ธรรมที่ตรัสครั้งแรกเหมาะกับเราที่สุดใช่ไหม
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสัพพัญญูเพราะอย่างนั้นสมัยพุทธกาลถ้าพระพุทธเจ้าตรัสสั่งสอนอะไรกับเราโดยเฉพาะเป็นครั้งแรก (หรือครั้งแรกที่ทำให้บรรลุมรรคผล) แปลว่าธรรมนั้นเหมาะกับเราคู่ควรกับเราควรยึดถือฯลฯใช่ไหมฯ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดง ตลอด ๔๕ พรรษานั้น มีพระธรรมมากมาย ไม่ใช่เพียงธรรมที่แสดงครั้งแรก คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เท่านั้น เพรราะอะไรพระธรรมจึงมีมากมาย เพราะ สัตว์โลกแต่ละคน สะสมอุปนิสัยมาแตกต่างกัน บางท่านฟังสมมติสัจจะ ในเรื่องนี้แล้วบรรลุก็มี ตามการสะสมของบุคคลนั้นที่สะสมมา บางท่านฟังเรื่องปรมัตถสัจจะ ฟังเรื่อง ขันธ์ 5 แล้วบรรลุก็มี บางท่านฟังเรื่องอายตนะแล้วบรรลุก็มี บางท่านฟังเรื่อง ปฏิจจสมุปบาทแล้วบรรลุก็มี บางท่านฟังเรื่องไม่เที่ยง แล้วบรรลุก็มี เพราะในอดีตชาติสะสมความเข้าใจเรื่องควาไม่เที่ยงมามาก
นี่แสดงว่า พระธรรมที่พระุพทธเจ้าทรงแสดง ไมไ่ด้เป็นหลักสูตรตายตัวว่า สูตรนี้เท่านั้น เหมาะกับทุกคน ไม่เช่นนั้นก็จะไม่มีพระธรรมหลากหลายพระสูตร อันแสดงถึงการสะสมมาของแต่ละคน แต่ละหนึ่ง ไม่ซ้ำกันเลย พระพุทธเจ้า ไม่ได้แสดง ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ที่เป็น เทศนาครั้งแรกกับทุกคน เพราะต่างคนต่างสะสมมาไม่เหมือนกัน
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนอาจารย์ผู้ฉลาด ย่อมรู้ว่าศิษย์คนไหน สะสมอะไรมา ก็กล่าวแสดงให้เหมาะสมกับศิษย์นั้น มีนัยเทศนาโวหารหลากหลาย
ท่านพระสารีบุตร ให้ธรรมเรื่องอาการ ๓๒ ความเป็นปฏิกูลกับศิษย์ของท่าน แต่ก็ไม่บรรลุ เพราะไม่รู้การสะสมมาของศิษย์ พระพุทธเจ้า ตรัสเรียกศิษย์ของท่านพระสารีบุตร พระองค์ไม่ได้แสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แต่ ทรงให้พิจารณาดอกบัวสีทอง เพราะท่านนั้นในอดีตชาติเป็นนายช่างทองมา ๕๐๐ ชาติ และ ดอกบัวสีทองก็เหี่ยวแห้ง ท่านก็พิจารณาความไม่เที่ยง เป็นต้น ไม่นานก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ นี่แสดงถึง พระปัญญาของพระพุทธเจ้า พิจารณาการสะสมมาของแต่ละคน แต่ละหนึ่ง จึงมีความหลากหลายของพระสูตร ไม่มีสูตรเดียวตายตัว ครับ
ข้อความแสดงถึงสัตว์โลกสะสมมาต่างกัน จึงแสดงพระสูตรต่างๆ กัน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 103
เรื่องภิกษุ ๕๐๐ รูปอื่นอีก [๒๐๕]
พระศาสดาทรงพิจารณาว่า "กัมมัฏฐานอะไรหนอแล เป็นที่สบายของภิกษุเหล่านี้" จึงทรงดำริว่า "ภิกษุเหล่านี้ ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสป ตามประกอบแล้วในอนิจจลักษณะสิ้นสองหมื่นปี เพราะฉะนั้น การแสดงคาถาด้วยอนิจจลักษณะนั้นแลแก่เธอทั้งหลาย สัก ๑ คาถาย่อมควร ดังนี้แล้ว ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย สังขารแม้ทั้งปวงในภพทั้งหลายมีกามภพ เป็นต้น เป็นสภาพไม่เที่ยงเลย เพราะอรรถว่ามีแล้วไม่มี" ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
"เมื่อใด บัณฑิตย่อมเห็นด้วยปัญญาว่า 'สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง' เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์ ความหน่ายในทุกข์ นั่นเป็นทางแห่งความหมดจด"
ในเวลาจบเทศนา ภิกษุเหล่านั้นตั้งอยู่ในพระอรหัตตผลแล้ว เทศนา ได้สำเร็จประโยชน์แม้แก่บริษัทที่ประชุมกันแล้ว ดังนี้แล
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้าที่ ๒๘๙
อุบาลีเถรคาถา
“ชายผู้กล้าหาญ ถูกยาเบื่อ เขาจะเสาะแสวงหายาขนานศักดิ์สิทธิ์ ที่จะแก้ยาเบื่อ รักษาชีวิตไว้ เมื่อแสวงหา ก็จะพบยาขนานศักดิ์สิทธิ์ที่แก้ยาเบื่อได้ ครั้นดื่มยานั้นแล้ว ก็จะสบาย เพราะรอดพ้นไปจากพิษยาเบื่อ ฉันใด ข้าแต่พระมหาวีระ ข้าพระองค์ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นเหมือนนรชนผู้ถูกยาเบื่อ ถูกอวิชชาบีบคั้นแล้ว ต้องแสวงหายาขนานศักดิ์สิทธิ์ คือ พระสัทธรรม เมื่อแสวงหายาขนานศักดิ์สิทธิ์ คือ พระธรรม ก็ได้พบคำสั่งสอนของพระศากยมุนี คำสั่งสอนนั้นล้ำเลิศกว่าโอสถทุกอย่าง บรรเทาลูกศร (คือกิเลส) ทั้งมวลได้ ครั้นดื่มธรรมโอสถที่ถอนพิษทุกอย่างได้แล้ว ข้าพระองค์ก็สัมผัสพระนิพพาน ที่ไม่แก่ ไม่ตาย มีภาวะเยือกเย็น”
(ปรมัตถทีปนี อรรถกถาขุททกนิกาย เถรคาถา อุบาลีเถรคาถา)
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรม คือ สิ่งที่มีจริงๆ เมื่อเป็นความจริง ก็ย่อมจะพิสูจน์ได้ทุกกาลสมัย ธรรมเป็นความจริงที่จะไม่แปรเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น เมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีที่ทรงแสดงความจริงเป็นอย่างไร ก่อนหน้านั้นหรือว่าต่อไปในภายหน้าอีกนานแสนนาน ความจริงนี้ก็ไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น นี้คือความหมายของธรรม คือ สิ่งที่มีจริงทั้งหมด ทุกคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ล้วนแล้วเป็นไปเพื่อเข้าใจสิ่งที่มีจริงตรงตามความเป็นจริง พระองค์ได้ทรงแสดงพระธรรมตลอด ๔๕ พรรษา ด้วยพระหฤทัยที่ประกอบด้วยพระมหากรุณาที่มีต่อสัตว์โลก ให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูก พ้นจากกิเลสอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง มีผู้ที่ได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง มากมาย นับไม่ถ้วน แล้วพระธรรมคำสอนก็มีการทรงจำสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นพระสูตรไหน ส่วนใดของพระธรรม ทั้งหมด คุณค่ามากมายมหาศาล หาอะไรเปรียบไม่ได้เลย เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาโดยตลอด ดังนั้น จึงต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ศึกษาสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ให้เวลากับสิ่งที่มีค่าที่สุด ครับ.
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...