พระไม่ใช้รถแล้วจะเดินทางไกลอย่างไร

 
lokiya
วันที่  12 ม.ค. 2563
หมายเลข  31444
อ่าน  1,780

พระภิกษุตามพระวินัยแล้วไม่สามารถนั่งรถได้เพราะเป็นอาบัติ มีหนทางที่จะช่วยอนุเคราะห์ให้ท่านเดินทางไกลได้อย่างไรบ้างครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 13 ม.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เข้าใจผิด

๘. ภิกษุต้องเดินทางไปไหน มาไหน ค่ารถไม่ฟรี จึงต้องรับเงิน และคฤหัสถ์จึงต้องให้เงินพระ

เข้าใจถูก

๘. ภิกษุในธรรมวินัย คือ เป็นผู้เบา มีกิจน้อย ไม่เป็นผู้เดินทางบ่อย หากมีผู้นิมนต์ไปฉันที่บ้านหรือ แสดงธรรมที่บ้าน ภิกษุผู้ฉลาด ประพฤติตามพระวินัย สามารถแจ้งกับคฤหัสถ์ได้ว่าควรกระทำสิ่งใด ไม่ให้ภิกษุออกค่าใช้จ่ายเอง แต่ควรมารับ มาส่ง อันไม่เกี่ยวข้องกับเงินและทอง เป็นต้น และพระภิกษุที่ดี หากพิจาณาว่าต้องยุ่งเกี่ยวกับเงินทอง ไม่สะดวกในการเดินทาง ท่านก็แจ้งกับคฤหัสถ์ไปในเรื่องนั้น ว่าไม่สะดวกโดยประการใด อันเป็นการเคารพพระวินัย ทำตามพระวินัยบัญญัติ และ พระภิกษุไม่มีหน้าที่เรียนหนังสือทางโลก จึงไม่จำเป็นจะต้องเดินทางไปเรียนมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่สอนหนังสือทางโลก เป็นต้น

และตามที่กล่าวแล้ว ปัญหาเหล่านี้จะหมดไป ถ้าทำวิธีการที่ถูกต้อง คือ พระไม่รับเงิน แต่ ฆราวาสให้เงินกับคฤหัสถ์ผู้เป็นไวยาวัจกรของวัดโดยตรงดูแล ที่เป็นคนดี มีคุณธรรม และ เมื่อพระภิกษุต้องการเดินทางในการประกอบกิจของสงฆ์ คฤหัสถ์ที่เป็นไวยาวัจกรก็สามารถเป็นผู้ดูแล ในเรื่องค่าใช้จ่าย โดยที่พระไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับเงินทอง อันทำให้พระไม่ต้องอาบัติรับเงินทอง ยินดีในเงินทอง เพราะมีเงินส่วนกลางของวัดในการบริหารจัดการ ทั้งในเรื่องค่าเดินทาง ค่ายา ค่าอื่นๆ ที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 13 ม.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ในพระวินัยปิฎก จัมมขันธกะ มีสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุเดินทางไปด้วยยาน ต้องอาบัติทุกกฏ ดังนี้ว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงไปด้วยยาน รูปใดไป ต้องอาบัติทุกกฏ

ยานที่กล่าวถึงในสิกขาบทเหล่านี้ ในต้นบัญญัติของสิกขาบท หมายถึง เกวียนซึ่งเทียมด้วยวัว และรวมถึง ยานที่ใช้คนหรือสัตว์ (เช่น ม้า เป็นต้น) เป็นตัวขับเคลื่อนให้สิ่งนั้นไปได้ ดังนั้น เฉพาะภิกษุที่โดยสารไปด้วยยานพาหนะที่ใช้สัตว์หรือให้คนลากไปหรือแบกไปโดยวิธีใดก็ตามเท่านั้น จึงจะต้องอาบัติทุกกฏ

ดังนั้น แม้พระภิกษุจะสามารถโดยสารไปกับรถโดยสาร เป็นต้น ได้ และโดยปกติคฤหัสถ์ก็ย่อมเอื้อเฟื้อต่อพระภิกษุอยู่แล้ว แต่ก็ต้องย้อนกลับมาพิจารณาว่า ท่านไปทำไม สมควรหรือไม่ ขัดเกลากิเลสหรือไม่? ทำไมบวช? บวช เพื่ออะไร? มีความจริงใจที่จะขัดเกลากิเลสหรือไม่? มีความประพฤติคล้อยตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือไม่? เพราะความเป็นพระภิกษุ เป็นเพศที่ขัดเกลากิเลสเป็นอย่างยิ่ง ท่านจะไม่ทำในสิ่งที่จะเป็นไปเพื่อพอกพูนกิเลสเลย พระภิกษุที่เคารพอย่างยิ่งในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เคารพในสิกขาบทที่พระองค์ได้ทรงบัญญัติไว้ดีแล้ว ท่านจะไม่ล่วงละเมิดสิกขาบทแม้เพราะเหตุแห่งชีวิต ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 13 ม.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
jareeporn
วันที่ 13 ม.ค. 2563

สะสมแต่ธรรม ที่เป็นอธรรม สะสมการขาดปัญญา ว่ามีปัญญา ภพขาติใด ไร้ซึ่งความเข้าใจ ย่อมหาแสงสว่างไม่เจอ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Thanapolb
วันที่ 26 ก.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ขอเรียนถามเพิ่มเติม..ไม่แน่ใจว่ากระผมฟังมาถูกหรือผิด...ภิกษุผู้ไม่ป่วยไม่ควรนั่งยาน เช่น รถยนต์โดยสาร หรือเครื่องบิน หรือว่าโดยสารได้ครับถ้ามีคนจัดไปรับไปส่งและไปเพื่อกระทำกิจที่ควรตามกิจของบรรพชิต คือ คันถะธุระ และวิปัสสนาธุระ รวมหมายถึงถูกนิมนต์ไปแสดงธรรม สนทนาธรรม เป็นต้น...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
khampan.a
วันที่ 26 ก.ย. 2564

เรียน ความคิดเห็นที่ ๖ ครับ

ในพระวินัยปิฎก จัมมขันธกะ มีสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุเดินทางไปด้วยยาน ต้องอาบัติทุกกฏ ดังนี้ว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงไปด้วยยาน รูปใดไป ต้องอาบัติทุกกฏ

ซึ่งในรายละเอียด มีว่า เฉพาะภิกษุที่โดยสารเกวียนหรือให้คนลากไปหรือแบกไปโดยวิธีใดก็ตามเท่านั้น จึงจะต้องอาบัติทุกกฏด้วยสิกขาบทนี้ ส่วนภิกษุที่โดยสารรถยนต์ เป็นต้น ซึ่งเป็นพาหนะทีใช้เครื่องยนต์ แม้จะมิได้อาพาธ ก็ไม่เข้ากับลักษณะของสิกขาบทนี้ คือ สามารถโดยสารได้ ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Thanapolb
วันที่ 27 ก.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ขอบพระคุณและอนุโมทนายิ่งครับ..

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ