วิจิกิจฉา
กราบเรียนถามค่ะ
การฟังพระธรรมที่แสดงโดยสาวก แล้วเกิดความสงสัยว่า จะตรงกับคำสอนที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ หรือไม่ ถือว่าเป็น วิจิกิจฉา หรือเปล่าคะ
กราบขอบพระคุณค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
วิจิกิจฉา มีลักษณะที่สงสัย ลังเลใจ ตัดสินใจไม่ได้ในเรื่องของสภาพธรรม มีความคิดเห็นเป็น ๒ อย่าง อุปมาเหมือนทาง ๒ แพร่ง เช่น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีคุณจริงหรือไม่ นรก สวรรค์ ชาติหน้ามีจริงหรือไม่ บาปบุญมีจริงหรือไม่ และผลของบาปบุญให้ผลได้จริงหรือไม่ วิจิกิจฉาเจตสิกเกิดกับอกุศลจิตประเภทโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์เพียงดวงเดียวเท่านั้น
วิจิกิจฉา โดยทั่วไป จึงมุ่งหมายถึง ความลังเลสงสัย ในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ในสิกขา สงสัยในขันธ์ที่เป็นอดีต สงสัยในขันธ์ที่เป็นอนาคต สงสัยในขันธ์ที่เป็นอดีตและอนาคต สงสัยในปฏิจจสมุปบาท ดังนั้น จึงมุ่งหมายถึง ความลังเลสงสัยในเรื่องสภาพธรรมด้วยเป็นสำคัญ แต่ถ้าสงสัยในเรื่องทั่วๆ ไป เช่น เรื่องราวทางโลกที่ไม่เกี่ยวกับสภาพธรรม เช่น สงสัยว่า ๔ บวก ๕ เป็นเท่าไหร่ ความสงสัยนี้ไม่ใช่วิจิกิจฉา ครับ
เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ...
ดังนั้น ถ้าสงสัยในข้อธรรมว่าพระสาวกแสดงธรรมตรงกับพระพุทธเจ้าหรือไม่ ก็ไม่พ้นจากวิจิกิจฉา ซึ่งเป็นธรรมดาที่ยังจะต้องเกิด
ซึ่งผู้ที่จะละ ความลังเลสงสัยจนหมดสิ้น คือ พระโสดาบัน แต่ก่อนจะถึงความเป็นพระโสดาบัน ก็อาศัยพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง และปัญญาที่เจริญขึ้น ก็ค่อยๆ ละ ความลังเล สงสัยได้ ทีละเล็กละน้อย พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงพระธรรมที่จะค่อยๆ ละความลังเลสงสัย ด้วยธรรม ๖ ประการ ดังนี้
[เล่มที่ 14] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 325
ธรรมสำหรับละวิจิกิจฉา
อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๖ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อละวิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) คือ ๑. ความสดับมาก ๒. การสอบถาม ๓. ความชำนาญในวินัย ๔. ความมากด้วยความน้อมใจเชื่อ ๕. ความมีกัลยาณมิตร ๖. การเจรจาแต่เรื่องที่เป็นที่สบาย.
ความสดับมาก เพราะเป็นผู้ฟังพระธรรมมากด้วยความเข้าใจในพระธรรม เมื่อมีความเข้าใจพระธรรมมากขึ้น เข้าใจว่าทุกอย่างเป็นธรรม เป็นธรรมดา ย่อมค่อยๆ ละคลายความไม่เชื่อ ความสงสัยในพระพุทธเจ้า พระธรรมได้ เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรมจึงเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่จะละคลายความสงสัยเสียได้
การสอบถาม เมื่อไม่เข้าใจ ก็สอบถามและเมื่อได้เข้าใจในคำตอบ ปัญญาเจริญขึ้นจึงละคลายความสงสัยในสิ่งที่ถามและในพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้
ความชำนาญในวินัย เพราะเข้าใจถึงเหตุและผลของพระพุทธองค์ ที่ทรงแสดงตามความเป็นจริงในส่วนอื่นๆ ย่อมละคลายความสงสัยเสียได้
ความน้อมใจเชื่อ หมายถึง น้อมใจด้วยศรัทธาในพระพุทธเจ้า พระธรรม เมื่อมีศรัทธาย่อมละคลายความสงสัยเสียได้
ความมีกัลยาณมิตร เพราะอาศัยผู้ที่ความรู้ ความเข้าใจพระธรรมและที่สำคัญคือเป็นผู้มีคุณธรรมย่อมสามารถเกื้อกูลบุคคลนั้นได้ ทำให้ละคลายความสงสัยได้
การเจรจาแต่เรื่องที่เป็นที่สบาย การสนทนาพูดคุยถึงพระธรรมของพระพุทธเจ้าสนทนาในคุณพระรัตนตรัยย่อมทำให้เกิดศรัทธา เกิดความเข้าใจในพระธรรมย่อมละคลายความสงสัยในพระรัตนตรัยได้ครับ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ความสงสัยมีจริงๆ ตราบใดก็ตามที่ยังไม่ใช่พระอริยบุคคล ยังไม่พ้นไปจากความสงสัย เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้วได้แก่ วิจิกิจฉาเจตสิก สงสัยในเรื่องของสภาพธรรมเพราะยังไม่มีความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง จึงสงสัย แต่เมื่อได้เข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริงแล้ว ก็ย่อมไม่สงสัยในสภาพธรรมนั้นๆ
คำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัส เป็นคำจริง เป็นคำอนุเคราะห์เกื้อกูลเพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้อง แก่สาวก คือ ผู้ได้ฟังคำสอนของพระองค์ เมื่อเข้าใจอย่างถูกต้อง เห็นประโยชน์ของความเข้าใจถูกที่จะแพร่หลายมากขึ้น ก็กล่าวแสดงเปิดเผยความจริง คล้อยตามคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกประการ ดังนั้น คำจริง ไม่ว่าจะเป็นบุคคลใดกล่าว ก็เป็นคำจริง ไม่เปลี่ยนแปลง ถ้าได้เริ่มศึกษา เป็นผู้มีเหตุมีผล ความเข้าใจถูกเห็นถูกก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น
จุดประสงค์ของการฟังพระธรรม เพื่อเข้าใจ ต้องตรง พระธรรมละเอียดลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่ง เราไม่สามารถจะเข้าใจข้อความในพระไตรปิฎกและอรรถกถาได้ทั้งหมด เข้าใจแค่ไหนก็แค่นั้น ตามกำลังปัญญาของแต่ละคน ซึ่งเมื่อไม่ขาดการฟัง การศึกษา ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นไปทีละเล็กทีละน้อย เพราะจะให้เข้าใจโดยตลอดก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เมื่อสงสงสัย จึงการสอบถามสนทนาก็ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ คือ เข้าใจแจ่มแจ้งขึ้น นอกจากจะเป็นประโยชน์สำหรับตนเองแล้ว ยังจะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่นได้ด้วย เพราะไม่ว่าจะฟัง อ่าน สนทนา สอบถาม ก็เพื่อจุดประสงค์เดียว คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูกตรงตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ เท่านั้น ครับ
...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...