ว่าด้วยบัญญัติการสื่อสารโดยภาษา
ขออนุโมทนาผู้บรรยายทุกๆ ท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่าน อาจารย์สุจินต์ ผมได้ดูการสนทนนาบรรยาย อภิธรรมในภาษาอังกฤษ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาครับ ก็ติดใจอยู่เรื่องหนึ่งว่า
คำบัญญัติในบาลี สันสกฤต ไทย ยังเป็นกลุ่มคำที่ มีความหมายใกล้เคียง พอที่จะเทียบเคียงความหมายเพื่อให้เข้าใจถึงสภาพ ปรมัตถ์ได้
แต่ในกรณีที่เป็นภาษาอังกฤษ หรืออีกกลุ่มภาษาทวีปอื่น ความเจาะจง เรื่องใช้ศัพท์ เพื่อใช้เทียบเคียงนั้นก็สำคัญ ผมได้ดู พระไตรปิฎกฉบับภาษาอังกฤษประกอบ เทียบกับภาษาไทย และบาลี ไปด้วย ก็เกิดความสงสัย บางเรื่องอยู่ครับ เช่น
อารมณ์ - สิ่งที่ถูกจิตรู้ - object - วัตถุ
อารมณ์ หรือ อารัมมณะ ในบาลีไทยเรา
object (ใช้ในหัวข้อ เดียวกันคือ "อารมณ์) ปรากฏในฉบับภาษาอังกฤษ
ซึ่งแปลว่า "วัตถุ" ทางเราก็มี วัตถุ ๖ เช่นกัน เหมือนกับ อารมณ์ ๖ แต่มีความแตกต่างกันอยู่มากน้อยแค่ไหนครับ?
ทั้งหมด จะเป็นความหมายเดียวกันได้หรือไม่ครับ?
ขออนุโมทนาทุกๆ ท่านครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรม เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใดภาษาใด แต่ถ้ามีโอกาสได้ฟังได้ศึกษาความจริงในภาษาของตนๆ ก็จะสามารถเข้าใจถูกเห็นถูกได้ เพราะพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แสดงให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ตรงตามความเป็นจริง
เมื่อกล่าวถึงคำใด ก็ต้องเข้าใจในคำนั้นให้แจ่มแจ้งชัดเจนจริงๆ โดยเฉพาะ ๒ คำที่กล่าวถึง คือ อารมณ์ กับ วัตถุ
อารมณ์ คือ สิ่งที่ถูกจิตรู้ หรือ สิ่งใดก็ตามที่จิตรู้ สิ่งนั้น เป็นอารมณ์ของจิตในขณะนั้น (เมื่อกล่าวถึงจิต ก็ต้องหมายรวมเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตด้วย)
อารมณ์ มีทั้งหมด ๖ อารมณ์ ได้แก่
รูปารมณ์ คือ สี
สัททารมณ์ คือ เสียง
คันธารมณ์ คือ กลิ่น
รสารมณ์ คือ รส
โผฏฐัพพารมณ์ คือ สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ได้แก่ เย็น ร้อน (ธาตุไฟ) / อ่อน แข็ง (ธาตุดิน) / ตึง ไหว (ธาตุลม)
ธัมมารมณ์ คือ อารมณ์ที่รู้ได้ทางใจอย่างเดียว ได้แก่ จิตทั้งหมด เจตสิกทั้งหมด ปสาทรูป ๕ สุขุมรูป ๑๖ นิพพาน และ บัญญัติ
เมื่อกล่าวโดยประมวลแล้ว ธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงทั้งหมด และ บัญญัติ เป็นอารมณ์ของจิตได้หมด
ส่วน วัตถุ นั้น มุ่งหมายถึง ที่เกิดของจิต ซึ่งจะต้องเป็นรูป ๖ รูป เท่านั้น ที่เป็นที่เกิดของจิตได้ ได้แก่
-จักขุปสาทรูป คือ ตา เป็นจักขุวัตถุ เป็นที่เกิดของจิตเห็นและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย
-โสตปสาทรูป คือ หู เป็นโสตวัตถุ เป็นที่เกิดของจิตได้ยินและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย
-ฆานปสาทรูป คือ จมูก เป็นฆานวัตถุ เป็นที่เกิดของจิตได้กลิ่นและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย
-ชิวหาปสาทรูป คือ ลิ้น เป็นชิวหาวัตถุ เป็นที่เกิดของจิตลิ้มรสและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย
-กายปสาทรูป คือ กาย เป็นกายวัตถุ เป็นที่เกิดของจิตที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย
-หทยรูป เป็นหทยวัตถุ เป็นที่เกิดของจิตอื่นทั้งหมดในภูมิที่มี ขันธ์ ๕ เว้นเฉพาะทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ ดวง เท่านั้น
[แต่คำว่า วัตถุ ในที่อื่นๆ ยังมีความหมายกว้างขวางมาก หมายถึง สิ่งต่างๆ ก็ได้ หมายถึง เรื่องที่เกิดขึ้น ก็ได้]
...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
อาจารย์คำปั่นอธิบายได้แจ่มแจ้งดีมากครับ
ขอขอบคุณและอนุโมทนาในกุศลจิตด้วยครับ