สติ : เมื่อไหร่จะระลึก?

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  1 ก.พ. 2563
หมายเลข  31512
อ่าน  778

ผู้ฟัง หมายความว่า การศึกษาพระธรรม ยังไม่มากพอที่จะเป็นปัจจัยให้สติระลึก สติก็ยังไม่ระลึก? แล้วถ้าหากว่า สติยังระลึกไม่ได้ ก็ให้ศึกษาพระธรรมต่อไป เพื่อให้เกิด ความเข้าใจเพิ่มขึ้นๆ มีทางเดียวเท่านั้น?

อ.สุจินต์ ท่านผู้ฟัง ศึกษาพระธรรม เพื่ออะไร? เพื่อละความไม่รู้ ... หรือ เพื่อที่จะระลึก?

ผู้ฟัง เพื่อละความไม่รู้ค่ะ

อ.สุจินต์ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ต้องเป็นห่วง เมื่อฟังพระธรรมจนกระทั่งเกิด "ความเข้าใจที่มั่นคงจริงๆ " สติ จะไม่ระลึกนั้น ... มีหรือ? แต่ถ้าฟังพระธรรมแล้วก็ยังไม่เข้าใจ แล้วจะไประลึกนั้น ... ถูกไหม? ถ้าฟังพระธรรมแล้วยังไม่เข้าใจ ... ก็ควรที่จะฟังให้เข้าใจขึ้นๆ ขณะที่กำลังเข้าใจขึ้นๆ นั้น คือ "การระลึก" เกิดแล้ว เพียงแต่ ไม่รู้ ว่า "สภาพธรรมที่มีลักษณะระลึก" เกิดแล้ว ซึ่ง ใช้ คำ เรียกว่า "สติ" แต่ "ณะที่กำลังฟังพระธรรมแล้วเข้าใจ" ไม่ใช่ "ขณะที่กำลังระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม" เพียงแต่ "รู้เรื่องของธรรมะ และ เข้าใจเรื่องของสภาพธรรมที่ได้ฟัง" นี่เป็น "สติ" ขั้นแรก จนกว่า ความเข้าใจจากการฟังพระธรรมจะมั่นคงจริงๆ จนกระทั่ง สติขั้นระลึก-รู้-ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิด-ปรากฏ ซึ่งเป็น "สิ่งที่มีจริงๆ " ขณะนั้น ก็สามารถที่จะรู้ว่า สิ่งที่มีจริงๆ นั้น ... มีจริงอย่างไร

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคฯ ทรงแสดง เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริง และ กำลังมี ในขณะนี้ด้วย.!

แสดงให้เห็นว่า "ความเข้าใจ" แต่ละระดับ จะมาก หรือ น้อย แค่ไหน ก็ต้องมาจาก "การสะสม" และ "ความเข้าใจ" คือ สะสมความเข้าใจในสิ่งที่กำลังมี ในขณะนี้...ทีละเล็ก...ทีละน้อย...

ผู้ฟัง ถ้าหากว่ายังไม่เข้าใจ แล้วพยายามที่จะไประลึกอย่างนี้ ก็จะยิ่งลำบาก.?

อ.สุจินต์ ถูกต้องค่ะ .... เหนื่อยเปล่า และ เสียเวลาด้วย!!

ผู้ฟัง ความเข้าใจ คือ การฟัง?

อ.สุจินต์ ฟังแล้ว - เกิดความเข้าใจค่ะ.! เมื่อสภาพธรรม-ที่เข้าใจ เกิดขึ้นสภาพธรรม-ที่เข้าใจนั้น ก็ต้องดับไป และต่อจากนั้น ก็เป็น "สภาพธรรมอื่นๆ " เช่น โลภะบ้าง โทสะบ้าง คือ กุศลจิต หรือ อกุศลจิต เกิดต่อไป ซึ่งก็แล้วแต่ "เหตุ-ปัจจัย" แต่ทั้งหมด เป็น "ธรรมะ" หมายความว่า เมื่อ "ปัญญา" มีกำลังมากพอ "ปัญญา" จะรู้ว่าสภาพธรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น สติ โลภะ โทสะ ฯลฯ ที่เกิด-ปรากฏ นั้นเป็น "ธรรม" คือ สภาพธรรมแต่ละประเภทๆ เท่านั้น ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน ใดๆ ทั้งสิ้น!!

ผู้ฟัง ถ้า "วิชชา" คือ ความรู้ หรือ ปัญญา เกิดขึ้น บุคคลนั้นก็อาจจะไม่รู้ ใช่ไหมครับ?

อ.สุจินต์ ถูกต้องค่ะ เช่น แม้จะมีสภาพแข็ง ปรากฏ ... ซึ่งเพียงปรากฏเล็กน้อย เป็นระยะเวลาที่สั้นมาก ปรากฏแล้ว - ดับไปทันที ผ่านไปแล้ว หมดไปแล้ว!! ยิ่งพยายามที่จะไประลึกถึงสภาพธรรมซึ่ง เกิด-ดับ-ผ่านไป-หมดไปแล้วมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็น "ตัวเรา" ... ที่พยายามไประลึกถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้ว.! เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ให้สติระลึก แต่ ไม่เข้าใจว่า สติ คืออะไร ยิ่งไปพยายามให้สติระลึก ก็เป็น "ตัวเรา" ที่พยายามที่จะไปทำ ยิ่งทำเท่าไหร่ ... ก็ "เป็นตัวเรา" ที่ทำ.!!!

ผู้ฟัง ขณะที่กุศลจิต เกิด ... ขณะนั้น เป็น "สติ" ใช่ไหมครับ?

อ.สุจินต์ เดี๋ยวก่อนนะคะ ... หมายถึงขณะไหนคะ? ขณะที่ "กุศลจิต" เกิด ขณะนั้น ไม่ใช่ขณะที่ "ลักษณะของสติ" ปรากฏ.! โดยมากมักจะ "ข้ามความเข้าใจ" คือ ข้ามความเข้าใจในความเป็นธรรมะ แต่มักจะ "เรียกชื่อ" เช่น คำว่า "สติ" ... รู้ชื่อ แต่ไม่รู้ว่า สติ คือ สภาพธรรม หรือ พยายามที่จะไปรู้ว่า อย่างนี้เรียกว่า "กุศล" หรือ อย่างนี้ เรียกว่า "อกุศล" แต่ ไม่รู้ "ลักษณะ" ที่เป็น "ธรรมะ" คือ "เรียกชื่อของสภาพธรรม" แต่ "ไม่รู้ ลักษณะที่เป็นสภาพธรรม" ความเป็นสภาพธรรมของสิ่งที่มีจริงๆ นั้น เกิดขึ้นได้ ก็เพราะมี เหตุ-ปัจจัย เมื่อเกิดแล้ว ก็ต้องดับไปทันที.!

โดยมาก "ข้ามการพิจารณา" ว่า แท้จริงแล้ว ... ไม่ว่าจะเป็นอะไรที่เกิด-ปรากฏ สิ่งนั้นเกิด-ปรากฏ เพราะมี "ปัจจัย" จึงเกิดขึ้น เมื่อหมดปัจจัย ก็ต้องดับไป เป็น ปกติ ธรรมดา และ "ธรรมะ" มีความหลากหลาย.! เช่น ขณะที่โลภะ-ความติดข้อง-พอใจ เกิดขึ้น ขณะนั้น ไม่ใช่ ขณะที่เห็น ถ้ามีความเข้าใจ ก็คือ เข้าใจ ว่า สภาพธรรมทั้ง ๒ ประเภทนี้ มีความต่างกัน คือ รู้จัก "ตัวธรรมะ" ที่ต่างกัน เพราะเหตุว่า การเห็น ก็เป็นสภาพธรรมประเภทหนึ่ง ส่วน โลภะ ก็เป็นสภาพธรรมอีกประเภทหนึ่ง แต่ ทั้ง ๒ ประเภท เป็นต้นนั้น ล้วนเป็น "ธรรมะ" ทั้งสิ้น แทนที่จะพยายามไปเรียกชื่อ ระบุชื่อ ว่า นี่คือ เห็น เป็น จักขุวิญญาณ นั่นเป็นโลภะ มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย หรือ โลภะที่ไม่มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย ฯลฯ หรือ พยายามที่จะไปคิดอะไรๆ แทนที่ "ควร"จะเข้าใจก่อน ว่า "ธรรมะ" คือ สิ่งที่มีจริงๆ เมื่อปรากฏ ก็ปรากฏ โดยมี "ลักษณะที่ต่างๆ กัน" รู้ ว่ามี "ลักษณะ" ต่างกัน ... แม้โดยไม่เรียกชื่อ.!


ข้อความทั้งหมด คัดจากกระทู้ ... ก่อนจะถึง...สติปัฏฐาน รวบรวม-เรียบเรียงโดย คุณพุทธรักษา : ขออนุโมทนาในกุศลวิริยะและขออุทิศส่วนกุศลที่ได้บำเพ็ญแล้ว แก่คุณพุทธรักษา (คุณปริศนา ตันทอง สมาชิกชมรมบ้านธัมมะ หมายเลข ๓๙๔๒ ผู้วายชนม์)


คลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่...

สติสัมปชัญญะและสติปัฏฐาน


  ความคิดเห็นที่ 5  
 
hetingsong
วันที่ 2 ก.พ. 2563

สาธุ ขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
peem
วันที่ 3 ก.พ. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 22 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
สิริพรรณ
วันที่ 26 ก.ค. 2567

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ