตซึ่งประกอบด้วยโทมนัสเวทนา ซึ่งต่างกับขณะที่โทมนัสเวทนาไม่เกิด
~ น่าสงสารคนที่ทำไม่ดีบ้างไหม แม้แต่คนอื่นจะมาทำดีด้วย ก็โกรธ ไม่อยากที่จะให้คนอื่นมาทำดีกับคนนั้น กับคนที่ตนไม่ชอบ เพราะเหตุว่าเมื่อไม่ชอบคนนั้นอยู่แล้ว แล้วคนอื่นมาทำดีกับคนนั้นก็เลยไม่ชอบคนที่ทำดีกับคนที่ตนไม่ชอบด้วย เคยเป็นอย่างนี้บ้างหรือเปล่า ยังเป็นอย่างนี้อยู่หรือเปล่า และต่อไปจะเป็นอย่างนี้อีกหรือเปล่า? นี่เป็นเรื่องที่แต่ละท่านจะพิจารณาสภาพธรรมตามความเป็นจริง ว่าสิ่งใดที่เป็นอกุศล ควรละ ถ้าไม่รู้ก็อาจจะหลง เป็นไปเหมือนเดิม แต่ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่า อกุศลเป็นอกุศล ก็ควรที่จะได้ละอกุศลทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ท่านชอบ หรือเป็นผู้ที่ท่านไม่ชอบ ก็ควรที่จะพิจารณาในทางที่จะทำให้กุศลจิตเกิด ไม่ใช่พิจารณาในทางที่จะทำให้อกุศลจิตเกิด
~ ถ้าไม่โกรธ จะดุร้ายไหม? เพราะฉะนั้น ใครที่ดุ ให้ทราบว่าเพราะความโกรธ จึงเป็นคนดุ ลักษณะของโทสะ ต้องเป็นลักษณะที่ดุร้าย
~ จะเป็นประโยชน์มากที่จะรู้จักตัวเอง ซึ่งสามารถจะเริ่มเข้าใจจากการฟังพระธรรม ซึ่งเป็นการสะสมใหม่ เพราะเหตุว่าการสะสมเดิม คือ อวิชชาและโลภะ แต่ว่าเมื่อมีโอกาสได้ฟังพระธรรม จะเป็นการสะสมใหม่ คือ สะสมปัญญา ซึ่งตรงกันข้ามกับอวิชชา แล้วก็สะสมอโลภะ
อโทสะ ซึ่งตรงกันข้ามกับโลภะ โทสะ
~ เมื่อได้ฟังพระธรรมส่วนละเอียดมากขึ้น ก็จะรู้ว่าอกุศลธรรมมีหลายขั้น อกุศลอย่างหยาบเป็นเหตุให้เกิด กายทุจริต วจีทุจริต ทางกายมีประหัตประหารเบียดเบียน ยึดถือทรัพย์ของคนอื่นที่เจ้าของไม่ได้ให้เอามาเป็นของตน ทางวาจา ก็มีกิเลสขั้นหยาบที่ทำให้พูดเท็จ คำพูดที่น่าฟังกับคำพูดที่ไม่น่าฟัง เกิดจากจิตที่ต่างกัน คำพูดหยาบ ต้องเกิดจากอกุศลจิตที่มีกำลังมาก คำพูดที่แสดงถึงความสำคัญตน ก็เกิดจากอกุศลที่ตรงกันข้ามกับสภาพจิตใจที่อ่อนโยน มีเมตตา มีความเป็นเพื่อน อย่างจริงใจ
~ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มิได้ทรงมอบให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นศาสดาแทนพระองค์ พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้แล้วเป็นศาสดาแทนพระองค์ ผู้ที่ศึกษาพระธรรมเข้าใจแล้วรู้ว่า การปฏิบัติถูกคืออย่างไร การปฏิบัติผิดคืออย่างไร
~ ธรรมที่ทำให้เกิดความเจริญ คืออะไร? ก็ต้องเป็นปัญญาที่เห็นถูกต้องจึงสามารถที่จะเห็นโทษ (โดยความเป็นโทษ) ได้
~ กว่าจะรู้ความจริง ต้องเป็นผู้ที่ตรงแล้วก็รู้ว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม ก็เกิดแล้วทั้งนั้น แม้แต่ขณะนี้ที่กำลังคิด เกิดแล้วก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น ทั้งหมด ก็เป็นสิ่งที่มีจริง แต่เพราะไม่รู้จึงต้องฟังพระธรรมเพื่อให้มีความเข้าใจมั่นคงขึ้น ว่า ไม่มีเรา เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะรู้ว่าเรามั่นคงหรือยัง คนอื่นบอกไม่ได้ นอกจากตัวเอง มั่นคงที่จะรู้ว่าไม่มีเรา
~ ประโยชน์อยู่ที่ฟังพระธรรมแล้วเข้าใจ แม้ทีละเล็กทีละน้อยสักเท่าไหร่ ขณะนั้นก็เริ่มปรุงแต่ง เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ รู้ได้เฉพาะเดี๋ยวนี้ที่กำลังปรากฏ แล้วสิ่งที่จะเป็นอนาคตข้างหน้าที่จะปรากฏ ก็เมื่อปรากฏแล้วจึงสามารถที่จะรู้ได้ แต่ถ้ายังไม่ปรากฏก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ เพราะฉะนั้น ก็เหมือนการเตรียมพร้อมที่จะเข้าใจสิ่งที่ยังไม่มีในขณะนี้ แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจเดี๋ยวนี้ ก็ไม่มีอะไรที่จะไปเข้าใจสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปได้
~ ถ้ายังไม่ตาย ยังไม่ถึงวาระที่จะจากโลกนี้ไป ก็จะต้องมีการเห็น มีการได้ยิน คิดนึกต่อไป เป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ สุขทุกข์ต่อไป แล้วก็ตาย ลืมหมดทุกอย่างของชาตินั้น เพราะฉะนั้น เราลืมหมดทุกอย่างในชาตินั้น เมื่อถึงเวลาตาย แล้วก็ไม่รู้ตัวด้วย เพราะฉะนั้น เกิดก็ไม่ต้องกลัว หลับก็ไม่ต้องกลัว ตาย จะกลัวอะไร ไม่รู้ตัว แต่ว่ากลัวก่อนตาย กลัวที่จะสูญเสีย เพราะฉะนั้น กลัวไม่มีเรา หรือว่า กลัวไม่มีของของเรา ไม่มีความสุขต่างๆ ไม่มีญาติ ไม่มีพี่น้องไม่มีเพื่อน แต่ (ความจริง) ไม่มีอยู่แล้ว ก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น ความไม่รู้ทั้งหมด ก็นำมาซึ่งความทุกข์ต่างๆ จนกว่าจะค่อยๆ รู้ความจริง เมื่อนั้น ก็จะเข้าใจว่า ธรรม เป็นธรรม กลัวก็เป็นธรรม ทุกอย่างก็เป็นธรรม
~ เห็นความห่างไกลกัน เข้ากันไม่ได้ ของความไม่รู้ กับ ปัญญา, ความไม่รู้ก็นำไปทางหนึ่ง ติดข้อง กลัวพลัดพราก กลัวจะสูญเสีย แต่พอถึงปัญญา ไม่มีความกลัวใดๆ เลย เพราะรู้ว่าไม่มีเรา
~ คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีค่าประมาณไม่ได้ ความเป็นจริงเดี๋ยวนี้ที่จะเปิดเผยต่อปัญญา ต้องอาศัยคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งให้ค่อยๆ ละความไม่รู้
~ ถ้าสะสมการเป็นผู้ทุจริต (แล้วจะเป็นอย่างไร) เด็กบางคน พูดไม่จริง โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ จะพูดอย่างไร
~ ถ้าเป็นคนไม่ดี มีความเห็นผิดเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น กาย วาจา ย่อมเป็นไปตามความเห็นผิด แต่ถ้ามีความเห็นถูกเพิ่มขึ้น ชีวิตก็ย่อมค่อยๆ เข้าใจถูกต้องว่า อะไรดี อะไรชั่ว เพราะฉะนั้น ก็เสียดายเวลาที่จะผ่านไปด้วยความไม่ดีซึ่งจะต้องสะสมอยู่ในจิตต่อไปอีกนานมากเพิ่มขึ้นทุกวัน จนกว่าจะมีการได้เข้าใจความจริงจากการได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า กว่าจะได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นความจริง ที่ยากและเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ก็ต้องอาศัยการสะสมสิ่งที่ได้ฟัง ไตร่ตรองด้วยความเข้าใจ แล้วไม่มีเรา แต่มีความเห็นถูกที่มั่นคงขึ้นที่จะทำสิ่งที่ถูกต้อง
~ ประโยชน์ ไม่ใช่ทรัพย์สินเงินทองชื่อเสียงเกียรติยศ แต่ประโยชน์คือความเห็นที่ถูกต้องในความจริงว่าอะไรถูก อะไรผิด ถ้ามีความเข้าใจแล้วจะไม่ทำสิ่งที่ผิด เพราะฉะนั้น ใครที่ยังผิดอยู่ก็เพราะว่าไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น หน้าที่ของพุทธบริษัท ก็คือ ช่วยกันกล่าวคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เขาพิจารณาไตร่ตรอง ไม่ใช่มาเชื่อทันที แต่ว่า ถ้าเมื่อพิจารณาไตร่ตรองแล้วรู้ว่าเป็นความจริง นั่น ก็เป็นปัญญาที่จะช่วยเขาให้ไปในทางที่ถูกต้องได้
~ ตราบใดที่เรามีความหวังดี เราไม่หมดความหวังดี เพราะฉะนั้น ทุกคำที่เป็นประโยชน์กับผู้ฟังที่จะได้รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากการที่เราได้กล่าวคำของพระองค์ ก็จะเป็นประโยชน์ทั้งส่วนตัวเขาและต่อพระศาสนาที่จะดำรงต่อไป เพราะเหตุว่า ถ้าไม่มีใครกล่าวคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย คำเหล่านั้นคงไม่มาถึงเราจนถึงทุกวันนี้
~ ถ้ามีความเห็นถูกความเข้าใจถูก ก็เป็นการเริ่มที่จะมีการกระทำที่ดีจากปกติที่ไม่เคยเข้าใจธรรมมาก่อน.
* * ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ * *
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๔๓๒
... กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น..
กราบอนุโมทนา..ค่ะ