การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ

 
แต้ม
วันที่  11 ก.พ. 2563
หมายเลข  31541
อ่าน  1,210

การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ จำเป็นต้องนิมนต์พระมาฉันเช้าหรือเพลหรือเปล่าครับ จะใช้วิธีการนำเงินไปถวายวัดสร้างศาลา กุฎิ ฯลฯ หรือ สร้างสิ่งก่อสร้างที่เป็นสาธารณประโยชน์ หรือบริจาคการศึกษาได้หรือเปล่าครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 11 ก.พ. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้าที่ ๔๒๙

"เมื่อบุคคลให้ทาน กระทำการบูชาด้วยของหอมเป็นต้น แล้วให้ส่วนบุญว่า ขอส่วนบุญ จงมีแก่บุคคลชื่อโน้น หรือว่า ขอส่วนบุญจงมีแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ดังนี้ พึงทราบว่า เป็นบุญกิริยาวัตถุอันเกิดแต่การให้ส่วนบุญ"

ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ดีงามเท่านั้น ที่จะเป็นบุญจริงๆ แม้จะไม่ได้ถวายทานแก่พระภิกษุ การเจริญกุศลยังมีอีกมาก การทำบุญแม้กับคฤหัสถ์ด้วยกัน รวมถึงในประเด็นคำถามด้วย ก็สามารถกระทำได้ โดยที่ไม่ได้มีการให้เงินแก่พระภิกษุ เพราะพระภิกษุรับเงินและทองไม่ได้โดยประการทั้งปวง จะรับเพื่อตนเองหรือเพื่อสิ่งอื่น ก็ไม่ได้ หรือแม้แต่จะยินดีในเงินและทองที่ผู้อื่นเก็บไว้ให้ ก็ไม่ได้ แสดงถึงเพศที่สูงยิ่งที่ขัดเกลากิเลส จริงๆ เมื่อทำบุญแล้ว ก็สามารถอุทิศแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วได้ และ ที่สำคัญคือ เมื่อมีการฟังธรรม สนทนาธรรมแล้ว ก็อุทิศส่วนกุศลได้ โดยสรุปแล้ว คือ เมื่อได้เจริญกุศล อย่างหนึ่งอย่างใด ก็อุทิศส่วนกุศลได้ทั้งหมด

ความเข้าใจถูกเห็นถูก จะอุปการะเกื้อกูลให้คุณความดีทั้งหลายเจริญขึ้นในชีวิตประจำวัน ไม่ทำในสิ่งที่ผิด เมื่อได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง มั่นคงในเหตุในผล ก็ไม่ต้องหวั่นเกรงอะไรเลย สิ่งใดที่เคยทำตามๆ กันแบบผิดๆ เมื่อได้เข้าใจแล้ว ก็ยืนหยัดมั่นคงที่จะไม่ทำในสิ่งที่ผิดนั้นๆ อีกต่อไป ครับ

ข้อความบางตอนจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ มีดังนี้

แม้ว่าจะไม่ได้ทำกุศลนั้นเอง แต่ใครก็ตามที่ทำกุศล เกิดกุศลจิตอนุโมทนา (ชื่นชมยินดีในความดีของผู้อื่น) ไหม? ยินดีด้วยที่เขาได้ทำกุศล เพราะฉะนั้น ก็ให้ทราบว่ากุศล นอกจากจะทำเองแล้ว แม้ไม่ได้ทำ (ด้วยตัวเอง) แต่ยินดีในการที่คนอื่นทำ ขณะนั้นก็เป็นกุศล เพราะฉะนั้น ที่อุทิศส่วนกุศล อุทิศ แปลว่า เจาะจงจะให้ใคร ถ้าเป็นญาติที่สิ้นชีวิตแล้วบุคคลนั้นเกิดแล้วสามารถที่จะรู้ได้ เขาก็ยินดีที่ญาติยังระลึกถึงแล้วก็ทำสิ่งที่ดีเพื่อให้เขาได้เกิดอนุโมทนา เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่อนุโมทนา กุศล เป็นของผู้อนุโมทนา

กุศลที่ใครทำ ก็เป็นของคนนั้น แต่เมื่ออุทิศส่วนกุศลที่ได้ทำแล้วให้คนอื่นได้รู้และอนุโมทนา ก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้รู้จะอนุโมทนาหรือไม่ เขาไม่อนุโมทนาก็ได้ กุศลจิตก็ไม่เกิด ไม่ใช่ว่าเขาไม่อนุโมทนา เขาก็ยังได้กุศล ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะเหตุว่า กุศล เป็นสภาพของจิตที่ดีงาม

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
แต้ม
วันที่ 12 ก.พ. 2563

ขอบพระคุณครับ แต่ที่ผมไม่อยากนิมนต์พระมาฉันเช้าหรือฉันเพล เพราะมัคทายก จะต้องมีการแนะนำให้ใส่ซอง (เงิน) ถวายเป็นการส่วนตัวให้กับพระแต่ละรูปด้วย ถ้าไม่ถวาย ก็ดูจะเป็นการผิดธรรมเนียม ประเพณี ก็จะเกิดปัญหากับสังคม ผมคิดว่าผมจะไม่ทำบุญอุทิศกุศลให้แก่พ่อและแม่ของผม โดยนิมนต์พระมาฉันที่บ้านอีกต่อไป แต่จะทำบุญแบบอื่นที่ไม่ต้องถวายเงินพระเป็นการส่วนตัวครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Dusita
วันที่ 13 ก.พ. 2563

อนุโมทนาค่ะ..ในความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ที่จะไม่ให้เงิน กับ พระภิกษุ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
lovedhamma
วันที่ 23 ก.พ. 2563

ถ้าศึกษาธรรมะแล้วจะพบเลยว่า บุญในพระพุทธศาสนานั้นมีทั้งหมด 10 ประการ หรือที่รวมแล้วเรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ซึ่งเมื่อทำแล้วบุญทุกประเภทก็สามารถอุทิศได้ทั้งนั้น ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 22 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ