สามัคคีและปรองดองมีความหมายเหมือนหรือต่างกันอย่างไรในทางพุทธศาสนาค่ะ

 
Somporn.H
วันที่  5 เม.ย. 2563
หมายเลข  31698
อ่าน  889

ขอความกรุณาจากท่านอาจารย์วิทยากรอธิบายให้ละเอียดด้วยค่ะ

กราบขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 5 เม.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความสามัคคี และ ความปรองดอง มีควาหมมายเดียวกัน ความปรองดอง หรือความสามัคคี มาจากภาษาบาลีว่า เอกีภาโว สภาพที่เป็นหนึ่งรวมกัน ไม่แบ่งแยก

พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องความสามัคคีหรือความปรองดอง เป็นสุขในโลก

ความเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้า การฟังธรรม ความพร้อมเพรียงของหมู่ ความเป็นผู้ปรองดองกัน เป็นสุขในโลกนี้" ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า :-

ความเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็น เหตุนำสุขมา การแสดงธรรมของสัตบุรุษ เป็นเหตุ นำสุขมา ความพร้อมเพรียงของหมู่ เป็นเหตุนำสุข มา ความเพียรของชนผู้พร้อมเพรียงกัน เป็นเหตุนำ สุขมา"


ซึ่งอรรถกถาก็อธิบายเพิ่มเติมว่า ความเป็นผู้มีจิตเสมอกันในทางกุศลธรรมและพร้อมเพรียงกันในทางกุศล เป็นความสามัคคี ปรองดองที่นำมาซึงความสุขที่แท้จริง

และควรพิจารณาถึงความละเอียดของความปรองดอง สามัคคีให้เพิ่มขึ้นไปอีกดังนี้ครับ

ความปรองดอง ที่ไม่แยกกัน เข้ากันได้ ของสภาพธรรม ประการหนึ่ง เรียกว่าสัมปยุตต์ธรรม คือ สภาพธรรมที่เข้ากันได้ ไม่แยกกัน เหมือน น้ำ กับน้ำนม ที่เข้ากันเป็นเนื้อเดียวกัน ปรองดองกัน เข้ากันได้ เพราะเป็นสภาพธรรมที่ประกอบกันนั่นก็คือ จิต เจตสิกทีเกิดขึ้น จิตเมื่อเกิดขึ้น จะต้องอาศัย เจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตกับ เจตสิกเข้ากันได้ดี เป็นธรรมที่เรียกว่า สามัคคีกัน ปรองดองกัน อันเป็นปัจจัยซึ่งอาศัยกันและกันเกิดขึ้น ทีเกิดร่วมกัน ที่เรียกว่า สัมปยุตต์ธรรม ครับ เพราะฉะนั้นเมื่อไม่มีสัตว์ บุคคล มีแต่สภาพธรรม ความปรองดอง เข้ากันได้ ก็ต้องป็นเรื่องของสภาพธรรมเช่นกัน นั่นก็คือ จิต เจตสิกที่กำลังเกิดในขณะนี้ นี่แสดงให้เห็นว่าเมื่อพระพุทธเจ้า ไม่อุบัติย่อมไม่รู้ความจริงเลยว่า ไม่มีใคร ไม่มีเรา ที่จะสามัคคีปรองดอง แต่ มีแต่เพียงสภาพธรรมที่เข้ากันได้ และ ไม่มีเรา ไม่มีสัตว์ บุคคล นั่นก็คือ จิต เจตสิก ครับ นี่คือ ความหมายของการเข้ากันได้ ปรองดอง ที่เป็น สภาพธรรมทีเป็น สัมปยุตตธรรม คือ จิต เจตสิก โดยนัยที่ 1 ครับ

อีกประการหนึ่ง ความปรองดอง ที่ลึกลงไปในสภาพธรรมแต่ละอย่าง ก็คือ สภาพธรรมที่เป็นฝ่ายดี และ สภาพธรรมที่เป็นฝ่ายไม่ดี หากเรามองทางโลก ทำไมบางคนเข้าได้กับคนนี้ ไม่เข้ากับคนี้ ชอบคนนี้ ไม่ชอบคนนี้ แบ่งเป็นกลุ่มต่างๆ เป็นต้นก็เพราะ อาศัยความต่างกันของธาตุ คือ สภาพธรรมที่สะสมมา คือ จิต เจตสิกนั่นเองที่สะสมมาแตกต่างกันไป ผู้ที่มีธาตุเดียวกัน คือ สะสมอุปนิสัยมาเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นธาตุดี หรือ ธาตุเลว ธาตุเลว ก็ย่อมไหล เข้ากันได้กับธาตุเลว ก็รวมกลุ่มกันไปธาตุดี ก็ย่อมรวมกลุ่มกันของธาตุดี ก็แบ่งกลุ่มกันไปตามธาตุนั้น แต่ ธาตุเลว คือ อกุศลธรรม ย่อมเข้ากันไม่ได้ กับ ธาตุดี ทีเป็น กุศลธรรม ดั่งเช่น น้ำมัน กับ น้ำที่เข้ากันไม่ได้ ดังนั้น จึงกล่าวได้อีกนัยหนึ่ง ของ ควาหมายของการปรองดอง คือ การปรองดอง เข้ากันได้ ของสภาพธรรมแต่ละอย่าง และ การไม่ปรองดอง เข้ากันไมได้ของสภาพะรรมแต่ละอย่าง กุศลธรรม ย่อมเข้ากันได้ กับ กุศลธรรม ปัญญาเกิดขึ้น ย่อมมีเจตสิกที่ดีเกิดขึ้น ปัญญา ย่อมเข้ากันได้ กับ สติ หิริ โอตตัปะ ปรองดองกันเข้ากันได้โดยสภาพธรรมทีเกิดร่วมกัน ทีเป็นสภาพธรรมฝ่ายดีเหมือนกัน แต่ ปัญญา ย่อมเข้ากันไม่ได้ ไม่ปรองดอง สามัคคี และไม่เกิดร่วมกับ อวิชชา ความไม่รู้ ความโลภ ความโกรธ เป็นต้น ทีเป็นสภาพธรรมที่เป็นอกุศล กุศละรรมจึงเข้ากันได้ กับ กุศลธรรม อกุศลธรรม ไม่เข้ากันกับ กุศลธรรม ส่วนสภาพธรรมที่ไม่ดี มีอวิชชา เป็นต้น ก็เข้ากันได้ สามัคคี ปรองดองกับสภาพธรรมที่ไม่ดี เช่น โลภะ โทสะ ริษยา มานะ เป็นต้นเหล่านี้ เพราะ เมื่อ อกุศลเกิดก็มีความไม่รู้เกิดร่วมด้วยเสมอ เพราะฉะนั้น ก็เป็นสภาธรรมที่เป็นอกุศลที่ปรองดองกันอยู่นั่นเอง ครับ

เพราะฉะนั้น เมื่อพิจารณาตามความเป็นจริง ที่จะเป็นความเห็นถูกแล้ว ขณะนี้กำลังปรองดองกับอะไร และ มีสภาพธรรมอะไรที่กำลังปรองดองกันอยู่ จึงไม่ต้องไปแสวงหา พยายามให้ใคร หรือคนอื่นปรองดองกัน เพราะ สัตว์ทั้งหลาย คบกันโดยธาตุ ตามการสะมมาท่ไม่เหมือนกันเลย จึงไม่มีตัวตที่จะไปจัดการ สำคัญคือ ตนเอง ในขณะนี้ มากไปด้วยความปรองดองกับอะไร กุศลธรรม หรือ อกุศลธรรมเพราะฉะนั้น ก็ควรอบรมสภาพธรรมที่ปรองดองกันแล้วเกิดประโยชน์ เกิดความเห็นถูก นั่นคือ การอบรมสภาพธรรมทีเกิดร่วมกัน ปรองดองกัน ด้วยกุศลธรรม อันเริ่มจาการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เป็นสำคัญ เมื่อปัญญาเกิดขึ้น ย่อมนำมาซึ่งกุศลธรรมประการต่างๆ ปรองดองด้วย กุศลธรรม จนถึง ความปรองดองสูงสุดคือ อริยมรรค มีองค์ ๘ การเข้ากันได้ ปรองดอง ประชุม รวมกันของสภาพธรรมองค์ ๘ ที่เป็นไปเพื่อดับกิเลส ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 5 เม.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อกุศล เป็นธรรมฝ่ายดำ ปรองดองกันไม่ได้ เข้ากันไม่ได้กับธรรมฝ่ายที่เป็นกุศล ดังนั้น จะปรองดองกัน ก็ต้องด้วยกุศลธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ความเข้าใจพระธรรม ความดีทั้งหลายเจริญขึ้นได้ เมื่อมีความเข้าใจพระธรรม แล้วความเข้าใจพระธรรมจะมาจากไหน ก็ต้องเริ่มที่การฟังพระธรรมที่พระสัมมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง


ชีวิตประจำวันของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ นั้น อกุศลจิตของเรานั้นเกิดมากมายทีเดียวเพราะไม่ว่าจิตจะมีอารมณ์ใดมากระทบ ทั้งที่น่าปรารถนา และที่ไม่น่าปรารถนา จิตของเราก็เป็นอกุศล เสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมโดยละเอียด ก็จะไม่มีทางรู้อย่างนี้ได้เลย

เพราะฉะนั้น จึงต้องฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เพื่อจะได้ทราบว่าที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระดำรัสเตือนอยู่บ่อยๆ เนืองๆ อย่างนี้ ก็เพื่อให้ผู้ฟัง ผู้ศึกษาได้เข้าใจตนเอง ให้รู้ว่าขณะนั้นจิตเป็นอกุศล หรือ จิตเป็นกุศล

จิตของใครจะเป็นอย่างไรนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับการสะสมของแต่ละบุคคล เมื่อฟังพระธรรมแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าจะไปบังคับบัญชาสภาพธรรมได้ แต่เพื่อให้เราเข้าใจว่า สิ่งไหนจะดีกว่ากันระหว่างกุศลจิต กับ อกุศลจิต ซึ่งควรที่จะเข้าใจตรงนี้ก่อน และเมื่อเข้าใจจริงๆ แล้วก็จะเป็นเหตุปัจจัยทำให้กุศลจิตแต่ละประเภทเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน

การฟังพระธรรมให้เข้าใจและเห็นโทษของอกุศล จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่จะทำให้กุศลจิตเกิดได้ แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่เห็นโทษของอกุศลจิต ก็จะเดือดร้อนเพราะอกุศลจิตที่เกิดขึ้น และจะพอกพูนอกุศลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น จึงแสดงให้เห็นว่า กุศลจิต เกิดขึ้นได้ตามเหตุปัจจัย โดยอาศัยความเข้าใจ และ การเห็นโทษของอกุศล ที่เกิดจากได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมในชีวิตประจำวัน เพราะถ้ายังไม่เห็นโทษของอกุศล ก็ยังละอกุศลไม่ได้ และถ้ายังไม่เข้าใจ ก็หมายความว่ายังไม่เห็นโทษของอกุศล อยู่นั่นเอง จึงควรอย่างยิ่งที่ทุกคนจะได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาไปตามลำดับ เพื่อละความไม่รู้ เพื่อเห็นโทษของอกุศลตามความเป็นจริง และ สะสมกุศล เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง ต่อไป

ถ้าทุกคนเป็นอย่างนี้ได้ แต่ละคนก็ปลอดภัย ส่วนรวมก็ปลอดภัย เนื่องจากว่าเป็นผู้น้อมไปในทิศทางเดียวกัน คือ สะสมความดี และ ฟังพระธรรมให้เข้าใจ เมื่อความเข้าใจเจริญขึ้นก็อุปการะเกื้อกูลให้ความดีเจริญขึ้น ปัญหาต่างๆ ก็จะไม่มี ครับ.

ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

ปรองดองด้วยความเข้าใจพระธรรม

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Somporn.H
วันที่ 5 เม.ย. 2563

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์วิทยากรทั้งสองท่านที่เมตตาอธิบายอย่างละเอียดค่ะ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 8 เม.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 23 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ