เพชรฆาตประหารนักโทษไม่มีโทสมูลจิตได้หรือไม่

 
lokiya
วันที่  6 ม.ค. 2563
หมายเลข  31431
อ่าน  1,370

อกุศลกรรมบถที่ประกอบด้วยการฆ่า ประทุษร้ายผู้อื่นต้องมีโทสะเป็นปัจจัย แต่สำหรับเพชรฆาต เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่ต้องประหารนักโทษด้วยการยิงหรือฉีดยา นั้น ขณะนั้นจะกล่าวได้หรือไม่ว่า ไม่มีโทสมูลจิตเกิดร่วมด้วย เพราะท่านประหารนักโทษด้วยทำตามหน้าที่ ไม่มีเรื่องเคืองโกรธกับนักโทษ ถ้าไม่ใช่โทสมูลจิต เป็นจิตอะไรได้บ้างครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 7 ม.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นสัจจะ ไม่เปลี่ยนแปลง กุศล เป็นกุศล อกุศลก็ต้องเป็นอกุศลครับ ไม่เปลี่ยนไป ตามยุคสมัย หรือ ผู้ใดกระทำ

สำหรับ ศีล ข้อที่ ๑ คือ ปาณาติบาต การทำชีวิตของสัตว์ให้ตกล่วง คือ สิ้นชีวิต ไม่ว่าใคร บุคคลใด และที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด หากทำกรรมคือ มีการฆ่าสัตว์ ครบองค์กรรมบถ คือ สัตว์นั้นมีชีวิต รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต จิตคิดจะฆ่า มีพยายามที่จะฆ่า และท้ายสุดสัตว์นั้นตายเพราะการฆ่านั้น ก็เป็นกรรมบถ เป็นบาป เป็นอกุศลกรรม ที่สามารถทำให้เกิดในอบายภูมิได้ เมื่อกรรมนั้นให้ผลครับ

เพชรฆาต ก็คือ สมมติบัญญัติจากสิ่งที่มีจริงที่ประชุมรวมกัน คือ จิต เจตสิกและรูปดังนั้น ไม่ว่าการกระทำใดๆ ของเพชรฆาต ทางกาย วาจา ก็ไม่พ้นจากการทำงาน หรือการเกิดขึ้นของสภาพธรรมที่เป็นจิตและเจตสิกทีเกิดขึ้น ดังนั้น ขณะที่เพชรฆาตได้ฆ่าสัตว์ประหารชีวิตนักโทษ ขณะนั้นก็ต้องมีจิตและเจตสิกที่เกิดขึ้น มีเจตนาเจตสิกที่เกิดขึ้นด้วยมีเจตนาฆ่าในขณะนั้นนั่นเองครับ

แม้จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่เจตนาฆ่าเกิดขึ้นแล้ว เพชรฆาตก็ย่อมรู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต มีจิตที่คิดจะฆ่าด้วย ไม่เช่นนั้นคงไม่ฆ่า แม้จะมีความจำเป็นทำตามคำสั่ง แต่ก็มีจิตและเจตนาเพื่อที่จะให้สัตว์นั้นตาย และมีความพยายาม กรรมสำเร็จ คือ บุคคลนั้นตายเพราะการฆ่าของเพชรฆาต เพชรฆาตก็ต้องทำบาปแน่นอนครับ

ในขณะนั้นที่เป็น ปาณาติบาต เพียงแต่ว่า การฆ่าด้วยความจำเป็น ตามคำสั่งกรรมที่ฆ่าด้วยความจำเป็น ตามคำสังก็ไม่หนักเท่ากับ การฆ่าด้วความโกรธ พยาบาท เพราะว่ากำลังของกิเลสที่ขณะฆ่ามีน้อยกว่า กำลังของกิเลสที่มีความโกรธ พยาบาทจึงฆ่าครับแต่เมื่อครบกรรมบถ มีการฆ่าและมีเจตนาฆ่าด้วยและสัตว์นั้นตาย จะด้วยเหตุผลอะไรก็ชื่อว่าบาป เป็นอกุศลกรรม กรรมสำเร็จแล้ว ส่วนกรรมจะหนักจะมาก หรือ จะน้อย ขึ้นอยู่กับบุคคลที่ถูกฆ่า มีคุณธรรมากหรือน้อย กิเลสที่มีกำลัง หรือไม่มีกำลังขณะที่ฆ่าครับ

จะเห็นนะครับว่า อกุศลธรรมไม่เปลี่ยนแปลง บาปก็คือบาป เพียงแต่จะบาป จะบาปน้อยก็มีเหตุผลประการอื่นด้วยครับ ซึ่งตัวอย่างในพระไตรปิฎก ที่มีพราหมณ์ท่านหนึ่ง ท่านกล่าวกับท่านพระสารีบุตรว่า ที่ท่านทำบาปเพราะมีเหตุผลจำเป็น มีการเลี้ยงครอบครัว เป็นต้น จะบาปไหม จะต้องตกนรกหรือไม่ อย่างไร ท่านพระสารีบุตร ตอบว่า เมื่อกรรมนั้นให้ผลย่อมตกนรก และนายนิรยบาล จะฟังเหตุผลที่บุคคลนั้นทำบาปแล้วเพราะเหตุผลจำเป็นหรือไม่ จึงไม่ลงโทษผู้นั้น พราหมณ์ก็ตอบว่า นายนิรยบาล คงไม่สนเหตุผล ความจำเป็น เพราะผู้นั้นได้ทำบาปแล้ว นายนิรยบาลก็ต้องลงโทษผู้นั้นครับ

จากตัวอย่างนี้ก็แสดงให้เห็นว่า ขณะที่คิดเป็นเหตุผลที่มีความจำเป็น นั่นเป็นขณะที่เป็นความคิดนึกขณะหนึ่ง แต่ขณะที่ทำบาป ทำอกุศลกรรม ขณะนั้นก็เป็นอีกขณะหนึ่งจึงไม่ควรเอามาปนกันในแต่ละขณะครับ ขณะที่ทำอกุศลกรรมก็ต้องเป็นอกุศกรรม บาปก็คือบาปนั่นเองครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 7 ม.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒- หน้าที่ ๔๘๐

บทว่า มูลโต ความว่า ปาณาติบาต มีมูล ๒ คือโทสะ และ โมหะ


โดยสภาพของการปลงชีวิตสัตว์อื่นให้ตกล่วงไปนั้น โดยมูลรากแล้วมีมูล ๒ คือ โทสะและ โมหะความไม่รู้ โทสะเมื่อเกิดขึ้นกับจิตใด จิตนั้นก็มีโทสะเป็นมูล (โทสมูลจิต) และไม่ปราศจากโมหะด้วยในขณะนั้น สภาพธรรมละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ความจริงก็เป็นอย่างนี้ ถ้ามีความปรารถนาดีหวังดีต่อผู้อื่น จะฆ่าผู้อื่นไม่ได้เลย แต่ที่ฆ่าเพราะอะไร? นี่ก็ทำให้ได้พิจารณาได้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรม ครับ

อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
peem
วันที่ 9 ม.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
archanaiausdorn
วันที่ 11 ม.ค. 2563

ด้วยอำนาจของโมหะ คือ ความไม่รู้อันใด อันนั้นย่อมทำความมืดมิดแก่บุคคลนั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
papon
วันที่ 24 ม.ค. 2563

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ค่อยๆศึกษา
วันที่ 29 ส.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ