ผรุสวาจาโดยยกการฟังธรรมมากล่าว
คนรู้จักผรุสวาจาใส่ผู้อื่นเวลาโต้เถียงกัน ด้วยอารมณ์โกรธมักอ้างพระธรรมเสมอๆ เช่น นี่น่ะหรอคนฟังธรรมะยังโกรธคนอื่นอยู่ ฟังธรรมะแล้วก็ยังประพฤตินิสัยไม่ดีแบบนี้นะ ฟังธรรมะไม่ได้ช่วยอะไรเลย ฯลฯ คือ มักจะอ้างสิ่งที่เห็นเช่นอุปนิสัยที่ไม่ดีของบุคคล แล้วก็ยกว่าการฟังธรรมะแล้วก็ทำให้ ยังเป็นคนนิสัยไม่ดีแบบนี้แบบนั้น ในความคิดของผมรู้สึกไม่ดีเลย เหมือนเป็นการกล่าวตู่ธรรมะ ซึ่งเข้าใจว่าคนฟังธรรมะก็ยังมีกิเลสอยู่ยังมีความประพฤติไม่ดี และเราจะกล่าวเตือนเขาด้วยกุศลจิตได้อย่างไร
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ถ้าเข้าใจความจริงของกิเลสและระดับของกิเลส นั่นคือ มีปัญญารู้ว่ามีกิเลสมาก กิเลสมีหลายระดับ ทั้งกิเลสที่มีกำลังแสดงออกมาทางกาย วาจา กิเลสที่กลุ้มรุม ไม่แสดงออกมาทางกาย วาจา เพียง ติดข้องในใจ หรือ โกรธขุ่นใจ และ กิเลสที่เป็นอนุสัยกิเลส นอนเนื่องไม่เกิดเลย แต่เป็นพืชเชื้อให้กิเลสระดับต่างๆ เกิดขึ้นได้ เมื่อกิเลสมีมากอย่างนี้ ปัญญาที่จะดับกิเลสก็มีแตกต่างกันไปด้วย ปัญญาขั้นการฟัง เพียงละความไม่รู้ขั้นการฟัง ยังทำอะไรกิเลสไม่ได้เลย ที่กล่าวว่าปัญญาจะไม่เลือกทางผิดนั้น ก็ต้องเข้าใจว่าปัญญาเกิดบ่อยไหมสำหรับปุถุชนและระดับปัญญานั้นมีแค่ไหน เพียงปัญญาขั้นการฟัง ยังทำอะไรกิเลสไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นก็เป็นผู้ตรงว่า อกุศลเกิดโดยมาก และปัญญาที่เกิด เกิดน้อย และก็เป็นปัญญาเพียงขั้นการฟัง เพียงค่อยๆ เข้าใจในขั้นการฟังเท่านั้น จนถึงปัญญาที่รู้ลักษณะของความจริงของธรรมที่กำลังปรากฎ ที่เป็นสติปัฏฐาน ปัญญาขั้นนี้ก็เพียงเริ่มรู้ลักษณะของตัวธรรม แต่ไม่สามารถละกิเลส ที่เป็นอนุสัยได้เลย จนถึงปัญญาขั้นสูงมาก ที่เป็นมรรคจิต สามารถละกิเลสบางประเภทได้หมดสิ้น เช่น พระโสดาบัน ละกิเลส คือ ความเห็นผิดได้ ความลังเลสงสัย เป็นต้น แต่ก็ยังมีความติดข้องในรูป ในเสียง กลิ่น รส และสิ่งกระทบสัมผัส และ ก็ยังมีความโกรธที่ละไม่ได้ นี่แสดงให้เห็นถึงความละเอียดของกิเลสแม้เป็นพระอริยบุคคลขั้นต้นแล้ว แต่ก็ยังเหลือกิเลสอีกมาก เพราะฉะนั้น การเข้าใจถูกต้องที่เป็นหนทางละกิเลส จึงเข้าใจถูกว่า เมื่อเหตปุัจจัยพร้อม อกุศลก็สามารถเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา โทษของปุถุชน พระพุทธเจ้าแสดงว่าสามาถรที่จะฆ่าบิดา มารดา ได้ เมื่อเหตุพร้อม นี่คือกำลังของกิเลส อย่าคิดว่าจะไม่เกิด เพราะเคยทำมาแล้วทั้งสิ้น เพราะปัญญามีเล็กน้อยเหลือเกิน แม้จะฟังพระธรรมก็แค่ปัญญาขั้นการฟัง
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า... “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่ากิเลสทั้งหลายย่อมเป็นสภาพหยาบ ถ้ากิเลสเหล่านี้ มีรูปร่าง อันใครๆ พึงสามารถจะเก็บไว้ในที่บางแห่ง ได้ไซร้ จักรวาลก็แคบเกินไป พรหมโลกก็ต่ำเกินไป โอกาสของกิเลสเหล่านั้น ไม่พึงมี (ให้บรรจุ) เลย”
ถ้าได้เห้นชีวิตของพระอริยสาวกในชาตินั้นจะได้เป้นพระอริยบุคคล แม้ชาตินั้นเอง ก็ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม ล่วงศีลประการต่างๆ นี่คือชีวิตที่แท้จริงของปุถุชน ดังนั้นพระพุทธเจ้าทรงแสดงหนทางสายกลางที่ไม่เหมือนศาสนาอื่นที่ให้มีศีลเป็นคนดี แต่ไม่มีปัญญา หนทางสายกลางคือ เข้าใจตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา กิเลสที่เกิดขึ้นจะแรงสักแค่ไหน ไม่ประมาทปัญญา เพราะปัญญาสามารถเกิดขึ้นรู้ความจริงว่าไม่ใช่เราเป็นธรรมได้ การรู้ความจริงเช่นนี้เป็นหนทางที่ละกิเลส และ กิเลสก็ยังเกิดเป็นปกติ แต่ปัญญาก็สะสมได้ นั่นคือปัญญาที่รู้ว่าไม่ใช่เราเป็นธรรม
แม้ผู้มีปัญญายังถูกกิเลสรบกวน จะกล่าวไปใยถึงบุคคลทั่วไป..เป็นธรรมดา
[เล่มที่ 58] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้าที่ 3
ลมที่พัดภูเขาสิเนรุให้หวั่นไหว ไฉนจักไม่พัดขยะใบไม้เก่าให้ กระจัดกระจายเล่า กิเลสนี้ยังก่อกวนสัตว์ผู้นั่งอยู่ที่โคนต้นโพธิ์ กำลังจะตรัสรู้ได้ ไฉนจักไม่ก่อกวนคนเช่นเธอเล่า
ดังนั้น การฟังพระธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดปัญญา ปัญญาในที่นี้ก็ต้องแสดงด้วยว่าคือปัญญาที่เข้าใจถูกว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ดังนั้น มีชีวิตปกติ ที่เจริญอบรมปัญญาท่ามกลางอกุศล ถ้ามีตัวตนก็คิดว่าจะทำสิ่งที่ควร ละทิ้งสิ่งที่ไม่ควร ลืมกำลังของกิเลสและกำลังของปัญญาว่าเล็กน้อยเหลือเกิน ลืมหนทางที่ถูกว่าให้เข้าใจถูกว่าไม่ใช่เรา ดังนั้นการอธิบายให้ผู้อื่นฟัง ก็ค่อยๆ อธิบายเรื่องกิเลส เรื่องระดับปัญญา และเรื่องหนทางการดับกิเลส ละกิเลสมีหนทางเดียว คือ การเขา้ใจถูกว่าเป็นธรรมไม่ใช่เราครับ
จะหลอกตัวเองหรือจะยอมรับความจริง
จารุพรรณ มีผู้บ่นว่า พอฟังแล้ว อันนั้นก็เป็นโลภะ อันนี้ก็เป็นโทสะ รู้สึกว่าเป็นอกุศลทั้งวัน ชักจะท้อแล้ว เหมือนกับหมดกำลังใจ เกิดวิตกกังวล
อ.สุจินต์ สู้หลอกตัวเองว่าไม่มีไม่ได้ ใช่ไหมคะ อยากจะหลอกตัวเองต่อไป หรืออยากจะรู้ความจริง รู้จักตัวเองขึ้นให้ถูกต้อง วันนี้ตักตวงวัดอกุศลไม่ได้เลยว่า มากสักเท่าไร เพราะมากจริงๆ ชั่วขณะที่ฟังธรรมเป็นกุศล และขณะอื่นเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิต สำหรับคนที่สะสมกุศลมามาก วันหนึ่งกุศลมีโอกาสเกิดได้บ่อย แต่ไม่ได้หมายความว่ามากเท่าอกุศล เพราะเหตุว่าทันทีที่ลืมตาก็โลภะแล้ว แล้วจะให้บอกว่าอย่างไร ถ้าเป็นพระอรหันต์ซิคะ ลืมตาแล้วไม่มีหรอกโลภะ แต่เมื่อยังไม่เป็นพระอรหันต์ ก็ต้องยอมรับตามความเป็นจริง การที่จะรักษาโรค ก็ต้องรู้สมุฏฐานของโรค ถ้าไม่รู้สมุฏฐานแล้วจะละอย่างไร คนที่ไม่มีปัญญารู้ความจริง ไม่มีทางที่จะดับทุกข์หรือดับกิเลสได้เลย เมื่อมีกิเลสแล้วก็ยังไม่รู้ว่าเป็นกิเลส แล้วจะละกิเลสได้อย่างไร เมื่อไม่รู้ว่าเป็นกิเลส แต่ว่าผู้ที่รู้จักกิเลส สามารถละกิเลสได้ เพราะรู้ว่า กิเลสเป็นอย่างไร
ถ้ารู้ตัวเองว่าเป็นคนไม่ดี แล้วจะได้ทำดี กับคิดว่าตัวเองดีแล้ว พอแล้ว ก็ต่างกัน ใช่ไหมคะ ถ้าใครเขาบอกเราว่าไม่ดี เราจะรับไหมคะว่า จริงค่ะ ถูกค่ะ ไม่ดีจริงๆ เพราะตั้งแต่ลืมตาก็เป็นอกุศลมามากมายแล้ว
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขีรรุกขสูตร
“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ราคะ โทสะ โมหะ ของภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง มีอยู่ ในรูปอันจักขุวิญญาณพึงรู้แจ้ง ภิกษุหรือภิกษุณีนั้นไม่ละราคะ โทสะ โมหะนั้นแล้ว ถ้าแม้รูปอันจักขุวิญญาณพึงรู้แจ้ง ซึ่งมีประมาณน้อย มาปรากฏในจักษุของภิกษุหรือภิกษุณีนั้น ก็ยังครอบงำจิตของภิกษุหรือภิกษุณีได้ จะป่วยกล่าวไปไยถึงรูปอันมีประมาณยิ่ง จักไม่ครอบงำจิตของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นได้เล่า ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะราคะ โทสะ โมหะนั้นยังมีอยู่ ภิกษุหรือภิกษุณีนั้นยังละราคะ โทสะ โมหะนั้นไม่ได้”
(พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ขีรรุกขสูตร)
แต่ละคนก็เป็นแต่ละหนึ่ง ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรม กล่าวคือ จิต เจตสิก และ รูป ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับพืชเชื้อของกิเลส อันเป็นกิเลสที่ละเอียด ที่จะต้องถูกดับด้วยอริยมรรค (โสดาปัตติมรรค ถึงอรหัตตมรรค) ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กิเลสขั้นที่กลุ้มรุมจิต เกิดขึ้น และถ้ามีกำลังกล้า ก็สามารถล่วงเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ มีการประทุษร้ายต่อผู้อื่น เป็นต้น และเป็นที่น่าพิจารณาอีกว่า แต่ละบุคคลสะสมอกุศลมามาก เพราะความเป็นปุถุชนผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลส ซึ่งได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานจนนับไม่ได้ เมื่อได้ศึกษาพระธรรมแล้ว ก็จะค่อยๆ เห็นว่าขณะจิตที่เป็นไปในแต่ละวันนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นไปด้วยโลภะบ้าง โทสะ บ้าง หรือ ถ้าไม่เป็นโลภะหรือโทสะ ก็เป็น โมหะ ตลอดเวลาที่จิตไม่เป็นไปในการให้ทาน ไม่ได้เป็นไปในการรักษาศีล และ ไม่มีการอบรมเจริญปัญญา จากการฟังธรรมบ้าง สนทนาธรรมบ้าง เป็นต้น จิตก็จะเป็นอกุศลโดยส่วนใหญ่ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด ที่อกุศลจิตจะเกิดขึ้นเป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง อาจจะติดข้องมากๆ ก็ได้ อาจจะ โกรธมากๆ ก็ได้ เพราะยังไม่ได้ดับกิเลส นั่นเอง พร้อมทั้งแสดงให้เห็นความเป็นจริงของสภาพธรรม ได้ว่าธรรมเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยจริงๆ
ยาดีที่จะรักษาโรคกิเลสได้ทุกประเภทจริงๆ คือ ความเข้าใจพระธรรม ดังนั้น จึงขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมไม่ได้เลยจริงๆ ประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพื่อให้พระธรรมขัดเกลากิเลสในจิตใจของตนเองให้เบาบาง แล้วผลแห่งการเจริญปัญญาจะทำให้เกิดประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนเองด้วยการเห็นโทษของกิเลสทั้งปวง มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ตามความเจริญขึ้นของปัญญา เพราะปัญญาเท่านั้นที่จะสามารถละคลายและดับกิเลสได้อย่างเด็ดขาดในที่สุด ครับ
…ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ....