ศีลข้อที่ 4

 
Natcharee
วันที่  27 มี.ค. 2563
หมายเลข  31666
อ่าน  934

จริงหรือเปล่าที่ว่าคนโกหก สังคมให้อภัยยากมาก หนักยิ่งกว่าศีลข้อที่ 1 เสียอีก แล้วจะมีวิธีไหนที่จะให้ผู้คนกลับมาเชื่อใจได้อีก


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 27 มี.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต เล่ม ๓๗ - หน้าที่ ๔๙๕ - ๔๙๘

๑๐.สัพพลหุสสูตร

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มุสาวาทอันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้วกระทำให้มากแล้วย่อมยังสัตว์ให้เป็นไปในนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในเปรตวิสัย วิบากแห่งมุสาวาทอย่างเบาที่สุด ย่อมยังการกล่าวด้วยคำไม่เป็นจริงให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัมผัปปลาปะ (พูดเพ้อเจ้อ) อันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้วกระทำให้มากแล้วย่อมยังสัตว์ให้เป็นไปในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในเปรตวิสัย วิบากแห่งสัมผัปปลาปะอย่างเบาที่สุด ย่อมยังคำไม่ควรเชื่อถือให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์.

จากข้อความในพระไตรปิฎก แสดงว่าผู้ที่พูดเท็จเมื่อครบกรรมบถ ผลของกรรมอย่างเบา คือ ทำให้ผู้นั้นถูกกล่าวหาด้วยคำไม่จริง

ส่วนการพูดเพ้อเจ้อ เมื่อครบกรรมบถ ผลของกรรมอย่างเบาที่สุด ทำให้คนไม่เชื่อถือในคำพูด ดังนั้น การกระทำบาป ไม่ได้หมายความว่าจะทำยังไงให้คนเชื่อถือ ไม่เชื่อถือ ให้สังคมเชื่อถือ แต่ตามความเป็นจริง การไม่ทำบาปเพราะรู้ว่ามีโทษ กรรมก็ย่อมถึงเวลาหมดสิ้นไป ไม่ให้ผลตลอด

ที่สำคัญ การอบรมปัญญาเป็นสิ่งที่สำคัญ ที่เป็นหนทางดับกิเลส จะไม่ให้ทำบาปก็อนัตตา บาปเกิดแล้ว เป็นอะไร นี้คือหนทางดับกิเลส คือ เข้าใจถูกว่าแม้ขณะนั้นก็เป็นธรรมไม่ใช่เรา แทนที่จะทำยังไงไม่ให้วิบากเกิดขึ้นเพราะถ้ามีกิเลสก็ยังทำเหตุเหล่านี้ที่จะได้รับวิบากเกิดขึ้นอีกแน่นอนในอนาคต ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 27 มี.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การทำอกุศลกรรม ไม่ว่าจะเป็นประเภทใด ก็มีโทษทั้งนั้น ทั้งการฆ่าสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ประเภทใดก็ตาม ก็มีโทษ และ ทั้งการกล่าวเท็จ ด้วย

เป็นความจริงที่ว่า สัตว์โลกผู้ที่ได้เกิดมามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดำเนินไปในแต่ละวันๆ นั้น คงไม่มีใครอยากจะถูกคนอื่นฆ่า (หรือแม้กระทั่งการถูกเบียดเบียน ไม่ถึงกับสิ้นชีวิต ก็ไม่ปรารถนา) แต่ว่า เวลาที่บุคคลหนึ่งบุคคลใด จะฆ่าบุคคลอื่น ซึ่งต้องเป็นด้วยอำนาจของอกุศลจิตที่มีกำลัง ทำให้ลืมคิดถึงบุคคลหรือสัตว์ที่จะถูกฆ่าว่าบุคคลหรือสัตว์นั้นย่อมไม่มีความปรารถนาที่จะถูกฆ่าเลยไม่ว่าจะเป็นสัตว์ ประเภทใดๆ ก็ตาม นี่เป็นความจริง

-การกล่าวเท็จทั้งๆ ที่รู้นั้น แสดงให้เห็นถึงกำลังของกิเลสในชีวิตประจำวัน ไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่จะกล่าวเท็จก็ยังกล่าวได้ สำหรับกล่าวเท็จนั้น ถึงแม้ว่าบุคคลอื่นจะไม่รู้ แต่ตัวเองย่อมรู้ก่อนคนอื่นว่าตนเป็นคนกล่าวเท็จ การกล่าวเท็จพูดให้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ล้วนมีเหตุปัจจัย คือ เพราะความติดข้องต้องการในกาม (สิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่) ในลาภ ยศ เป็นต้น และการกล่าวเท็จนั้น เป็นวจีทุจริต เป็นอกุศลกรรม ผลอย่างหนักทำให้ไปเกิดในอบายภูมิ ถ้าเป็นผลอย่างเบา เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ย่อมทำให้ได้รับคำพูดที่ไม่จริงจากผู้อื่น ขณะที่เป็นอกุศลนั้น ไม่เป็นประโยชน์ ไม่นำความสุขมาให้เลย มีแต่ให้เกิดทุกข์อย่างเดียวเท่านั้น บุคคลผู้ที่กล่าวเท็จทั้งๆ ที่รู้ ที่จะไม่ทำความชั่วอย่างอื่นนั้นไม่มีเลย เนื่องจากว่าเป็นผู้ไม่มีความละอายไม่มีความเกรงกลัวต่อบาปอกุศล และผู้ที่มีปกติกล่าวเท็จ ทำอกุศลกรรมอย่างอื่นแล้ว ก็ยังสามารถกล่าวเท็จ เพื่อปกปิด หรือ กลบเกลื่อนความผิดของตนองได้อีก เป็นการสะสมโทษเพิ่มขึ้นไปอีก และโทษนั้น ก็เป็นโทษที่จะให้ผลที่ไม่ดีกับตนเอง โดยที่ไม่มีใครทำให้เลย มีการเกิดในอบายภูมิ เป็นต้น

ที่น่าพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง คือ ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชน ผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลส ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล จะประมาทกำลังของกิเลสไม่ได้เลยแม้แต่นิดเดียว เพราะเมื่อมีเหตุปัจจัย ย่อมทำอกุศลกรรมประการต่างๆ ได้ ถ้าเหตุปัจจัยพร้อม ดังนั้น พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จึงเป็นเตือนที่จะให้ผู้ศึกษาเห็นโทษของอกุศลแม้เล็กน้อย, อกุศลแม้เล็กน้อย ก็พึงเห็นว่าเป็นโทษเป็นภัย ไม่ควรสะสมให้มีมากขึ้น และควรอย่างยิ่งที่จะมีความจริงใจในการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมและน้อมประพฤติปฏิบัติตามเพื่อขัดเกลากิเลส แม้ว่าจะเคยทำผิดมา พระธรรม ก็เป็นเครื่องเตือนว่า ไม่ควรจะไปทำผิดอย่างนั้นอีก ก็ค่อยๆ ขัดเกลากิเลสของตนเองต่อไป ไม่ว่าบุคคลอื่นเขาจะมองอย่างไรคิดอย่างไรก็ตามก็เป็นเรื่องของบุคคลอื่น แต่ก็ขอให้ได้เป็นคนดีและฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ครับ

…อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 23 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ