สมาทานศีล 8 ด้วยตนเองที่บ้าน

 
ปาณิสรา
วันที่  30 มี.ค. 2563
หมายเลข  31681
อ่าน  31,499

ขอรบกวนท่านที่สามารถให้คำแนะนำได้โปรดช่วยอนุเคราะห์ตอบคำถามต่อไปนี้

1. ขั้นตอน ลำดับ และคำกล่าวสมาทานศีล 8 ด้วยตนเองที่บ้านที่เหมาะสมที่ควรเป็นอย่างไรคะ เนื่องจากดิฉันเคยแต่อาราธนาศีลโดยมีภิกษุเป็นผู้ให้ศีล และจากที่ศึกษาในหนังสือสวดมนต์ด้วยตนเอง ยังไม่แน่ใจว่าในบางวรรคที่มีภิกษุเป็นผู้กล่าวจะต้องทำเช่นไร รวมถึงมีบางวรรคที่มีความหมายว่า "ตลอดวันหนึ่งคืนหนึ่ง" ต้องปรับแก้อย่างไร เพราะตั้งใจถือศีล 8 เป็นระยะเวลามากกว่าหนึ่งวันหนึ่งคืน

2. เมื่อต้องการลาสิกขากลับมาถือศีล 5 มีขั้นตอนและคำกล่าวสมาทานอย่างไรคะ

รบกวนด้วยค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 30 มี.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำคัญที่จุดประสงค์จริงๆ ว่าเพื่ออะไร เป็นเรื่องของการขัดเกลากิเลสจริงๆ สำหรับการรักษาอุโบสถศีล ไม่ได้จำกัดที่รูปแบบหรือวิธีการ แต่อยู่ที่สภาพจิตใจของผู้ที่รักษา การมีเจตนางดเว้น ๘ ข้อ ก็ชื่อว่ามีเจตนารักษาศีล ๘ แล้ว ที่สำคัญอยู่ที่การมีโอกาสได้ฟังพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก พร้อมกับความตั้งใจที่จะสมาทานงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ จากการลักทรัพย์ จากการประพฤติในสิ่งที่ไม่ประเสริฐ จากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล จากการฟ้อนรำประโคมดนตรี และ การประดับตกแต่งร่างกาย และจากการนอนบนที่นอนสูงใหญ่ เพราะผู้ที่ยังมีกิเลสนั้น จะต้องอาศัยการขัดเกลามากมาย ถ้าเป็นวัตถุพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงอุปมาว่าจะต้องใช้ขี้ตะกรัน ดินเหนียว หรืออาศัยเกลือ น้ำด่าง น้ำ อาศัยน้ำมัน อาศัยขี้เถ้า เป็นต้น ในการขัด แต่ในการขัดเกลากิเลสนั้นต้องอาศัยการเจริญกุศลทีละเล็กละน้อย ผู้ที่ยังไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน (ระลึกรู้สภาพธรรม) มากพอที่จะบรรลุเป็นพระอริยบุคคลในวันนี้ พรุ่งนี้ นั้น โอกาสใดที่จะเจริญกุศลขัดเกลากิเลส ก็ไม่ควรละเว้นโอกาสนั้น

จะเห็นได้ว่าการขัดเกลากิเลสและเจริญความดีนั้นไม่จำกัด ยิ่งเจริญมากเท่าไรก็ยิ่งเป็นประโยชน์ อุโบสถก็เช่นเดียวกัน ไม่ควรจะจำกัดเวลาว่าเฉพาะวันอุโบสถเท่านั้น แต่การกุศลทุกประเภทนั้นควรเจริญโดยไม่จำกัดเวลา ถ้าไม่สามารถรักษาศีล ๘ ได้ เพียงศีล ๕ ก็เป็นประโยชน์เช่นเดียวกัน ถ้ามีความจริงใจ มีความตั้งใจที่จะงดเว้นจากความประพฤติที่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ในขณะที่งดเว้นนั้น ก็เป็นความดีสำหรับตนเอง เป็นการขัดเกลากิเลสของตนเอง ครับ

ดังนั้น ไม่มีรูปแบบจะต้องลาศีล-รับศีล เจตนาที่สมาทานจะรักษาศีล ๕ เมื่อใดก็มีเจตนารักษาศีลแล้วครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 30 มี.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำคัญที่มีความตั้งใจที่จะสมาทาน คือ ถือเอาเป็นข้อประพฤติปฏิบัติ แสดงความประสงค์ตั้งใจที่จะรักษาอุโบสถศีล เพราะเหตุว่าการรักษาอุโบสถศีล ก็เป็นไปตามเจตนา ขณะที่ตั้งใจที่จะรักษาอุโบสถศีลก็เป็นเจตนา เป็นความตั้งใจแล้ว ไม่มีต้องมีพิธีกรรมอะไรๆ เลย และ สำหรับชีวิตของคฤหัสถ์ ศีลที่ควรรักษาเป็นนิตย์ เป็นประจำ คือ ศีล ๕ แล้วเพราะเหตุใด จึงมีความตั้งใจที่จะสมาทานประพฤติปฏิบัติในสิกขาบท ๘ ในวันพระหรือวันอุโบสถ ก็ต้องเป็นเพราะเห็นโทษของอกุศล เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองยิ่งขึ้น ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น ไม่ใช่หวังผลหวังอานิสงส์ หรือแม้ไม่ใช่วันพระ ก็สามารถสมาทานรักษาในสิกขาบท ๘ ได้ ถ้ามีจุดประสงค์ที่ถูกต้อง คือ การขัดเกลากิเลส ถ้าเป็นวันอื่นๆ ที่ไม่ได้สมาทานศีล ๘ ก็เป็นผู้มีปกติรักษาศีล ๕ ก็เป็นไปตามความตั้งใจที่จะถือเอาเป็นข้อประพฤติปฏิบัติ และที่สำคัญที่สุด คือ ความเข้าใจพระธรรม ไม่ว่าจะเป็นวันไหนๆ โอกาสที่มีค่าที่สุด คือ ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ปาณิสรา
วันที่ 31 มี.ค. 2563

ขอบคุณมากค่ะ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
lokiya
วันที่ 31 มี.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 1 เม.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Somporn.H
วันที่ 2 เม.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 23 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
rachayaku
วันที่ 5 มี.ค. 2564

อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ลภัสสิริย์
วันที่ 15 เม.ย. 2564

ขอบคุณในข้อมูลมากๆ คะ สาธุค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ