คนจองเวร

 
lokiya
วันที่  18 ธ.ค. 2562
หมายเลข  31381
อ่าน  919

การถูกจำคุก อยู่ในเรือนจำ ไร้อิสระภาพ เพราะกระทำผิดกฏหมายบ้านเมือง เช่น ปล้น ลักทรัพย์ นั่นคือผลของกรรมเพราะทำผิดกฏหมายบ้านเมืองใช่หรือไม่ครับ

ขอบคุณล่วงหน้าครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 20 ธ.ค. 2562

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒
- หน้าที่ ๑๖๕

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่วิบาก (ผล) อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ แห่งกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต จะพึงเกิดขึ้นนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะมีได้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แต่ข้อที่วิบากอันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ แห่งกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต จะพึงเกิดขึ้นนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่วิบากอันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ แห่งกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต จะพึงเกิดขึ้นนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะมีได้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แต่ข้อที่วิบากอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ แห่งกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต จะพึงเกิดขึ้นนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้

(พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต)

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ ๒๑๓

กรรมชั่ว ไม่ทำเสียเลยดีกว่า เพราะว่า กรรมชั่ว ย่อมเผาผลาญในภายหลัง ส่วนบุคคลทำกรรมใดแล้ว ไม่ตามเดือดร้อน กรรมนั้น เป็นกรรมดี อันบุคคลทำแล้ว ดีกว่า

(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท)

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้าที่ ๓๘๙

"บุรุษทำกรรมเหล่าใดไว้ เขาย่อมเห็นกรรม
เหล่านั้นในตน ผู้ทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี ผู้ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น"

(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก จุลลนันทิยชาดก)

เรื่องของการให้ผลของกรรม นั้น เป็นเรื่องที่ละเอียดอย่างยิ่ง เบื้องต้น คือ ถ้าเป็นกรรมดี คือ กุศลกรรม ให้ผล ก็ย่อมให้ผลเป็นผลที่ดี ที่น่าปรารถนา น่าใคร่น่าพอใจ ในทางตรงกันข้าม ถ้ากรรมไม่ดี คือ อกุศลกรรม ให้ผล ก็ย่อมให้ผลเป็นผลที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ โดยที่ไม่มีใครทำให้เลย

การถูกจับ ถูกจองจำในเรือนจำ ตามกฏหมายบ้านเมือง นั้น ก็ย่อมเป็นผลของอกุศลกรรม อย่างแน่นอน แต่ก็ไม่สามารถที่จะทราบได้ว่า เป็นผลของอกุศลกรรม ในชาตินี้ หรือ ในชาติไหน และที่สำคัญ การกระทำอกุศลกรรม เช่น ปล้นทรัพย์ของผู้อื่น เป็นต้น เรียกว่าเป็น ปโยควิบัติ คือ ความเพียรที่เป็นไปกับการทำอกุศลกรรม ย่อมเอื้อต่อการที่อกุศลกรรมที่เคยได้กระทำแล้วในอดีต จะให้ผลได้ แต่ถ้าไม่กระทำอกุศลกรรม ไม่ปล้นเขา ไม่ฆ่าเขา ก็ย่อมจะไม่ถูกจับถูกจองจำ ในเรือนจำ เพราะไม่ได้ไปทำอะไรที่ผิด นั่นเอง

เราไม่สามารถรู้ได้ว่า กรรมใดจะให้ผลเมื่อใด ที่ดีที่สุดแล้ว คือ เป็นผู้ไม่ประมาท ไม่ประมาททั้งกำลังของอกุศล และ ไม่ประมาทในการเจริญกุศลประการต่างๆ เพราะกุศลธรรมเท่านั้น ที่จะเป็นที่พึ่งได้อย่างแท้จริง อกุศลธรรม เป็นที่พึ่งไม่ได้ มีแต่จะนำมาซึ่ง ความทุกข์ ความเดือดร้อนโดยส่วนเดียว เท่านั้น ครับ

....อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 9 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ