กรรม

 
Kuat639
วันที่  7 เม.ย. 2563
หมายเลข  31711
อ่าน  699

กรรมคืออะไร จำมาว่าศาสนาพุทธสอนคนให้เชื่อเรื่องกรรม กฎแห่งกรรมคืออย่างไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 7 เม.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กรรม คือ การกระทำ เป็นความจงใจ ความตั้งใจกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ เมื่อกล่าวโดยสภาพธรรมแล้ว ได้แก่ เจตนาเจตสิก กรรม ไม่ใช่จิต แต่เกิดร่วมกับจิต กรรม เป็นธรรมที่มีจริง เป็นเจตนาที่จงใจขวนขวายกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ดังข้อความจากพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต นิพเพธิกสูตร ว่า "ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่า เป็นกรรม บุคคลคิดแล้ว จึงกระทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ"

ข้อความในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก จุลลนันทิยชาดก มีว่า "บุรุษทำกรรมเหล่าใดไว้ เขาย่อมเห็นกรรมเหล่านั้นในตน ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้รับผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้รับผลชั่ว บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น"


การศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็เพื่อเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง และธรรมก็ไม่ได้อยู่ในหนังสือ แต่มีจริงทุกขณะ แม้แต่ในเรื่องกรรม ก็เป็นธรรม ไม่พ้นจากธรรมเลย เพราะกรรม เป็นเจตนาเป็นความจงใจตั้งใจขวนขวายที่จะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งที่เข้าใจกัน มีทั้งกระทำกรรมดี (เช่น ให้ทาน รักษาศีล ฟังพระธรรมอบรมเจริญปัญญา เป็นต้น) และ กระทำกรรมไม่ดี (เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม เป็นต้น) เป็นเหตุที่จะทำให้ได้รับผลข้างหน้า ที่ละเอียดยิ่งไปกว่านั้น คือ เจตนา เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกประเภท แต่ที่จะเป็นเหตุให้เกิดผลในภายหน้า มุ่งหมายถึงเฉพาะเจตนาที่เป็นกุศลกรรม กับ อกุศลกรรม เท่านั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้ความจริงทั้งหมดทุกประการ แล้วทรงแสดงพระธรรมให้สัตว์โลกได้เข้าใจความจริงตามพระองค์ ด้วย บุคคลผู้ที่ได้สะสมเหตุที่ดีมา มีโอกาสได้ฟัง ได้ศึกษา ความรู้ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ แม้แต่ในเรื่องกรรม ก็เช่นเดียวกัน เมื่อได้ฟัง ได้ศึกษา ก็จะทำให้เข้าใจละเอียดยิ่งขึ้น มีความมั่นคงในเรื่องกรรมเพิ่มขึ้น คือ มีความจริงใจที่จะสะสมเหตุที่ดี คือ กุศลทุกประการต่อไป พร้อมกันนั้นก็ละเว้นในสิ่งที่ไม่ดี ที่ไม่ควรซึ่งเป็นกุศลกรรม และมีความมั่นคงในเรื่องผลของกรรม ด้วย กล่าวคือ เมื่อได้รับผลของกุศลกรรม ก็จะไม่โทษคนอื่น แต่เข้าใจความจริงเพิ่มขึ้นว่าในเมื่อเป็นกุศลกรรมที่ตนได้กระทำไว้ ผลที่ไม่น่าปรารถนา จึงเกิดขึ้น ไม่ใช่คนอื่นกระทำให้เลย หรือ ถ้าได้รับผลของกรรมที่ดี ก็จะเป็นผู้ไม่หลงระเริง ไม่มัวเมาด้วยอำนาจของกุศลธรรม ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงนั้น ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญา อันเริ่มจากการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวันนั่นเอง ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Kuat639
วันที่ 7 เม.ย. 2563

ขอบพระคุณครับ กรรมให้ผลเป็นแต่ละขณะใช่หรือไม่ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 7 เม.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียน ความคิดเห็นที่ 2

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ -
หน้า ๗๖๖

นิพเพธิกสูตร

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่า เป็นกรรม บุคคลคิดแล้ว จึงกระทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ”

(พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต นิพเพธิกสูตร)


เรื่องกรรม และ การให้ผลของกรรม เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ประโยชน์ของการฟัง การศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็เพื่อเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง และธรรมก็ไม่ได้อยู่ในหนังสือ แต่มีจริงทุกขณะ แม้แต่ในเรื่องกรรม ก็เป็นธรรม ไม่พ้นจากธรรมเลย เพราะกรรม เป็นเจตนาเป็นความจงใจตั้งใจขวนขวายที่จะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งที่เข้าใจกัน มีทั้งกระทำกรรมดี (เช่น ให้ทาน รักษาศีล ฟังพระธรรมอบรมเจริญปัญญา เป็นต้น) ซึ่งเป็นกุศลกรรม และ กระทำกรรมไม่ดี (เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม เป็นต้น) ซึ่งเป็นอกุศลกรรม เป็นเหตุที่จะทำให้ได้รับผลข้างหน้า ตามเหตุตามปัจจัย ที่ละเอียดยิ่งไปกว่านั้น คือ เจตนาเป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกประเภท แต่ที่จะเป็นเหตุให้เกิดผลในภายหน้า มุ่งหมายถึงเฉพาะเจตนาที่เป็นกุศลกรรม กับ อกุศลกรรม เท่านั้น

กุศลกรรม และ อกุศลกรรมที่เรากระทำในชาติก่อนๆ รวมถึงชาตินี้ด้วย ย่อมสะสมสืบต่อไปในจิต แม้ว่าจะเกิดเป็นบุคคลใหม่ในชาติใหม่แล้วก็ตาม วิบาก คือ ผลของกรรมย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลนั้นตามสมควรแก่เหตุ กรรมที่กระทำไว้ไม่ได้หายไปไหน แม้ผู้ทำกรรมจะลืมไปแล้ว แต่กรรม เมื่อถึงคราวที่จะให้ผลเกิดขึ้น ผลมก็ย่อมเกิดขึ้น อย่างเช่น ขณะแรกในชาตินี้ คือ ปฏิสนธิจิต เป็นผลของกรรม ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ ก็เป็นผลของกุศลกรรม แต่ถ้าเกิดในนรก อย่างเช่นพระเทวทัต เป็นต้น ก็เป็นผลของอกุศลกรรม ซึ่งไม่มีใครทำให้เลย แต่ต้องเป็นไปตามกรรมที่ตนเองได้กระทำไว้ นอกจากนั้นแล้ว ขณะที่ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ที่น่าปรารถนาบ้าง ไม่น่าปรารถนาบ้าง ล้วนเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้วทั้งนั้น

ผู้ที่ได้ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ย่อมจะเป็นผู้มีความเข้าใจว่าผลที่เกิดขึ้นกับบุคคลแต่ละคน หรือแม้กระทั่งเกิดกับตัวเอง ไม่ว่าดีหรือร้าย น่าปรารถนาหรือไม่น่าปรารถนาก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นเพราะกรรมที่เคยได้กระทำมาแล้วทั้งสิ้น ไม่มีใครทำให้เลย ซึ่งจะเห็นได้ว่า ถ้าไม่มีเหตุคือกรรมที่ได้กระทำมาแล้ว ผลที่จะเกิดย่อมมีไม่ได้ แต่เพราะมีเหตุคือกรรมที่ได้กระทำแล้ว เมื่อได้โอกาสที่กรรมจะให้ผล ผลจึงเกิดขึ้น

เราไม่สามารถรู้ได้ว่า กรรมใด จะให้ผลเมื่อใด ทางที่ดีที่สุด คือ พึงกระทำเฉพาะกรรมอันงาม คือ กุศลกรรม เท่านั้น โดยที่ไม่ใช่ว่ามีตัวตนที่ไปทำ แต่เป็นธรรมฝ่ายดีที่เกิดขึ้นทำกิจ ส่วนสิ่งที่ไม่ดีคืออกุศลกรรมทั้งหลายซึ่งไม่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและแก่บุคคลอื่น ไม่ควรที่จะกระทำ เพราะเหตุว่า อกุศลกรรม เป็นที่พึ่งไม่ได้ แต่สิ่งที่จะเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย ทั้งในโลกนี้และในโลกหน้านั้น ก็คือ ความดี เท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือปัญญาซึ่งเป็นความเข้าใจถูกเห็นถูก ที่จะนำพาชีวิตไปสู่คุณความดีทั้งปวง ดังนั้น จึงต้องฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกต่อไป ครับ

ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ ครับ

ขณะไหนบ้างเป็นผลของกรรม

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 8 เม.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เมตตา
วันที่ 8 เม.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
kukeart
วันที่ 10 เม.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 23 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 8 ม.ค. 2564

ขอเชิญอ่านหนังสือ...

กรรมคำตอบของชีวิต

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ