ทวิเหตุกบุคคล ติเหตุกบุคคล

 
orawan.c
วันที่  28 มี.ค. 2563
หมายเลข  31674
อ่าน  1,100

เรียน อาจารย์

จากกลุ่มสนทนาธรรมออนไลน์ สงสัยว่า ผู้ที่ปฏิสนธิด้วยทวิเหตุกจิต สามารถอบรมปัญญาขั้นปริยัติ และสติปัฏฐานได้หรือไม่ หรือเฉพาะติเหตุกบุคคลเท่านั้น

ขอบคุณและอนุโมทนาค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 28 มี.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ติเหตุกบุคคล คือ ผู้ปฏิสนธิด้วยเหตุ ๓ คือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และ อโมหเหตุคือ ปัญญา บุคคลประเภทนี้สามารถอบรมเจริญปัญญาถึงขั้นรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในชาตินั้นได้ ตัวอย่างของผู้ที่ปฏิสนธิประกอบด้วยเหตุ ๓ แล้วได้บรรลุธรรม คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลาย เพราะฉะนั้น บุคคลผู้ได้บรรลุธรรม ต้องปฏิสนธิจิตประกอบด้วยเหตุ ๓ คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ (ปัญญา) แต่ประเด็นที่น่าพิจารณาต่อ คือ แม้จะปฏิสนธิประกอบด้วยเหตุ ๓ ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องบรรลุธรรมเสมอไป ยกตัวอย่างเช่น ท่านพระเทวทัต ปฏิสนธิด้วยเหตุ ๓ แต่เป็นผู้ถูกลาภสักการะครอบงำ กระทำอนันตริยกรรม ไปเกิดในอเวจีมหานรก

สำหรับ ทวิเหตุกบุคคล คือ ผู้ที่ปฏิสนธิประกอบด้วยเหตุ ๒ คือ อโลภะ และ อโทสะ ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ไม่สามารถได้ฌาน ไม่สามารถบรรลุธรรมในชาตินั้น ได้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของพระธรรม สะสมการได้ยินได้ฟังพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ความเข้าใจถูกเห็นถูกก็เจริญขึ้นได้ อบรมเจริญสติปัฏฐานได้ สำคัญอยู่ที่ว่ามีความเข้าใจอย่างถูกต้อง แต่ไม่สามารถถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เพียงได้สะสมอุปนิสัยที่ดีเป็นที่พึ่งต่อไป

เราไม่สามารถทราบได้ว่าเราปฏิสนธิประกอบด้วยเหตุ ๒ หรือ เหตุ ๓ แต่เมื่อมีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ก็ไม่ควรจะปล่อยโอกาสนั้นให้ล่วงเลยไป ควรอย่างยิ่งที่จะสะสมปัญญาต่อไป ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย เพราะเราไม่สามารถที่จะรู้ได้เวลาของการฟังพระธรรม ในชาตินี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด ครับ

ขอเชิญคลิกฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ เป็นประโยชน์เกื้อกูลอย่างยิ่ง ครับ

ปฏิสนธิ-ทวิเหตุก หรือ ติเหตุก

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 29 มี.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ประสาน
วันที่ 30 มี.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
สิริพรรณ
วันที่ 30 มี.ค. 2563

กราบอนุโมทนาขอบพระคุณมากค่ะ

ธัมมัสสวนสูตร

ว่าด้วยอานิสงส์แห่งการฟังธรรม ๕ ประการ

[๒๐๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในการฟังธรรม ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ

ผู้ฟังย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ๑

ย่อมเข้าใจชัดสิ่งที่ได้ฟังแล้ว ๑

ย่อมบรรเทาความสงสัยเสียได้ ๑

ย่อมทำความเห็นให้ตรง ๑

จิตของผู้ฟังย่อมเลื่อมใส ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในการฟังธรรม ๕ ประการนี้แล.

เป็นความจริงแท้ค่ะ

อ่านเพิ่มติมที่

อานิสงส์แห่งการฟังธรรม [ธัมมัสสวนสูตร]

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 7 ม.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ