ความแตกต่างของทุกข์ในอริยสัจธรรมกับทุกข์ในกฎไตรลักษณ์และทุกข์ในโลกธรรม

 
piroon
วันที่  5 ม.ค. 2563
หมายเลข  31427
อ่าน  1,245

ทุกข์ คือสภาพที่ทนได้ยาก แต่สงสัยความแตกต่างกันในความหมายตามนัยของอริยสัจจธรรม กฎไตรลักษณ์ และ โลกธรรม ๘

เนื่องจากความเข้าใจว่า ในโลกธรรม ๘ ทุกข์ จะคู่กับ สุข

แต่ในอริยสัจจ์ และไตรลักษณ์ จะเน้นเรื่องของทุกข์ในความหมายกว้างๆ ถึงสรรพสิ่งที่มีเกิดและดับ มีทุกข์ด้วย แต่ไม่ได้กล่าวถึงสุขเลย ดังนั้น จึงสงสัยว่า ในเมื่อทั้งทุกข์และสุข ต่างก็เป็นสภาพของเวทนาเช่นกัน เหตุใดจึงไม่ได้บัญญัติไว้เพื่อเปรียบกันครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 5 ม.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริง ตรงตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะทรงแสดงโดยนัยใด ก็ไม่พ้นไปจากสิ่งที่มีจริงเลย สิ่งที่มีจริงที่เกิดขึ้นเป็นไปในขณะนี้ เป็นธรรม ทั้งหมด ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

สภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ทั้งหมด ไม่เที่ยง เพราะเกิดดับ จึงเป็นทุกข์ เพราะดำรงอยู่นานไม่ได้ เพียงชั่วขณะสั้นๆ เท่านั้น แล้วก็ดับไป และเป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใ่ช่ตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ไม่มีใครเป็นเจ้าของด้วย เพราะเป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละหนึ่งที่เกิดแล้วก็ดับไปเท่านั้น

เมื่อเข้าใจอย่างนี้ ก็พอจะเข้าใจโลกธรรม ๘ ได้ ว่า ก็ไม่พ้นจากความเป็นไปของธรรมเลย ที่จะต้องเป็นอย่างนี้ เป็นธรรมดาอย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นยุคใดสมัยใดก็ตาม ก็ไม่พ้นจากสิ่งเหล่านี้ คือ ลาภ ๑ ความเสื่อมลาภ ๑ ยศ ๑ ความเสื่อมยศ ๑ สรรเสริญ ๑ นินทา ๑ สุข ๑ ทุกข์ ๑ ซึ่งเป็นฝ่ายที่น่าปรารถนาน่าพอใจ กับ ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจ เป็นธรรมดาจริงๆ ที่จะประสบกับสิ่งเหล่านี้ แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ไม่ทรงพ้นจากโลกธรรม เช่น ยังมีผู้นินทาว่าร้ายพระองค์ เป็นต้น

สำหรับประเด็นคำถาม นั้น สุข ทุกข์ ที่เป็น ๑ คู่ในโลกธรรม ๘ นั้น ก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นความรู้สึกที่เป็นสุข (สุขเวทนา) กับ ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ (ทุกขเวทนา) เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งเป็นสภาพที่แตกต่างกัน สุขเวทนา ไม่ใช่ ทุกขเวทนา ดังนั้น ก็ย่อมจะเข้าใจได้ว่า ทั้งสุขเวทนา และ ทุกขเวทนา ก็คือ สภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย จึงเป็นทุกข์ โดยความเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ นั่นเอง เป็นทุกขสัจจ์ ด้วย เพราะเป็นสิ่งที่มีจริงที่เกิดดับ ที่ควรรู้ และ ที่น่าพิจารณา คือ สภาพธรรมที่เกิดดับทั้งหมด ก็เป็นโลกธรรม กล่าวคือ เป็นสิ่งที่มีจริงที่มีอันต้องแตกสลาย คือ ดับไปเป็นธรรมดา

ทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นคำเกื้อกูลเพื่อให้เกิดความเข้าใจถูกเห็นถูกตรงตามความเป็นจริง ครับ

ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ ครับ

เรื่องความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันของไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)

โลกธรรม ๘ ประการ [โลกธรรมสูตร]

ความเข้าใจสภาพธรรม ๐๑ - โลกธรรม ๘ ประการ

....อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
kullawat
วันที่ 7 ม.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ