สนทนาปัญหาสารพัน : ธัมมะ กับ โอ ปวีร์ ตอนที่ 1

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  29 ก.พ. 2563
หมายเลข  31592
อ่าน  2,133

สนทนาปัญหาสารพัน : ธัมมะ กับ โอ ปวีร์ ตอนที่ 1

คุณโอ ปวีร์ คชภักดี นักร้อง นักดนตรี และนักแต่งเพลงวัยรุ่นที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางของวงการเพลงในปัจจุบัน จากเพลง พยายาม และเพลง คนที่ไม่ใช่ ที่โด่งดัง ให้เกียรติเป็นแขกรับเชิญในรายการสนทนาปัญหาสารพัน ซึ่ง คุณโอ ปวีร์ มาร่วมสนทนาแบบสบายๆ กับท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ถึงเรื่องราวความเป็นมาในชีวิตกับการได้พบและได้มาศึกษาพระธรรมคำสอนที่ถูกต้องของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่น่าสนใจอย่างยิ่ง จากครั้งแรกที่คุณโอเล่าว่า เคยเห็นท่านอาจารย์ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ๑๑ แล้วก็คิดว่า ทำไมผู้หญิงถึงมาตอบเรื่องธรรมะด้วย หลังจากนั้นไม่นานก็ได้กลับไปบวชให้พ่อกับแม่ที่จังหวัดพัทลุง ตามความตั้งใจที่มีมาแต่เดิม แล้วก็ได้ฟังเสียงของผู้หญิงท่านนี้อีกครั้ง จากพระภิกษุที่อยู่กุฏิข้างๆ ซึ่งท่านเปิดฟังอย่างดังๆ ทุกๆ เช้า เหมือนอยากให้คนอื่นได้ยินด้วย ในช่วงเช้าก่อนเวลาที่จะออกไปบิณฑบาต ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจยิ่งทั้งหมดของคุณโอ ปวีร์ คชภักดี ได้ที่ลิงค์ด้านล่างนี้

ข้อความบางตอนจากการสนทนา :

คุณโอ ปวีร์ ปกติต้องบอกเลยว่า ก็ได้มีโอกาสไป (ให้) สัมภาษณ์สื่อบ้าง แต่ว่ามันเกี่ยวกับเพลงของเรา เกี่ยวกับงานของเราในวงการ อันนี้เป็นครั้งแรกที่ได้มาคุยในเรื่องที่หลายๆ คนอาจจะไม่ทราบมาก่อน ว่าผมก็สนใจ คือเป็นเรื่องของศาสนา คำสอน-ธรรมะ นั่นเองครับ ก็รู้สึกเป็นเกียรติมากครับที่ได้มาวันนี้

ผศ.อรรณพ แล้วคิดว่า ทั้งแฟนเพลงแล้วก็คนที่รู้จักหรือแม้แต่คนทั่วไป ถ้าเขาเห็นรายการนี้ เขาคงแปลกใจนิดๆ ว่า เอ๊ะ! ทำไม โอ ปวีร์ วันนี้มาแปลก แปลก แต่เป็นความจริง แปลกแต่จริง แล้วเป็นความจริงจริงๆ เลย อยากให้คุณโอได้เล่าสักนิดหนึ่ง ว่าในวัยเด็ก วัยเรียน เป็นมาอย่างไรบ้าง

คุณโอ ปวีร์ คือผมเป็นคนที่ ต้องบอกก่อนเลยว่าผมเป็นคนดื้อ เวลาใครบังคับ หรือใครพยายามให้เราอยู่ในกรอบหรือทำตามๆ กับเขา บางทีผมจะมีแง่บางแง่ในใจ ว่าทำไมเราต้องทำอย่างนั้น ทำไมเราต้องกระทำแบบนั้นออกมา ตั้งแต่เด็กๆ จะเป็นคนแบบนี้ แล้วทำให้เราตามหาสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เราสนใจ ด้วยตัวเราเอง เพราะว่า สุดท้ายแล้ว เหมือนกับว่า ตอนเด็กๆ บางทีเรามีคำถามหลายอย่าง แล้วก็เราถามผู้ใหญ่ บางทีผู้ใหญ่ก็ไม่สามารถที่จะตอบคำถามเหล่านั้นให้มันชัดเจน ให้ผมมีความเข้าใจ แล้วก็ได้รู้ว่ามันเป็นแบบนั้นเพราะแบบนี้นะ หนึ่งสองสาม แต่ว่า ที่ผ่านมา ไม่มีใครสามารถทำให้เราเข้าใจได้ อะไรประมาณนี้ ก็เป็นสิ่งที่อยู่ในใจ (ตั้งแต่เด็กๆ ) แล้วผมก็เป็นคนดื้อ ก็คือ เรามีสิ่งที่เราชอบอยู่แล้ว

พอเข้ามหาวิทยาลัย มันมีหลายๆ อย่าง ที่ทำให้ผมเปลี่ยนมุมมองทางพระศาสนา เพราะว่า วันแรกที่ผมได้ฟังคำของท่านอาจารย์ มันเป็นวันที่ผมก็ไม่คาดคิดเหมือนกัน คือ ครั้งแรกเลย วันนั้นผมจำได้ว่าผมเรียนประมาณปีสาม แล้วผมก็ไปปาร์ตี้กับเพื่อน ก็มีการดื่มอะไรแบบนี้ ประมาณตีสี่ผมกลับมาถึงหอ คือภาพชัดมาก ตอนนี้ผมยังจำได้ ผมกลับมาที่หอพัก แล้วผมกำลังจะนอน แล้วผมก็เปิดโทรทัศน์เป็นรอบสุดท้าย ก่อนที่ผมจะปิด ผมกดๆ ๆ สุดท้ายแล้วมันมาที่ช่อง ๑๑ มาช่อง ๑๑ เลย แล้วคุณนิรันดร์กำลังยืนอยู่ คุยเหมือนกับโกรธ ใครสักคนหนึ่ง (ในรายการบ้านธัมมะ) มันมีประเด็นที่ตอนนั้น มศพ.กำลังจัดสนทนาเรื่องอะไรสักอย่าง แล้วคุณนิรันดร์แบบ รู้สึก ทำไมล่ะครับ ทำไมต้องแบบนี้แบบนั้น พอผมเห็นว่ามันน่าสนใจดี ผมก็ดูอีกสักแป๊บหนึ่ง แล้วก็ไปที่ท่านอาจารย์ ซึ่งตอนนั้น ผมแบบ แล้วทำไมผู้หญิงต้องมาตอบเกี่ยวกับธรรมะด้วย แต่ สิ่งหนึ่งคือ ผมไม่ได้เห็นภาพแล้วพาให้ผมเปลี่ยนช่อง ผม "ฟังเนื้อหาที่ท่านอาจารย์ตอบ" คือผมไม่ได้ฟังคำถามคุณนิรันดร์แล้วผมเห็นท่านอาจารย์แล้วผมเปลี่ยน แต่ผมฟังท่านอาจารย์พูดก่อน แล้วท่านอาจารย์ก็พูดมีเหตุมีผล หนึ่งสองสามสี่ แล้วมันเป็นครั้งแรกที่ผมเห็นท่านอาจารย์ แต่ผมไม่รู้ว่าท่านอาจารย์ชื่ออะไร และพอหลังจากนั้นผมดูจนจบ จนเขาบอกว่า มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา หลังจากนั้นผมก็ปิดทีวีแล้วก็นอน ผมจำได้ว่ามูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา แค่นั้นจบ

ท่านอาจารย์ สนใจไหมคะ?
คุณโอ ปวีร์ คือ ตอนนั้น มันอยู่ในใจแล้วครับอาจารย์ คือมันเซฟ (Save) ไว้เลย มันเซฟไว้เลย หลังจากนั้น ผมต้องกลับพัทลุงเพื่อไปบวชให้พ่อกับแม่ ซึ่งผมตั้งใจไว้ก่อนแล้ว
ผศ.อรรณพ ตอนนั้นปี ๓ ที่ ม.รังสิต เรียนดนตรีอยู่ แล้วคืนหนึ่งก็ต่อรายการสุดท้าย ก็เป็นการนอนใกล้รุ่งของคนหนุ่ม แล้วก็ได้ไปเจอช่อง ๑๑
คุณโอ ปวีร์ ลังจากนั้นผมก็กลับไปใต้ แล้วก็ไปบวชเลย แต่ว่า ผมก็ไม่คิดว่าจะได้ยินเสียงท่านอาจารย์อีก (หัวเราะ)
ผศ.อรรณพ เสียงท่านอาจารย์ตามไปอีก

คุณโอ ปวีร์ ใช่ครับ ตามไปพัทลุง (หัวเราะ) ตอนนั้น ผมบวชที่วัดคูหาสวรรค์ ที่จังหวัดพัทลุง ก่อนที่ผมจะบิณฑบาตทุกเช้า จะมีเสียงผู้หญิงคนหนึ่งลอยมา ลอยมาจากกุฏิข้างๆ แบบมืดๆ เลย ประมาณตีสีครึ่ง จะมีเสียงผู้หญิงคนหนึ่งลอยมา แบบ จิต เจตสิก สิ่งที่มีจริง แล้วก็จะมีเสียงแต๊ง เสียงอินเดีย แต๊ง แตง แต่ง แล้วก็บอกว่า เทปสนทนาที่อินเดีย แล้วเราฟังทุกวัน ก่อนที่เราจะเดินไปบิณฑบาต เราจะฟังทุกวัน ได้ยินแล้วแบบ คือตอนนั้นผมเริ่มสนใจคำสอนแล้ว เริ่มที่อยากจะหาข้อมูลว่า พระพุทธเจ้าสอนอะไร?แล้วผมก็มีหนังสือหลายๆ เล่ม และมีหลายๆ เล่มก็พูดถึงจิต เจตสิก แต่แบบบางมาก บางแบบผมไม่ได้ความรู้ คำว่า จิต เจตสิกนี่ ผมไม่ได้ความรู้เลย เขาจะพูดถึงความคิดของเขา ดึงเอาคำสอนมาประดับในหนังสือ แล้วใส่ความคิดของเขาเพื่อสร้างให้มันดูสวยงาม คนอ่านแล้วคล้อยตามไปกับสิ่งที่เขาต้องการถ่ายทอด แต่จริงๆ เนื้อหาไม่มีการสอนให้เรา "เข้าใจถึงคำสอน" เพราะจริงๆ คำสอนของพระพุทธเจ้า ตรงที่สุดแล้ว ถ้าเราจริงใจในการเผยแพร่ คนที่อ่านจะได้ประโยชน์จริงๆ ถ้าเราบอกถึงความหมายอะไรอย่างนี้

แต่สิ่งที่ผมอ่านตอนนั้น คือประโยชน์น้อยมาก จนสุดท้ายเรามาได้ยินกับเสียงของผู้หญิงคนหนึ่ง ที่มีภิกษุกุฏิข้างๆ เปิดทุกเช้า พอหลังจากนั้นประมาณสองวัน ผมก็ไปกวาดลานวัด แล้วภิกษุรูปนั้นก็มาข้างๆ ผม มานั่งข้างๆ เพราะเราอยู่ใกล้กัน ผมก็ถามว่า ที่ท่านเปิดทุกเช้า เป็นเสียงของใคร? เขาบอกว่า ท่านอาจารย์สุจินต์ ท่านเก่งมากนะเรื่องปริยัติ ลองฟังสิ ท่านขอแผ่นซีดีมาจากมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
ผศ.อรรณพ อ๋อ ท่านเปิดแผ่นซีดีของ มศพ. ทุกเช้าท่านเปิดเอง
คุณโอ ปวีร์ ใช่ครับ ท่านเปิดเอง ท่านเปิดทุกเช้าเลย เปิดดังด้วย แบบเปิดให้คนอื่นได้ยิน รอบๆ ข้าง

ผศ.อรรณพ โอ้โฮ น่าอนุโมทนาท่าน
คุณโอ ปวีร์ แต่ว่าตอนนี้ท่านเสียแล้ว (มรณภาพแล้ว) แต่ว่าผมก็ยังนึกถึงท่านตลอด เพราะว่า พอท่านบอกว่าจากมูลนิธิฯ นี่ ผมก็จำได้แล้วว่า ท่านอาจารย์สุจินต์ วันนั้นที่เราเห็น
ผศ.อรรณพ ตอนนั้นยังไม่ได้รู้จักชื่อท่านอาจารย์ รู้แต่ว่าเป็นมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา แต่มาทราบชื่อท่านอาจารย์จากพระภิกษุที่ท่านเปิดซีดีนี่
คุณโอ ปวีร์ ใช่ครับ พอหลังจากนั้น คือในใจตอนนั้น ผมอยากสึก อยากสึก อยากสึก (หัวเราะ) เรานับวันรอ เมื่อไหร่เราจะสึกเสียที ตอนแรกผมนึกแบบ พอเราเข้าไป เราอยากจะไปสักพักหนึ่ง เดือนหนึ่ง แต่พอได้ฟังท่านอาจารย์ คือเราอยากที่จะสึก แล้วก็ไป..
ผศ.อรรณพ เพื่อจะมาศึกษา
คุณโอ ปวีร์ ใช่ครับ แต่ว่าก็ต้องอยู่ให้ครบ ก็เลยอยู่ครบ
ผศ.อรรณพ ถามคุณโอนิดหนึ่ง ว่าพอได้ทราบว่าเสียงนี้คือท่านอาจารย์ เราก็ฟังอยู่หลายวันใช่ไหม?
คุณโอ ปวีร์ คือทุกวันเลยครับ ตั้งแต่ได้ยินเสียง คือพระภิกษุรูปนั้นเปิดทุกวันครับ ผมก็ฟัง ฟัง ฟัง ผมจะตื่นเป็นอัตโนมัติเลย เพราะเราตื่นประจำ พอตีสี่ครึ่งนี่เราก็ตื่นแล้ว แล้วได้ยินเสียงอาจารย์มาก่อนเลย วันนี้เรื่องจิต เจตสิก เรื่องรูป คุย สนทนากันกับใคร อะไรอย่างนี้
ผศ.อรรณพ ท่านอาจารย์ครับ แปลกนะครับท่านอาจารย์ คนที่เขาได้ยิน โดยเฉพาะวัยเด็กๆ นี่ เขาได้ยิน จิต เจตสิก รูป แล้วเขาคงย้ายหนีแล้วนะครับ
ท่านอาจารย์ ค่ะ แต่แปลกตั้งแต่คุณโอบวช คิดเองใช่ไหม?
คุณโอ ปวีร์ ใช่ครับ คือ ตอนนั้น เหมือนเราอยากที่จะศึกษา จริงๆ คือ อยากที่จะเข้าใจ อยากที่จะรู้ว่า เข้าไปนี่ เราคงจะได้เรียนรู้ ได้ทำความเข้าใจอะไรมากขึ้น เพราะตอนนั้นผมก็ไม่ได้มีช่องทางที่จะศึกษา
ผศ.อรรณพ พอตอนไปบวชแล้วได้ยินเสียงท่านอาจารย์ทุกเช้านี่แหละ ก็เลยรู้ว่าต้องมาศึกษา
คุณโอ ปวีร์ ใช่ครับ พอหลังจากนั้นผมก็สึก แล้วก็ขึ้นมากรุงเทพฯ เลย
ผศ.อรรณพ ขึ้นมาแล้วรู้หรือว่ามูลนิธิฯ อยู่ที่ไหน?
คุณโอ ปวีร์ คือ ผมใช้กูเกิ้ลก่อนครับ (พอค้น) มันก็ขึ้นมาเลย แล้วผมก็ตามแผนที่ ตอนนั้นผมอยู่รังสิต เมืองเอก ก็นั่งรถเมล์มา แล้วต่อเรือข้ามมา แล้วก็เดินมาตามซอกซอยที่เราดูในกูเกิ้ล วันนั้นหัวล้าน เดินๆ มา (หัวเราะ) หัวโล้นแล้วคิ้วก็บาง เดินเด่นมาเลย ดุ่มๆ มาในซอย แล้วก็หันไปมอง อ้าว มูลนิธิศึกษาฯ ก็เอ๊ะ เล็กนิดเดียวเอง ก็เดินเข้าไป วันนั้นจำได้ เขามีเลี้ยง เป็นวันพระใหญ่ครับ เป็นครั้งแรกที่ได้มานั่งฟัง

มีครั้งหนึ่ง ผมอยากจะเล่าให้ฟัง วันนั้น ก่อนที่ผมจะบวช ผมกลับไปที่บ้าน และผมรู้มาว่า มีวัดๆ หนึ่งมีพระอยู่ประมาณรูปหนึ่ง อยู่บนเขาในจังหวัดพัทลุง (มีคนบอกว่า) เขาเก่งมาก เขาเข้าใจคำสอน ผมก็ ไปๆ ๆ แล้วผมก็ปั่นจักรยานขึ้นไปบนเขา เพื่อที่จะถามคำถามเขาว่า "ธรรมะคืออะไร" วันนั้นผมจำได้ เย็นๆ โพล้เพล้แล้ว ใกล้จะมืด ผมเดินขึ้นไปบนเขาคนเดียว แล้วก็ไปคุยกับพระ ผมถามว่า ท่านครับ ธรรมะคืออะไรครับ แล้วท่านก็ตอบว่า ก็คือนี่แหละ ทุกสิ่งทุกอย่าง คือต้นไม้ คือภูเขา ทุกอย่างนี่แหละคือธรรมะ
ผศ.อรรณพ พอใจกับคำตอบนั้นไหม? ณ วันนั้น
คุณโอ ปวีร์ คือ ผม อ๋อเหรอครับ มันเป็นแบบนั้นหรือ ไม่ตอบอะไรเลย คือทุกอย่างหรือ? คือภูเขา คือต้นไม้นี่หรือ? นี่คือธรรมะหรือ? เขาบอกผมแบบนั้น แต่ผมยังไม่เคลียร์เลย
ผศ.อรรณพ ฟังยังไม่เคลียร์ แต่ก็ไม่รู้ว่าธรรมะจริงๆ คืออะไร? ก็ต้องแสวงหาต่อไป
คุณโอ ปวีร์ ใช่ครับ ผมตั้งใจจะไปสนทนากับเขา คือนั่งแล้วก็อยากที่จะเข้าใจ ธรรมะคืออะไร? โน่นนี่นั่น แต่สุดท้ายก็ไม่ได้คำตอบ แล้วก็มาได้คำตอบกับท่านอาจารย์ ว่าธรรมะคือสิ่งที่มีจริง
ผศ.อรรณพ ที่ไม่ใช่ต้นไม้ ไม่ใช่ภูเขา (หัวเราะ)

คุณโอ ปวีร์ ใช่..สิ่งที่มีจริงขณะนี้ด้วย กำลังปรากฏ!! แต่ละขณะ ล่วงไป ล่วงไป แล้วเราก็ไม่รู้!!! เราก็เลยอยากศึกษาต่อที่นี่ จนมาถึงทุกวันนี้
ผศ.อรรณพ อันนี้คุณโอตอบได้ชัดเจนมากว่า อะไรที่โดนใจ ก็คือ ได้เข้าใจว่า ธรรมะนี่คืออะไร ที่ท่านอาจารย์ท่านได้แสดงตามพระธรรม เพราะจากที่เราได้ยินว่า ถ้าบอกว่าต้นไม้ก็คือธรรมะ ภูเขา อะไรต่ออะไร คน สิ่งของ รอบๆ ใครๆ เขาก็คิดได้กันทั้งนั้น
คุณโอ ปวีร์ ใช่ครับ ใครๆ ก็คิดได้จริงๆ แล้วก็ไม่ได้ตอบเลยว่า จิต เจตสิก คืออะไร แล้วทำไมถึงมีคำนี้ออกมา ที่จริงแล้วคืออะไร แล้วอยู่ที่ไหน? โน่นนี่นั่น คือทุกอย่างเป็นคำถามในใจของผมหมดเลย
ผศ.อรรณพ ท่านอาจารย์ครับ ไม่ค่อยเจอวัยรุ่นแบบนี้เลย น้อยคนที่จะคิดว่า ธรรมะคืออะไร? ได้คำตอบมาก็ยังรู้ว่าไม่ใช่!! จนกว่าจะได้เจอ ครับท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ ค่ะ ก็เป็นตัวเอง ที่จะต้องเป็นแบบนี้ ไม่ใช่ว่าใครตอบอะไรก็พอใจ พอแล้ว แค่นี้ถูกแล้ว!! แต่ต้องเข้าใจกว่านั้นอีก และต้องเข้าใจจริงๆ ด้วย!!!
ผศ.อรรณพ คนส่วนใหญ่เขาจะพอใจกับคำตอบ ว่าธรรมะคือธรรมชาติ ต้นไม้ ภูเขา โต๊ะ เก้าอี้ อะไรอย่างนี้ ตรงนี้คนเขาจะชอบ (คำตอบ) อย่างนี้กันเยอะครับท่านอาจารย์ เพราะมันง่ายดี แล้วก็ หยุดความสนใจไว้แค่นั้น
คุณโอ ปวีร์ ใช่ ส่วนมาก เพื่อนๆ หรือคนรอบข้าง เหมือนที่ผมพูดไปก่อนหน้านี้ คือ เราต้องตั้งต้นคำว่า "ความเข้าใจ" จริงๆ คำว่า "ความเข้าใจ" คือ มันสามารถตอบเราได้ทั้งซาย ทั้งขวา ทั้งหน้า ทั้งหลัง คือไม่ใช่ความเข้าใจแบบว่า คุณจำคำนี้ไว้ ธรรมะคือธรรมชาติ ธรรมชาติแล้วเขาถามว่า อ้าวแล้วธรรมชาติ คนอื่นเขาคิดได้ อันนี้ก็คิดได้ แล้วทำไมมันแค่เป็นธรรมชาติล่ะ มันเป็นแค่ต้นไม้หรือ? แล้วมันสามารถมีอะไรให้เราเข้าใจได้มากกว่านั้นไหม? แล้วต้นไม้คืออะไร? ถ้าเราไปจับต้นไม้มันรู้สึกเป็นอย่างไร? และถ้าเราปิดตา เราเห็นต้นไม้ไหม? มันไม่สามารถทำให้เราตอบได้ทั้งซ้าย ทั้งขวา ทั้งหน้า ทั้งหลัง เพียงแต่ว่า ถ้าต้นไม้คือสิ่งที่มีจริงนี่ "สิ่งที่มีจริง" คือ อะไร? ขณะนี้มีไหม? แล้วสิ่งที่มีจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ มีอะไรอีกบ้าง? ลึกซึ้งถึงขนาดไหน?
ผศ.อรรณพ นี่คือสิ่งที่โดนใจ ธรรมะคือสิ่งทีมีจริง ที่ปรากฏ
คุณโอ ปวีร์ ใช่ครับ มันตอบได้ทั้งซ้าย ทั้งขวา ทั้งหน้า ทั้งหลัง ทั้งบน ล่าง ลึก
ผศ.อรรณพ ตอบได้หมด
คุณโอ ปวีร์ ช่ครับ มันตอบได้ถึงที่สุด

ท่านอาจารย์ ค่ะ ก็สะสมมาที่จะเข้าใจ "คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ว่า แค่นี้ไม่ใช่!!
ผศ.อรรณพ ท่านอาจารย์พูด ผมอนุโมทนาคุณเลย ว่าสะสมมาที่จะเข้าใจคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังก่อนหน้ามานั้น ไม่ใช่
ท่านอาจารย์ ยังไม่ใช่!!!
คุณโอ ปวีร์ พอหลังจากนั้น เราก็พิจารณามากขึ้น เมื่อเราเข้าใจแล้ว พระธรรมลึกซึ้งมาก ลึกจริงๆ คือ ผมก็ฟังเพื่ออย่างน้อย เหมือนกับ เราได้ "ปักหมุด" แล้ว ที่เหลือก็เป็นกำไรของชีวิตแล้ว เราก็ฟังไป ฟังไป ฟังไป
ผศ.อรรณพ คำว่า "ปักหมุด" หมายความว่า?
คุณโอ ปวีร์ คือ เรารู้แล้วว่า ที่นี่ คำสอนนี้ ถูกต้อง
ผศ.อรรณพ แสดงว่า เมื่อคุณโอ ได้เข้าใจว่า เริ่มต้นว่า "ธรรมะคืออะไร" อย่างที่ท่านอาจารย์อธิบายว่า กำลังมี กำลังปรากฏ ขณะนี้ ก็เรียกว่า "โดนใจ" แล้วก็ "ปักหมุด" คือ มีความเข้าใจที่มั่นคงแล้วว่า แนวทางตรงนี้แหละ
คุณโอ ปวีร์ นี่แหละคือสิ่งที่ตามหามา ๒๐ กว่าปี แล้วก็ศึกษาไปเรื่อยๆ อ่านหนังสือ ฟัง
ผศ.อรรณพ แล้วคุณโอศึกษาจากแหล่งอื่น อาจจะเป็นสำนักอื่น หรือว่าเป็นหนังสืออื่น อะไรมาประกอบกับที่มูลนิธิฯ
คุณโอ ปวีร์ ไม่แล้วครับ ก่อนหน้าที่จะเริ่มมาศึกษาที่มูลนิธิฯ ผมอาจจะมีบ้าง ของพระท่านโน้นท่านนี้ นักเขียนท่านโน้นท่านนี้ แต่สุดท้าย ทุกอย่างโดนตีตกหมด ด้วยเหตุ ด้วยผล ด้วยการคิด พิจารณา มันเทียบไม่ได้เลย ถ้าเกิดเราตั้งต้นว่า "ธรรมะ" ต้อง "เริ่มจากความเข้าใจ" ทุกอย่าง เมื่อเราพิจารณาแล้ว เราจะเห็นเลยว่า เล่มนี้ตก เล่มนี้ตก เล่มโน้นตก เล่มโน้นตก จนสุดท้ายแล้ว ไม่มีอะไรเหลือเลย นอกจากความจริงของพระธรรม ที่เหลืออยู่เท่านั้น

ผศ.อรรณพ ท่านอาจารย์ครับ ฟังแล้วผมปลื้มปีติว่า ผู้ที่สั่งสมความเข้าใจมา คำสอนใดในโลก อีกกี่โลกก็ตาม ไม่อาจจะมาเทียบอะไรกับคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เลย
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่สะสมมา ก็พอใจ คิดว่าพอแล้ว แต่ความจริงไม่ใช่!! ต้องมีมากกว่านั้นอีก แล้วก็ต้องตรงและชัดเจน แล้วก็ทำให้เราเข้าใจขึ้น!!
ผศ.อรรณพ เพราะฉะนั้น เมื่อใช้คำว่า "ปักหมุด" นั่นคือ ความเข้าใจที่ประกอบด้วยความมั่นคง ที่จะศึกษา
ท่านอาจารย์ ที่รู้ว่า อะไรถูก อะไรผิด

- ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านคุณโอ ปวีร์ คชภักดี อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
- ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ โรงแรมชัยคณาธานี อ.เมือง จ.พัทลุง ๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
- ขอแนะนำสมาชิกชมรมบ้านธัมมะ มศพ. คุณโอ - ปวีร์ คชภักดี
- ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ ร้านอาหารสำรับใต้ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๐
- พระเชตวันยามเหมันต์ เพลงใหม่จากวงดนตรีบ้านธัมมะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
petsin.90
วันที่ 29 ก.พ. 2563

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิต

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 29 ก.พ. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ