แบบไหนถึงเรียกว่า ความฟุ้งซ่าน

 
lokiya
วันที่  24 ธ.ค. 2562
หมายเลข  31392
อ่าน  1,397

ขณะเรียกใดคือขณะที่สภาพธรรมความฟุ้งซ่านเกิดขึ้นครับ เป็นขณะที่นึกคิดไปเรื่อยๆ หรือ ขณะที่มีจิตใจไม่จดจ่อกับเรื่องที่ทำอยู่หรือไม่ครับ แล้วขณะที่เรากำลังคิดงานเพื่อให้สำเร็จผล ขณะนั้นจัดเป็นความฟุ้งซ่านหรือไม่ครับ อยากให้ยกตัวอย่างสภาพธรรมนั้นที่เกิดในชีวิตที่เป็นไปเพื่อความเข้าใจด้วยครับ

กราบขอบพระคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 24 ธ.ค. 2562

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความฟุ้งซ่านเป็นธรรมะที่มีจริง เป็นเจตสิกธรรม จะเรียกว่าอุทธัจจเจตสิกซึ่งเป็นภาษาบาลี อุทธัจจเจตสิก เป็นอกุศลสาธารณะเจตสิกซึ่งเกิดกับอกุศลจิตทุกประเภท อกุศลสาธารณเจตสิกมี ๔ ดวง ได้แก่ โมหเจตสิก อหิริกเจตสิก อโนตตัปปะ และอุทธัจจเจตสิก

เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่เกิดอกุศลจิต ไม่ว่าจะคิดเรื่องอะไร ขณะนั้นฟุ้งซ่านแล้วด้วยกิเลส เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้ยกตัวอย่างก็คงไม่จบ แต่ จบที่ปัญญาเข้าใจว่า อกุศลจิตเกิดเมื่อใด ขณะนั้นฟุ้งซ่าน ครับ

พระธรรมจึงไม่ใช่เอาเหตุการณ์ เอาเรื่อง มาหาชื่อใส่ เพราะจะไม่สามารถเข้าใจตัวจริง แต่พระธรรม เริ่มจากความเห็นถูกว่า ฟุ้งซ่านเป็นอกุศลธรรม ที่เกิดกับอกุศลจิตทุกประภทและเป็นธรรมไม่ใช่เรา ไม่สามารถบังคับได้ ที่จะให้เกิด ไม่เกิด แต่ค่อยๆ อบรมปัญญา เข้าใจว่าฟุ้งซ่าน ไม่ใช่เราเป็นธรรม อันเป็นหนทางการละกิเลสได้ที่แท้จริง แต่ต้องอบรมปัญญาอย่างยาวนานนับชาติไม่ถ้วน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 24 ธ.ค. 2562

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

โดยปกติแล้ว ขณะที่เป็นอกุศลจะไม่ปราศจากความฟุ้งซ่านเลย เพราะอุทธัจจะเป็นอกุศลสาธารณเจตสิกที่เกิดร่วมกับอกุศลจิตทุกประเภท จะไม่เกิดร่วมกับกุศลจิตเลย เพราะเหตุว่าขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้นนั้น สงบจากอกุศล นี้คือ ความเป็นจริงของธรรมที่ใครๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง และไม่สามารถที่จะบังคับบัญชาได้เลย เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

ข้อความบางตอนจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ มีดังนี้

"บางคนอาจจะฟุ้งไปด้วยโลภะก็ได้ ถ้ากำลังต้องการอะไรสักอย่าง ก็อาจจะคิดเพลินไปเลย จะสร้างวิมานอย่างนั้นอย่างนี้ หรืออะไรอย่างโน้นก็ได้ ขณะนั้นก็เป็นอกุศลจิต ที่จริงแล้วลักษณะของอุทธัจจะ ก็คือสภาพที่ไม่สงบของธรรมนั้น เมื่อธรรมนั้นเกิดแล้วจะหวั่นไหวฟุ้งไป ไม่สงบ เพราะว่าถ้าเป็นฝ่ายสงบต้องเป็นฝ่ายโสภณเจตสิก ซึ่งเป็นปัสสัทธิเจตสิก จิตตปัสสัทธิ กายปัสสัทธิ แต่ลักษณะของอุทธัจจะ โมหะเป็นลักษณะที่ไม่รู้เลย ไม่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง มืดบอด

แม้ว่ากำลังเผชิญหน้ากับธรรม เช่น ทางตากำลังเห็น โมหะก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริง ในสิ่งที่ปรากฏว่า เป็นแต่เพียงธาตุหรือธรรมที่ปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาท แต่โมหะไม่สามารถจะรู้อย่างนี้เลย นั่นคือโมหะ แต่อุทธัจจะเป็นสภาพที่ไม่สงบ เพราะเหตุว่าเมื่อมีความไม่รู้ ขณะนั้นจะสงบไม่ได้ แต่ว่าลักษณะของอุทธัจจะและโมหะซึ่งยังไม่ประกอบด้วยโลภะ ก็จะเป็นอาการอย่างที่เรารู้ว่า เหมือนลืม หรือว่าไม่รู้อะไร เป็นอุเบกขา แต่พอมีโลภะเกิดร่วมด้วย ก็แล้วแต่ว่า ขณะนั้นจิต ที่เราบอกว่าฟุ้ง ฟุ้งไปด้วยโลภะ คิดมากมาย เรื่องของโลภะทั้งนั้น หรือว่าฟุ้งด้วยโทสะ

เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า เวลาที่เราบอกว่าเราฟุ้ง จิตสงบหรือว่าเป็นทุกข์ ขณะนั้นจะสงบ เป็นกุศลไม่ได้เลย แต่ว่าถ้าเป็นโทสมูลจิต เราก็คิดไปด้วยความไม่สบายใจ บางคนก็อาจจะคิดว่าจะทำร้ายคนอื่นอย่างไร หรือว่าคิดไปสารพัดเรื่อง นั่นด้วยกำลังของโทสะ แต่ถ้าคิดไปด้วยโลภะก็ดูเพลินไปเลย เรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่เราก็ใช้คำว่าฟุ้ง แสดงให้เห็นว่า ขณะนั้นจิตไม่สงบ แต่มีโลภะเกิดร่วมด้วย หรือว่าจิตไม่สงบแล้วก็มีโทสะเกิดร่วมด้วย"

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
วิริยะ
วันที่ 31 ธ.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 9 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ