เจริญสติอย่างนี้ถูกหรือเปล่า

 
pisitmink
วันที่  23 มี.ค. 2550
หมายเลข  3167
อ่าน  1,055

ขอรบกวนถาม เรื่องเกี่ยวกับการเจริญสติปัฏฐานนะครับ ขณะที่ผมนั่งทำงานอยู่แล้วสติเกิด ผมระลึกถึงแข็ง ในจุดที่แขนกระทบกับโต๊ะ หลังจากนั้น เสียงโทรศัพท์ดังขึ้น ผมระลึกถึงเสียง เอื้อมมือไปรับโทรศัพท์ ก็ระลึกถึงการไหวของมือ จากนั้นก็หลงลืมสติในตอนพูดคุย สักครู่เครียดในเรื่องที่คุย ก็ระลึกถึงความโกรธที่เกิดขึ้น ในจิต แล้วก็หลงลืมสติต่อ ไม่ทราบว่าแบบนี้คือการเจริญสติ ที่ถูกต้องหรือเปล่าครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
devout
วันที่ 23 มี.ค. 2550

ต้องเป็นความเข้าใจของตนเองจริงๆ เลยนะคะ เพราะสภาพธรรมนั้น เกิดดับอย่างรวดเร็วมาก สติเป็นอนัตตา เป็นโสภณเจตสิก ที่เกิดร่วมกับโสภณจิตเท่านั้น สติปัฏฐาน เป็นการระลึกรู้ ที่สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด ที่เป็นปรมัตถ์ คือรูปหรือนามที่กำลังปรากฎ โดยไม่เลือก ไม่เจาะจง ไม่จดจ้อง ไม่ต้องการ แล้วแต่เหตุปัจจัยคือ สติและสัมปยุตธรรม ที่เกิดร่วมด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wannee.s
วันที่ 23 มี.ค. 2550

ที่สำคัญอยู่ที่ปัญญารู้ หรือว่าเป็นเรารู้ เช่น สติเกิดระลึกรู้ตรงลักษณะของความโกรธ ไม่ใช่เรา หรือโกรธยังเป็นเราโกรธ สติปัฏฐาน เป็นอนัตตา รู้ได้เฉพาะตน

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
pisitmink
วันที่ 23 มี.ค. 2550

คือวันหนึ่งๆ เกิดขึ้นไม่บ่อยหรอกครับ บางครั้งเกิดขณะที่ อาบน้ำ ถ้าสติเกิดก็จะไประลึกกาย ที่กระทบน้ำที่อุ่น สลับกับการเผลอคิดนึก สักครู่ก็ระลึกถึงเสียงน้ำ ที่กระทบพื้น สลับกับความรู้สึกของจิต ที่สดชื่นแล้วก็เผลอลืมสติ บางครั้งก็ไปรู้กายที่ไหว สลับกับการเผลอคิดเรื่องงาน แต่ไม่สามารถบังคับให้เกิดบ่อยๆ ได้ แล้วแต่สติจะเกิด แต่ถ้าเกิด จะรู้ความต่างของ การเห็น หรือการได้ยิน หรีอการกระทบสัมผัส ว่าต่างจากตอนหลงลืมสติ แต่ไม่รู้จะอธิบายยังไง

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
devout
วันที่ 23 มี.ค. 2550

ขณะที่สติปัฏฐานเกิด สัมปยุตธรรมในขณะนั้น โดยทั่วไปคือมรรคมีองค์ ๕ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ โดยเว้นวีรติ ๓ ซึ่งจะเกิดขึ้นทีละดวง เมื่อมีการวิรัติทุจริตในขณะนั้น และจะเกิดขึ้นพร้อมกันทั้ง ๓ ดวงในโลกุตรมรรคจิต ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากองค์ธรรมของสติปัฏฐานแล้ว การที่สติปัฏฐานเกิด แล้วยังเคลือบแคลงสงสัย ไม่แน่ใจ อธิบายไม่ถูก จะเรียกว่า เป็นการ รู้ชัด ในสภาพธรรมนั้นๆ ได้หรือไม่? ถ้าเป็นสติ ปัฏฐานแล้วจะไม่สงสัยเลยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 23 มี.ค. 2550

สติปัฏฐาน เป็นเรื่องของปัญญา ดังนั้น ขณะที่ระลึกรู้อย่างนั้น ถามว่าปัญญารู้อะไรครับ สติปัฏฐานที่ถูกต้อง เมื่อเกิดย่อมรู้ว่าขณะนั้นเป็นเพียงธัมมะไม่ใช่เรา จึงสามารถจะละคลายความยึดถือว่า เป็นตัวตนหรือสัตว์บุคคลได้ครับ คนที่ไม่ได้ศึกษาเขาก็รู้ว่า นี่เสียงโดยไม่ต้องคิด รู้ว่านี่กลิ่น แต่ต่างกับบุคคลที่อบรมสติปัฏฐานอย่างไร ต่างตรงที่ว่า ถ้าไม่ใช่สติปัฏฐาน ก็เป็นเรานั่นแหละ ที่รู้ว่านี่เสียง ก็ไม่ได้ละความยึดถือว่าเป็นสัตว์บุคคลตัวตน ดังนั้น การรู้ลักษณะของสภาพธัมมะว่าไม่ใช่เรา จึงต่างกับการคิดนึกถึงสภาพธัมมะ ที่ดับไปแล้ว แต่ไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธัมมะนั้นที่ดับไปแล้วว่าไม่ใช่เรา ค่อยๆ ฟังไปนะครับ

ขันติเป็นเครื่องตัดรอนคนพาล

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
medulla
วันที่ 24 มี.ค. 2550

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
pisitmink
วันที่ 24 มี.ค. 2550

ความมีตัวตนของผม เกิดเสมอตอนที่ผมไม่มีสติ แต่ตอนที่ระลึกได้ ณ เสี้ยววินาทีสั้นๆ มันไม่มีตัวตนแน่ๆ เพราะมันมีแต่สภาพรู้ แต่ถ้ามันเกิดได้บ่อยๆ และต่อเนื่องได้ มันคงละความมีตัวตนได้ แต่ผมไม่สามารถบังคับมันได้ แต่ที่ผมไม่แน่ใจคงเป็นเพราะผมเพิ่งมาศึกษาธรรมะ ได้ฟัง mp3 อ.สุจินต์สอนในเรื่องสติปัฏฐาน ๔ เมื่อปีที่แล้วนี้เอง ผมจึงเห็นว่ามันเร็วเกินไปที่ สติจะระลึกรู้ได้ แต่ผมว่าผมฟังแล้วเข้าใจนะครับ ความจริงอีกเรื่องหนึ่ง ที่ผมมาศึกษาทั้งๆ ที่ ผมยังกินเหล้าเมายาอยู่นี้ เป็นเพราะผมได้ยินประโยคเด็ดของ อ.สุจินต์ ที่เคยพูดถึงคนที่ยังกินเหล้าอยู่ ก็สามารถศึกษาธรรมได้ เป็นเพราะอดีตชาติเคยสั่งสมมา แหม มันช่างถูกกิเลสผม อย่างจัง เพราะถ้าจะให้ผมหักดิบ เลิกทันทีเลยคงไม่ไหวแน่ แต่ทุกวันนี้ผมก็ค่อยๆ ละคลายค่อยๆ ถอยห่างแล้วครับ ต้องกราบขอบพระคุณ อ.สุจินต์ อย่างสูง ที่ทำให้ผมเข้าใจในธรรมะลึกซึ้งขึ้น ทุกวันนี้ติดเสียงอาจารย์แล้วครับ ตื่นก็ฟัง ว่างก็ฟัง ทำงานก็เสียบหูฟัง ก่อนนอนก็ยังฟังครับ จะฟังต่อไปจนกว่าจะหายสงสัยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ปุถุชนคนหนึ่ง
วันที่ 24 มี.ค. 2550

ขออนุโมทนาค่ะ ที่ท่านรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง คนเรามีกิเลสด้วยกันทั้งนั้น แต่สิ่งแรกที่ควรละ คือ ความเห็นผิด การฟังพระธรรมจะช่วยให้ท่านละความเห็นผิดได้ทีละเล็กทีละน้อยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 19 ส.ค. 2567

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 19 ส.ค. 2567

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ