Social distancing เป็นกุศลใช่ไหม
ในซีดี แนวทางเจริญวิปัสสนา แผ่นที่ 29 ครั้งที่ 1729 ท่านอาจารย์ สุจินต์ ได้กล่าวถึง มหาสูญญตาปฏิบัติ ว่าด้วยโทษของการอยู่ด้วยความคลุกคลีในหมู่คณะ ซึ่งไม่เฉพาะการไม่คลุกคลีทางกายเท่านั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนแม้การไม่คลุกคลีทางใจด้วย นั่นคือทรงสอนการป้องกันโรคทั้งทางกายและทางใจด้วย ขอท่านผู้รู้ช่วยอธิบายขยายความด้วยครับ
ขอบคุณมากครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เรื่อง Social distancing การเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อป้องกันโรค ทุกอย่างต้องเริ่มจากว่า ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริง คือ จิต เจตสิก รูป เมื่อถามว่าการกระทำเช่นนั้น เช่นนี้เป็นกุศลหรืออกุศล ก็ต้องกลับมาที่สภาพธรรมที่มีจริงคือ จิต เจตสิก ที่แสดงว่าเป็นกุศลหรืออกุศล ขณะใดที่ยินดีติดข้อง โลภะ ขณะใดที่ขุ่นใจ กลัว ขณะใดที่ไม่รู้ความจริง จะกล่าวด้วยคำอะไรก็ตาม ใช้ชื่ออะไรก็ตามในศัพท์ภาษายุคใหม่ ก็ไม่พ้นจากจิตที่เป็นอกุศลจิต นี่คือความจริงของสภาพธรรม ที่เรียกว่า ปรมัตถธรรม บรม ยิ่ง ไม่เปลี่ยนลักษณะเลย ไม่ว่าจะใช้ศัพท์อะไรก็ตาม
ดังนั้น ขณะใดที่กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ด้วยความกลัว ด้วยความหวาดหวั่นแม้เพียงเล็กน้อย แม้จะกล่าวว่าเป็นการป้องกันโรค รักษาระยะห่าง ก็ต้องเป็นผู้ตรงว่าขณะนั้นเป็นอกุศลจิต ที่เกิดโทสะแม้เพียงเล็กน้อยแล้ว หรือ มีความต้องการอยากให้ไม่เป็นโรคด้วยความติดข้องรักตน ก็ไม่พ้นจากอกุศลจิตความติดข้อง ดังนั้น ถ้าจิตไม่เป็นอกุศลจิต ก็ต้องเป็นกุศลจิต ถ้าขณะนั้นไม่เป็นไปในทาน ศีล ภาวนา ก็ต้องเป็นอกุศลจิต โดยมาก นี่คือความเป็นปกติของปุถุชน ปุถุชนคือผู้ที่หนาด้วยกิเลส อีกความหมายหนึ่งของปุถุชน คือ ผู้ที่อยู่ด้วยความเดือดร้อนโดยมาก เดือดร้อนในอะไร เดือดร้อนในกิเลส เพราะความรักตัว ยึดถือว่ามีเรา มีสัตว์บุคคล เมื่อยึดถือแล้วก็ยึดมั่น อุปาทาน ด้วยความรักตัวอย่างยิ่ง รักใครที่สุด ถ้าไม่ใช่ตัวเอง ดังนั้นก็เป็นธรรมดาที่ไม่อยากให้ตัวเองประสบสิ่งไม่ดี ก็เกิดความหวั่นไหว สะดุ้งแห่งจิตได้ เป็นธรรมดา
ในนกุลปิตุสูตร ท่านพระสารีบุตรได้แสดงธรรมกับนกุลปิตาคหบดีว่า มีจิตกระสับกระส่าย จิตสะดุ้ง เพราะอะไร ท่านพระสารีบุตรแสดงว่า เพราะมีสักกายทิฏฐิอยู่ คือ มีความยึดถือว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคล ยึดถือว่าเที่ยง จึงไม่อยากให้สิ่งนั้นแปรปรวนไป จึงเป็นผู้มีจิตกระสับกระส่าย จิตสะดุ้งเป็นนิตย์ เป็นปกติ เมื่อมีภัยคือโรคหรืออื่นๆ
ส่วนที่ผู้ถามยกข้อความในมหาสุญญตสูตร ซึ่งพระองค์แสดงกับท่านพระอานนท์ว่า ธรรมดา สัตว์ส่วนใหญ่เป็นผู้คลุกคลีด้วยหมู่เป็นปกติ แต่เพศพระภิกษุ เป็นผู้หลีกออกเพื่อดับกิเลส เพราะฉะนั้น เพศพระภิกษุถ้ายังยินดีในการคลุกคลี พูดคุย ก็ทำให้อกุศลเจริญขึ้น เป็นโทษ นี่แสดงถึงเพศบรรพชิตที่สูงส่ง แตกต่างจากคฤหัสถ์โดยสิ้นเชิง คฤหัสถ์ ปกติพูดคุย คลุกคลี ก็ไม่ได้มีโทษดั่งเช่น พระภิกษุ พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงการไม่คลุกคลีว่าไม่สมควรกับพระภิกษุ และ ทรงแสดงการไม่คลุกคลีของพระองค์ว่า แม้จะมีพระราชา มหาอำมาตย์ พุทธบริษัทนั่งเต็มจักรวาลท่ามกลางพระองค์ พระองค์ก็ไม่คลุกคลีด้วยกิเลส เพราะพระองค์ไม่มีกิเลสที่เป็นเหตุของการคลุกคลีแล้ว
พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้เลิศด้วยปัญญาแสดงการใช้ชีวิตที่ถูกต้องเหมาะสม ทรงแสดงไว้ใน อุโภอัตถสูตรว่าธรรมประการหนึ่งที่ยึดประโยชน์ไว้สองอย่างคือความไม่ประมาทในกุศล ย่อมยึดประโยชน์สองอย่าง คือ ประโยชน์ในโลกนี้และประโยชน์ในโลกหน้า พระองค์ทรงแสดงว่าการไม่ประมาท คือ การเจริญกุศลทุกประการ และเป็นผู้มีความรู้ในการใช้ชีวิต ดำรงอยู่ด้วยความสุขในปัจจุบัน ทั้งการรู้จักป้องกัน รักษาโรค พระองค์ถึงบัญญัติการรักษา การทานยาของพระภิกษุ เพราะฉะนั้น เมื่อโรคภัยเกิดขึ้น ก็รู้จักการป้องกันที่เหมาะสม ปุถุชน ก็ป้องกัน ด้วยกิเลส ความกลัว ก็เป็นปกติ แต่ พระอรหันต์ทั้งหลาย ก็รักษาโรคด้วยจิตที่ไม่มีกิเลสแล้ว แต่ท่านก็ป้องกัน รักษาโรคด้วยครับ นี่คือ ความสุขุม ประณีตของพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงทั้งหมดในชีวิตประจำวัน ก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริง ซึ่งทั้งหมด ไม่ใช่เรา มีแต่ธรรม
หนทางการดับกิเลส ละกิเลส พระพุทธเจ้าทรงแสดงอริยมรรคมีองค์ ๘ คือ การเข้าใจถูกในสภาพธรรมตามความเป็นจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา และเป็นการรู้ความจริงที่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ไม่ต้องไปสำนักปฏิบัติธรรม สถานที่อื่นๆ เพราะธรรมมีอยู่แล้วในขณะนี้ แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม เพราะยึดถือว่า ขณะนี้เป็นเราที่กลัว เป็นเราที่ติดข้อง เป็นเราที่เห็น แท้ที่จริง เป็นเพียงธรรมที่ทำกิจหน้าที่ คือ เป็นโลภะ โทสะ โมหะ เป็นจิตที่ทำหน้าที่เห็น เป็นต้น ดังนั้น การอบรมปัญญาเพื่อละกิเลส ดับกิเลสก็คือการเข้าใจถูกสิ่งที่กำลังมีกำลังปรากฎในชีวิตประจำวันว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ซึ่งเริ่มจากการฟังให้เข้าใจเป็นสำคัญ และเมื่อปัญญาถึงพร้อม ปัญญานั้นเองก็ปฏิบัติกิจรู้ความจริงขณะนี้ ที่เรียกว่า ปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา ครับ
ขออนุโมทนาครับ
พระองค์ทรงแสดงว่าการไม่ประมาท คือ การเจริญกุศลทุกประการ และเป็นผู้มีความรู้ในการใช้ชีวิต ดำรงอยู่ด้วยความสุขในปัจจุบัน ทั้งการรู้จักป้องกัน รักษาโรค
...ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ ๓๗๓๗
โรคสูตร
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โรค ๒ อย่างนี้ โรค ๒ อย่าง เป็นไฉน คือโรคกาย ๑ โรคใจ ๑ ปรากฏอยู่ว่าสัตว์ทั้งหลายผู้ยืนยันว่าไม่มีโรคทางกายตลอดเวลา ๑ ปีก็มี ยืนยันว่าไม่มีโรคทางกายตลอดเวลา ๒ ปีก็มี ๓ ปีก็มี ๔ ปีก็มี ๕ ปีก็มี ๑๐ ปีก็มี ๒๐ ปีก็มี ๓๐ ปีก็มี ๔๐ ปีก็มี ๕๐ ปีก็มี ๑๐๐ ปีก็มี ยิ่งกว่า ๑๐๐ ปีก็มี แต่ว่าผู้ที่จะยืนยันว่าไม่มีโรคทางใจแม้เพียงเวลาครู่เดียวนั้นหาได้ยากในโลก เว้นแต่พระขีณาสพ
([เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต โรคสูตร)
โรค หมายถึง สภาพที่เสียดแทง โรคทางกาย เสียดแทงกายให้ได้รับความเจ็บปวด ทรมาน ตราบใดที่ยังมีกาย ก็เป็นรังแห่งโรค แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตลอดจนถึงพระอริยสาวก ยังไม่พ้นจากการทรงประชวร / อาพาธ ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น
แต่โรคทางใจ คือ กิเลส เป็นสภาพที่ทำให้จิตเศร้าหมอง ย่อมเสียดแทงจิตใจของสัตว์ทั้งหลายให้เร่าร้อน และไม่ให้ออกไปจากวัฏฏะ ผู้ที่จะพ้นจากโรคทางใจคือ พระอรหันต์ เท่านั้น ตามข้อความในโรคสูตร
โรคที่สำคัญกว่าโรคทางกาย ก็คือโรคทางใจ (โรคทางใจ หมายถึง กิเลสที่เสียดแทงใจ) ซึ่งบางคนอาจจะไม่ได้พิจารณาเลยว่า โรคทางใจของตนเองมีอะไรบ้าง ซึ่งมีมากเหลือเกิน ทั้งโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ที่พร้อมจะเกิดขึ้นเสียดแทงใจให้เร่าร้อนอยู่ตลอดเวลา และเมื่อไม่ได้สังเกต ไม่ได้สำรวจ ไม่ได้พิจารณาก็ย่อมจะไม่ได้เห็นโทษของโรคทางใจนั้น เพราะโรคทางใจเป็นโรคที่เห็นได้ยาก ต้องเป็นปัญญาจึงจะเห็นโรคทางใจตามความเป็นจริงได้
เมื่อทราบอย่างนี้ ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ต้องดูแลรักษาสุขภาพร่างกาย ก็ยังต้องมีการดูแลรักษา มีการป้องกัน ไม่ปล่อยปละละเลย เพื่อประโยชน์ในการที่จะให้ชีวิตเป็นไปได้อย่างไม่เดือดร้อน เพื่อจะได้ทำความดีและศึกษาพระธรรมต่อไป และ สิ่งใดก็ตามที่จะเป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น คิดถึงบุคคลอื่นด้วยความหวังดีที่จะเป็นการป้องกันยับยั้งการระบาดของโรค ก็เป็นสิ่งที่ควรกระทำ ไม่ใช่ว่าจะเห็นแก่ตัว
ตามความเป็นจริงแล้ว เราก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า อะไรจะเกิดขึ้นแม้ในขณะต่อไป ชีวิตในภพนี้ชาตินี้จะสิ้นสุดเมือใด ก็ไม่มีใครทราบได้ จึงสำคัญอยู่ที่ว่า มีโอกาสได้สะสมความดีและอบรมเจริญปัญญา เพราะสิ่งนี้เท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งในชีวิตอย่างแท้จริง ครับ
ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ
ภัยที่น่ากลัวกว่าไวรัสโควิด
...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...