การให้ทานต่างกัน ผลเหมือนกันหรือไม่
ถ้าเนื้อนั้นอุปมาว่าเป็นเนื้ออย่างเดียวกัน นายพรานผู้วางเนื้อเป็นเหยื่อล่อให้สัตว์มากิน เพื่อที่ตนฆ่าแล้วนำไปขาย กับบุรุษผู้วางเนื้อไว้เพื่อหวังให้สัตว์ที่ผ่านมาได้กิน เพื่อประทังชีวิต เจตนาการให้ทานของสองคนนี้ ให้ผลของกุศลกรรม ผลของวิบากเหมือนกันหรือไม่ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
จิตเกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับ สภาพจิตที่ป็นกุศล อกุศลก็เกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็ว กุศล จะเป็นอกุศลไม่ได้เลย อกุศลก็จะเป็นกุศลไม่ได้เลย เพราะธรรมเป็นสัจจะความจริงที่ไม่เปลี่ยนลักษณะ อันแสดงถึงความเป็นอภิธรรม คือ ธรรมที่ละเอียดยิ่ง ตรงตามสภาพธรรมนั้น ขณะที่คิดจะวางกับดักฆ่าเนื้อ จับเนื้อ เพื่อให้สัตว์อื่นกิน มีเจตนาฆ่า มีเจตนาเบียดเบียนเกิดขณะหนึ่ง ดับไป ขณะนั้นเจตนาทุจริต คือ เจตนาฆ่า หรือ มีเจตนาจับ แต่ จิตอีกขณะหนึ่งก็มีเจตนาที่เพื่อให้สัตว์อื่นได้กินเนื้อนั้น ก็อีกเจตนาหนึ่ง ที่เป็นกุศลจิตก็ได้ เป็นต้น การพิจารณาธรรม คือ ต้องพิจารณาทีละขณะจิตที่เกิดดับอย่างรวดเร็ว ที่ไม่ใช่การพิจารณาเรื่องราวรวมๆ เพราะ การมีเรื่องราวได้ ก็เพราะมีการเกิดขึ้นของจิตทีละขณะนั่นเอง เมื่อพิจารณาทีละขณะจิต ย่อมจะเข้าใจถูกว่าแท้จริงเป็นอย่างไร
สมจริงตามที่พระสูตร ธนัญชานิสูตร ซึ่งธนัญชานิพราหมณ์ ได้กล่าวกับท่านพระสารีบุตรว่า เขาทำทุจริตก็เพื่อเลี้ยงดูครอบครัวก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดี ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ท่านทำทุจริต จะด้วยเหตุผลใด เหตุผลเพื่อคนอื่น นายนิรยบาล จะยกโทษให้ท่านเพราะท่านทำผิดเพื่อคนอื่นหรือเปล่า ซึ่ง ธนัญชานิพราหมณ์ก็ตอบท่านพระสารีบุตรว่าไม่เป็นเช่นนั้น
เชิญคลิกอ่านข้อความพระไตรปิฎกใน ธนัญชานิสูตรได้ที่ลิงก์นี้
ทำไม่ดี แม้อ้างว่าต้องเลี้ยง มารดา บิดา ผลที่ได้รับย่อมไม่ดี[ธนัญชานิสูตร]
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
[เล่มที่ 55] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ ๒๖๗
มตกภัตตชาดก
“ถ้าสัตว์ทั้งหลาย พึงรู้อย่างนี้ว่า ชาติสมภพ (การเกิด) นี้เป็นทุกข์ สัตว์ก็ไม่ควรฆ่าสัตว์ เพราะว่าผู้มีปกติฆ่าสัตว์ ย่อมเศร้าโศก”
(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก มตกภัตตชาดก)
[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ หน้า ๑๗๗
"ผู้ใดแสวงหาความสุขเพื่อตน แต่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายผู้ใคร่ความสุข ด้วยท่อนไม้ ผู้นั้น ย่อมไม่ได้ความสุขในโลกหน้า ผู้ใดแสวงหาความสุขเพื่อตน ย่อมไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายผู้ใคร่ความสุขด้วยท่อนไม้ ผู้นั้น ย่อมได้ความสุขในโลกหน้า"
([เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน ทัณฑสูตร)
การฆ่าสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นใครทำ ก็เป็นอกุศลกรรมทั้งสิ้น ไม่มีการยกเว้น ไม่มีข้ออ้าง เพราะฆ่า ก็คือ ฆ่า เป็นอกุศลกรรม ให้ผลเป็นทุกข์โดยส่วนเดียวเท่านั้น เมื่ออกุศลกรรมให้ผล ก็เป็นผลที่ไม่ดีไม่น่าปรารถนไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจเท่านั้น
ถ้ามีความเข้าใจพระธรรม เห็นโทษเห็นภัยของอกุศล ก็จะทำให้ถอยกลับจากอกุศล ไม่กระทำอกุศลกรรมได้ มีปัญญาเป็นที่พึ่ง ดำรงชีวิตด้วยการประกอบอาชีพที่สุจริตไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน ครับ
...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...