พระอภิธรรมพระวินัยเป็นของเทวดาไม่ใช่ของมนุษย์หรือ

 
lokiya
วันที่  27 ก.พ. 2563
หมายเลข  31589
อ่าน  790

วันนี้ผมสนทนากับญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่งหลังงานเลี้ยงภัตตาหารพระ พอผมถามว่าพระรับเงินผิดพระวินัยหรือป่าว ญาติท่านนั้นก็อ้างว่าพระต้องสร้างโบสถ์วิหาร ค่าน้ำค่าไฟพระต้องใช้เงิน ไม่ใช้เงินอยู่ไม่ได้ พอผมบอกว่าให้ไปศึกษาพระสูตรใหม่ ไม่มีตรงไหนทรงอนุญาตให้ใช้เงินเลย พุทธองค์มีสัพพัญญุตญาน จึงบัญญัติห้ามไว้ ก็ด่าผรุสวาจาขึ้นมึงกูหาว่าผมไม่เคยบวช พระวินัยเป็นของเทวดา ใช้กับมนุษย์ไม่ได้ ด่าผมเสียๆ หายๆ ด้วยคำหยาบคาย หาว่าผมโง่เป็นสัตว์กินหญ้า เด็กพึ่งเกิด พอคุยถึงเรื่องอภิธรรมก็บอกว่าเป็นธรรมะของเทวดา นำมาใช้จริงไม่ได้ ผมอยากถามท่านวิทยากรว่าพระอภิธรรมไม่ได้มีไว้ให้มนุษย์ศึกษาหรือครับ? และถ้าพระวินัยเป็นของเทวดา พระมนุษย์ใช้พระวินัยแบบไหน?


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 28 ก.พ. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ทั้งประเด็นพระวินัย เรื่อง ภิกษุรับเงินและทองไม่ได้ และ เรื่องพระอภิธรรม
ขอเชิญศึกษาได้ดังนี้ ครับ

[เล่มที่ 3] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค-ทุติยภาค เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๙๔๐

พระบัญญัติ

ภิกษุใด รับ ก็ดี ให้รับ ก็ดี ซึ่งทอง เงิน หรือ ยินดีทอง เงิน อันเขาเก็บไว้ให้ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.

พระภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ไม่รับเงินและทอง รับเงินและทองไม่ได้ เป็นผู้ปราศจากเงินและทองอย่างสิ้นเชิง เพราะท่านเหล่านั้น ต้องสละทรัพย์สินเงินทองก่อนบวชแล้ว ดังนั้น เมื่อบวชเป็นพระภิกษุแล้ว จึงรับเงินและทองไม่ได้ เงินทองไม่ควรแก่เพศบรรพชิตโดยประการทั้งปวง ไม่มีพระพุทธดำรัสแม้แต่คำเดียวที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสให้พระภิกษุรับเงินและทองหรือไปแสวงหาเงินและทอง

ตามข้อความจาก

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ มณิจูฬกสูตร ว่า

“ทองและเงินไม่ควรแก่สมณศากยบุตร สมณศากยบุตรย่อมไม่ยินดีทองและเงิน สมณศากยบุตร ห้ามแก้วและทอง ปราศจากทองและเงิน ... เรามิได้กล่าวว่า สมณศากยบุตรพึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงินโดยปริยายอะไรเลย”

พระภิกษุ คือ เพศที่สูงกว่าคฤหัสถ์ เป็นเพศที่ขัดเกลากิเลสเป็นอย่างยิ่ง เป็นผู้เว้นโดยทั่ว ได้แก่ เว้นจากกิเลส เว้นจากความติดข้องยินดีพอใจในกาม จะเห็นได้ว่าผู้ที่ออกบวชเป็นบรรพชิตนั้น ต้องสละทุกสิ่งทุกอย่าง คือ สละอาคารบ้านเรือน สละทรัพย์สมบัติ สละวงศาคณาญาติ บวชเป็นบรรพชิตเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองจริงๆ ท่านสละอาคารบ้านเรือนแล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่มีเรือน รวมถึงสละทรัพย์สมบัติทั้งปวงด้วยไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทอง เป็นต้น เมื่อสละสิ่งเหล่านี้แล้ว ก็ไม่ควรรับสิ่งเหล่านี้ ไม่ควรมีสิ่งเหล่านี้ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิตโดยประการทั้งปวง

ตามความเป็นจริงแล้ว บุคคลผู้ที่จะบวชจะต้องเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยน้อมไปในการบวชจริงๆ รู้จักตนเองและพิจารณาตนเองโดยละเอียดว่า สามารถที่จะดำรงเพศที่มีคุณธรรมสูงกว่าคฤหัสถ์ได้หรือไม่? เพศบรรพชิตเป็นเพศที่สูงกว่าคฤหัสถ์เป็นอย่างยิ่งที่สูงกว่านั้น สูงเพราะคุณธรรม เนื่องจากว่าผู้ที่เป็นบรรพชิต จะต้องมีความมั่นคงที่จะสละกิเลสทุกอย่างทุกประการ มากกว่าผู้ที่เป็นคฤหัสถ์ พร้อมกันนั้นก็จะต้องเป็นผู้มีความอดทน มีความเพียรที่จะศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจอย่างถูกต้อง น้อมประพฤติในส่วนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาต และงดเว้นจากสิ่งที่พระองค์ทรงห้ามโดยประการทั้งปวง นี้คือชีวิตที่แท้จริงของบรรพชิต ซึ่งมีความแตกต่างจากคฤหัสถ์ ถ้าบรรพชิตใดมีความเป็นอยู่ไม่ต่างกับคฤหัสถ์ ยังต้องการทรัพย์สมบัติ ยังมีจิตใจเหมือนคฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือนทุกประการ นั่นก็ไม่ใช่วิสัยของผู้ที่มีอัธยาศัยที่จะเป็นบรรพชิตที่แท้จริงถ้าต้องการทรัพย์สินเงินทอง อยากมีทรัพย์สินเงินทอง ก็ไม่ต้องบวช เพราะผู้ที่เป็นพระภิกษุจะต้องเป็นผู้บริสุทธิ์จริงๆ จึงควรแก่การครองผ้ากาสาวพัสตร์ซึ่งเป็นเพศที่สูงยิ่ง ครับ

อภิธรรม ก็คือ สิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ที่เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าเป็นธรรม ธรรม นั่นแหละ เป็นอภิธรรม เพราะละเอียด ลึกซึ้ง ปฏิเสธความเป็นสัตว์บุคคลอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะกล่าวถึงเรื่องใดก็ตาม ก็ไม่พ้นไปจากอภิธรรมเลย เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก ความดี ความชั่ว เป็นต้น ล้วนเป็นธรรมที่มีจริง ที่เป็นอภิธรรมทั้งสิ้น พระอภิธรรมจึงไม่ได้อยู่ในตำรา แต่เป็นชีวิตจริงๆ ทุกขณะ เพราะฉะนั้นสำคัญที่การเริ่มต้นด้วยการฟังด้วยการศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย การศึกษาพระธรรมที่ถูกต้องนั้น ต้องไม่ใช่แบบวิชาการ แต่เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายกิเลส มีความเห็นผิด ความไม่รู้ เป็นต้น เพราะมีการทรงตรัสรู้ความจริง และทรงแสดงความจริงที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สัตว์โลกจึงมีโอกาสได้ฟังและมีความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง

ในพระสุตตันตปิฎก กล่าวถึง "พระอภิธรรม" ไว้ด้วย ดังข้อความบางตอนใน มหาโคสิงคสาลสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ว่า

"ท่านพระสารีบุตรกล่าวกะท่านพระมหาโมคคัลลานะ ว่า ท่านโมคคัลลานะ เราจะขอถามท่านว่า ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ราตรีแจ่มกระจ่างไม้สาละ มีดอกบานสะพรั่งทั้งต้น กลิ่นคล้ายทิพย์ ย่อมฟุ้งไปท่านโมคคัลลานะ ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร.? ท่านพระมหาโมคคัลลานะตอบว่า ท่านพระสารีบุตร ภิกษุสองรูป ในพระศาสนานี้กล่าว อภิธรรมกถา เธอทั้งสองนั้น ถามกันและกันแล้ว ย่อมแก้กันเอง ไม่หยุดพักด้วยและธรรมกถาของเธอทั้งสองนั้น ย่อมเป็นไปด้วย ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวัน...พึงงามด้วยภิกษุ เห็นปานนี้แล"

ข้อความในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เรื่องยมกปาฏิหาริย์ มีว่า

ลำดับนั้น พระศาสดาประทับนั่งในท่ามกลางเทวบริษัท ทรงปรารภพระมารดาเริ่มตั้งอภิธรรมปิฎกว่า "กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา อพฺยากตา ธมฺมา" ดังนี้เป็นต้น ทรงแสดงอภิธรรมปิฎกโดยนัยนี้เรื่อยไปตลอด ๓ เดือน


ประโยชน์อยู่ที่การฟังการศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เมื่อไม่ขาดการฟังการศึกษา ความรู้ความเข้าใจ ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นอย่างแน่นอน ทำให้มีความมั่นคงในเหตุในผลของธรรมจนกว่าจะประจักษ์แจ้งได้จริงๆ ว่าธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ใครจะพูดอย่างไรก็ตามก็เป็นเรื่องของคนอื่น เพราะเหตุว่า เมื่อเป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้ว ต้องฟังคำของพระองค์ ไม่ใช่ฟังคำของคนอื่น และไม่คิดธรรมเอาเองด้วย ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
lokiya
วันที่ 28 ก.พ. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Dusita
วันที่ 28 ก.พ. 2563

กราบ อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Dechachot
วันที่ 29 ก.พ. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Selaruck
วันที่ 29 ก.พ. 2563

ผู้ที่ยังโง่เขลาเบาปัญญาย่อมมีความเห็นนเช่นนั้น นอกจากไม่ศึกษาแล้วยังตำหนิผู้ที่เขาศึกษาเสียอีก

มีผู้คนมากมายเช่นนี้ แต่เราควรยิ่งศึกษาพระธรรมคำสอนที่แท้จริงนั้น มิใช่เพื่อคนอื่น แต่เพื่อตนเป็นอันดับแรก

กราบอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
yogototo
วันที่ 2 มี.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 23 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Witt
วันที่ 31 ต.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Witt
วันที่ 31 ต.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ