คนหมายถึงอะไร?

 
Kuat639
วันที่  3 เม.ย. 2563
หมายเลข  31689
อ่าน  11,312

ในเมื่อไม่มีคน สัตว์ สิ่งของ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 3 เม.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คน มนุษย์ คือ สมมติเรียกเพื่อให้เข้าใจตรงกันว่า เป็นสัตว์โลกประเภทหนึ่ง ที่ไม่ใช่ สัตว์เดรัจฉาน เปรต เทวดา เป็นต้น เพื่อหมายรู้ให้เข้าใจตรงกันในการสื่อสารให้เข้าใจ แต่แท้ที่จริง ไม่มีคน มีแต่ธรรม คือ จิต เจตสิก รูป ทีป่ระชุมรวมกัน เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าทรงแสดงสัจจะความจริงไว้ ๒ ประการ คือ สมมติสัจจะและปรมัตถสัจจะ

ไม่มีเรา แล้วมีอะไร มีแต่ธรรม ธรรม คือ สิ่งที่มีจริง ที่กำลังมีกำลังปรากฎ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ คิดนึก รวมสรุปว่ามีแต่ธรรมที่เป็น นาม และ รูป หรือ ขันธ์ ๕ แต่เพราะความไม่รู้ของสัตว์โลก จึงยึดถือว่า รูปเป็นเรา เวทนาเป็นเรา สัญญาเป็นเรา เป็นต้น ยึดถือว่าธรรมเป็นเรา แท้ที่จริงไม่มีเรา มีแต่ธรรม เพราะฉะนั้นพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ทรงแสดงสัจจะความจริงไว้สองอย่าง คือ ปรมัตถสัจจะ และ สมมติสัจจะ ปรมัตถสัจจะ คือความจริงที่มีแต่ธรรมไม่ใช่เรา สมมติสัจจะ คือ ความจริงที่หมายเรียกตัวธรรมที่ให้เข้าใจตรงกัน เช่น พระพุทธเจ้าตรัสเรียกท่านพระอานนท์ ไม่ได้เรียกว่า ขันธ์ ๕ จงมา แต่ให้หมายรู้ว่า คือ ท่านพระอานนท์ ไม่ใช่ท่านพระสารีบุตร เรียกโดยสมมติสัจจะ ให้หมายรู้ว่าเข้าใจตรงกัน โดยนัยเดียวกัน ไม่มีใครให้ทาน แต่ เป็นสติเจตสิก ที่เกิดกับจิตที่ดี ทำกิจที่จะระลึกที่จะให้ แต่ถ้าจะเรียกโดยสมมติให้เข้าใจตรงกัน ว่าเป็นคนนี้ให้ ไม่ใช่คนอื่นให้ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีให้ ไม่ใช่ นางวิสาขาให้ หมายรู้เรียกชื่อว่าใครให้ ให้เข้าใจตรงกัน เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ไม่ละสมมติเรียกทางโลก แต่ท่านรู้ความจริงว่า ที่สมมติเรียกก็คือมีแต่ธรรมที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรา

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 135

๕. อรหันตสูตร

[๖๔] ท. ภิกษุใดเป็นผู้ไกลจากกิเลส มี กิจทำเสร็จแล้ว มีอาสวะสิ้นแล้ว เป็นผู้ ทรงไว้ซึ่งร่างกายอันมีในที่สุด ภิกษุนั้น พึงกล่าวว่า เราพูดดังนี้บ้าง บุคคลทั้งหลาย อื่นพูดกะเราดังนี้บ้าง.

[๖๕] ภ. ภิกษุใดเป็นผู้ไกลจากกิเลส มีกิจทำเสร็จแล้ว มีอาสวะสิ้นแล้ว เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งร่างกายอันมีในที่สุด ภิกษุนั้น พึงกล่าวว่า เราพูดดังนี้บาง บุคคลทั้งหลาย อื่นพูดกะเราดังนี้บ้าง ภิกษุนั้นฉลาด ทราบคำพูดในโลก พึงกล่าวตามสมมติ ที่พูดกัน


ท่าน อ.สุจินต์ เพราะฉะนั้น ชื่อทั้งหมดเป็นบัญญัติ แต่สภาพธรรมะแม้ไม่มีชื่อก็มีลักษณะของสภาพธรรมะนั้นๆ แต่จำเป็นต้องใช้ชื่อ เพื่อที่จะได้ให้เข้าใจว่าหมายความถึงสภาพธรรมะอะไร

ทุกคนมีชื่อหมดเลย ใช่ไหม ความจริงก็คือขันธ์ ๕ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ แล้วจะเรียกอย่างไรคะ ถ้าไม่มีชื่อทำให้สะดวกขึ้น ขันธ์ทางซ้าย ขันธ์แถวที่ ๖ หรืออะไรอย่างนี้ก็ลำบาก หรือว่าขันธ์ ๕ สร้างพระวิหารเชตวัน แต่ถ้ากล่าวว่าท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างพระวิหารเชตวัน เราก็เข้าใจได้ แล้วก็ไม่เข้าใจผิดว่าหมายถึงขันธ์ ๕ ไหน ก็ขันธ์ที่ใช้คำว่า ท่านอนาถบิณฑิกะ ใช้ชื่อนั้นเป็นผู้สร้าง

นี่ก็ต้องเป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจว่ามี ๒ อย่าง สมมติสัจจะกับปรมัตถสัจจะ ถ้าสมมติสัจจะก็เป็นบัญญัติ ถ้าปรมัตถสัจจะก็เป็นปรมัตถ์

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 3 เม.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมละเอียด ลึกซึ้งอย่างยิ่ง จึงต้องค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูก ไปทีละเล็กทีละน้อยแม้แต่คำว่า ไม่มีคน สัตว์ สิ่งของ นั้น ก็แสดงถึงความเป็นจริงของธรรมแต่ละหนึ่งซึ่งเป็นอนัตตา คำดังกล่าวนี้มีอรรถที่ลึกซึ้งมาก ครอบคลุมพระธรรมทั้งหมด ทั้ง ๓ ปิฎก เพราะมีแต่ธรรม เท่านั้น ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใด บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่เป็นไปตามอำนาจ มีแต่สภาพธรรม สภาพธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะปัจจัยปรุงแต่ง ไม่มีใครบังคับให้เกิดขึ้นได้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่มีใครบังคับให้ไม่ดับไปได้ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความหมายของคำว่า อนัตตา ซึ่งก็ไม่ใช่เพียงชื่อ แต่เพื่อให้เข้าใจความเป็นจริงของสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ ที่หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวไม่ได้เลย มีแต่ธรรมเท่านั้นจริงๆ ซึ่งเพราะมีสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป จึงหมายรู้ได้ว่า เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ครับ

ขอเชิญคลิกฟัง-อ่านคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

แม้คำว่า อนัตตา

อนัตตาไม่ใช่คำแปล

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ประสาน
วันที่ 5 เม.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 23 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ