พระภิกษุไม่ไปด้วยยาน

 
Tanagon
วันที่  18 ม.ค. 2563
หมายเลข  31462
อ่าน  710

กราบเรียนท่านวิยากร

เรื่องการไปด้วยยานของพระภิกษุ อยากทราบว่าท่านไปด้วยยานอะไรได้บ้างหากว่ากันด้วยความสามารถว่า "สามารถไปได้ในสภาวะปกติ ไม่ป่วย" โดยยังไม่มองถึงกิจว่าท่านไปทำไม

ในเรื่องยานเทียมม้า เทียมโค เกวียน วอ รถแห่ ทราบว่าไปไม่ได้ รวมถึงรถยนต์ในปัจจุบันด้วยใช่ไหม? เพราะก็ถือเป็นยานชนิดนึงเมื่อว่าโดยนัยมหาปเทส๔ และมีอีกที่กล่าวว่ายานอย่างเดียวของภิกษุคือรองเท้า

เครื่องบินไม่สมด้วยความเป็นยานทางบก แต่เป็นการไปทางอากาศ ภิกษุในอดีตที่มีฤทธิ์ก็ไปทางอากาศ แสดงว่าเครื่องบินอาจนั่งได้ใช่ไหม? แต่ก็ขัดกับนัยที่กล่าวว่ายานอย่างเดียวของภิกษุคือรองเท้า แล้วถือควรสามารถไปได้หรือไม่ได้?

ส่วนทางเรือ อันนี้ทราบว่านั่งข้ามฟากได้ตามปรกติ อันนี้เพราะเหตุใดไม่เป็นอาบัติในการไปทางเรือครับ?

กราบขอบพระคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 19 ม.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเข้าใจเบื้องต้น คือ ยานพาหนะของบรรพชิตคือรองเท้าเท่านั้น ยานอย่างอื่นไม่สมควรแก่บรรพชิตเลย ดังข้อความจากอรรถกถาดังนี้

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๒๐๘

..ที่ชื่อว่า ยาน ได้แก่ ล้อเลื่อน รถ เกวียน รถมีเครื่องประดับ วอรถเข็น นี้มิใช่ยานของบรรพชิต บรรพชิตมียานอย่างเดียวคือ รองเท้า

ข้อความในอรรถกถากินททสูตร (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้า ๒๔๐) มีว่า

บทว่า ยานโท ได้แก่ ยานทั้งหลายมีหัตถิยาน (ยานช้าง) เป็นต้น ก็แต่ว่าในบรรดายานเหล่านั้น ยานช้าง ยานม้า ย่อมไม่สมควรแก่สมณะ การให้ไปด้วยรถก็ไม่สมควรเหมือนกัน ยานที่สมควรแก่สมณะ ก็คือ รองเท้าสำหรับสมณะผู้รักษาอยู่ซึ่งศีลขันธ์


ปกติชีวิตของพระภิกษุท่านก็อยู่ที่วัด ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสของตนเอง ถ้ามีกิจที่จะไปที่อื่นที่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิต ท่านก็เดินทาง จะด้วยการเดิน หรือ มีคฤหัสถ์ไปส่งด้วยยานพาหนะต่างๆ ก็สามารถที่จะไปได้ โดยไม่เกี่ยวกับการใช้เงินทอง เพราะเงินทองไม่ควรแก่เพศบรรพชิต บรรพชิต รับเงินทองไม่ได้ ใช้เงินทองไม่ได้

ในเรื่องของการโดยสารโดยเครื่องบิน ก็สามารถพิจารณาได้โดยนัยนี้เหมือนกัน ว่าเหมาะควรหรือไม่อย่างไร การโดยสารทางเรือ เรือข้ามฟาก แม้บรรพชิต ก็ควร เพราะเป็นสิ่งที่จำเป็น และไม่ขัดต่อความประพฤติดีงามของเพศบรรพชิต แต่ถ้าไปพายเรือ หรือ วิดน้ำเล่นขณะโดยสารทางเรือ อย่างนี้ไม่ได้ เป็นความประพฤติที่ไม่เหมาะไม่ควร เป็นอาบัติ ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 22 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ