ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านก๋ง ต.บางนกแขวก อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เมื่อวันอังคารที่ ๑๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา และวิทยากร อาจารย์กุลวิไล สุทธิลักษณวนิช และ อาจารย์คำปั่น อักษรวิลัย ปธ.๙ ได้รับเชิญจากพันโทหญิงศิริลักษณ์ มิ่งโมฬี คุณพ่ออุดมและคุณแม่นวลศรี มิ่งโมฬี เพื่อไปสนทนาธรรม ณ บ้านก๋ง ต.บางนกแขวก อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ระหว่างเวลา ๑๐.๐๐ น. - ๑๕.๓๐ น.
บ้านก๋งหลังนี้ คือบ้านหลังเก่าแก่ดั้งเดิมที่เคยเป็นที่พักอาศัยของครอบครัวของก๋งของคุณศิริลักษณ์ (พ่อของคุณพ่ออุดม) ซึ่งตั้งอยู่ในสวนผลไม้ที่ร่มครึ้ม เขียวขจี ริมน้ำในอำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งคุณศิริลักษณ์ ได้ดำเนินการซ่อมแซมปรับปรุง ถ้าจะพูดให้ทันสมัยหน่อยก็ต้องพูดว่า มา "รีโนเวท" (Renovate) ใหม่ แต่ยังคงสภาพและบรรยากาศเดิมๆ ไว้ได้อย่างน่าชื่นชม ทราบจากคุณลักษณ์ว่า สถาปนิกผู้ที่ออกแบบ ควบคุมการก่อสร้างก็ไม่ใช่ใครที่ไหน คือคุณแต๋ม หทัยทิพย์ เทวกุล ณ อยุธยา สถาปนิกผู้ออกแบบอาคารของมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนานั่นเอง ซึ่งวันนี้ ท่านก็ได้เดินทางมาร่วมฟังการสนทนาด้วย พร้อมกับคุณแม่ คือ คุณสุชาดา สุทธิสารรณกร อนึ่ง ท่านทั้งสองเคยกราบเรียนเชิญท่านอาจารย์ไปสนทนาธรรมที่บ้านคุณแต๋ม ที่ซอยระนอง ๒ มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน ท่านที่สนใจขอเชิญคลิกอ่าน ได้ที่นี่... ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านคุณหทัยทิพย์ เทวกุล ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๔
บ้านริมน้ำหลังนี้ ร่มรื่น สบายตา โดยรอบมีอากาศที่สดชื่นเย็นสบายด้วยลมธรรมชาติ ในลำคลองมีสายน้ำที่ใสสะอาด แวดล้อมไปด้วยบ้านเรือนใกล้เคียงที่เรียงรายอยู่ริมน้ำ ดูเงียบสงบ มีทางเดินทอดยาวไปตลอดแนวลำคลองสุดสายตา ในใจก็คิดว่า ถ้ามีเวลามากพอ การได้เดินทอดน่อง ออกกำลัง ชมวิวสองฝั่งคลองไปตามทางเดินนี้ จะเป็นเวลายอดเยี่ยมที่สุดของการพักผ่อนเลยทีเดียว
ปกติแล้ว ในปัจจุบันนี้ คุณพ่ออุดม คุณแม่นวลศรี ของคุณศิริลักษณ์ พักอาศัยและทำการค้าเสื้อผ้าอยู่ในตัวเมืองราชบุรี จะมาพักอยู่ที่บ้านหลังนี้บ้างเป็นครั้งคราวเท่านั้น สำหรับในช่วงเวลาอื่นๆ บ้านก๋งหลังนี้ก็ได้ใช้เป็นที่สำหรับการสนทนาธรรมบ้างเป็นครั้งคราว เฉพาะอย่างยิ่งโดย "กลุ่มโบ๊เบ๊" ที่คุณแม่นวลศรีเป็นสมาชิกของกลุ่ม ซึ่งได้ใช้บ้านหลังนี้ เป็นที่สนทนาธรรมอยู่เสมอๆ
อนึ่ง ครอบครัวมิ่งโมฬี ได้เคยกราบเรียนเชิญท่านอาจารย์ไปสนทนาธรรม ณ บ้านมิ่งโมฬี ที่อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี มาแล้วหลายครั้ง ท่านที่สนใจ สามารถติดตามบันทึกการสนทนาดังกล่าว ได้ที่ลิงค์ที่แนบไว้ตอนท้ายของกระทู้นี้นะครับ
การสนทนาธรรมในครั้งนี้ อบอุ่นไปด้วยรอยยิ้มและความน่ารักของท่านเจ้าของบ้านที่ศึกษาพระธรรมจากท่านอาจารย์มานานแล้ว และมีความรัก ความเคารพท่านอาจารย์เป็นอย่างยิ่ง ทั้งอบอวลไปด้วยบรรยากาศของความอบอุ่นในมิตรภาพของสหายธรรมที่รักใคร่กลมเกลียวและคุ้นเคยกันมานาน จึงขออนุญาตนำความการสนทนาบางตอน ที่ท่านสนทนาถึงเรื่อง "ความดี" ที่ทุกคนพูดถึงกันบ่อยๆ แต่มีความละเอียด ลึกซึ้ง ตามพระธรรมที่ทรงแสดงอย่างไร มาฝากเพื่อทุกท่านพิจารณา ดังต่อไปนี้
อ.คำปั่น กราบท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ อาจารย์กุลวิไล และสวัสดีทุกท่านนะครับ วันนี้ก็มีการสนทนาธรรมะที่บ้านก๋ง บางนกแขวก สมุทรสงคราม ซึ่งก็เป็นบ้านของคุณลุงอุดม คุณป้านวลศรี และคุณศิริลักษณ์ มิ่งโมฬี วันนี้ก็เปิดบ้านหลังใหม่ ให้พวกเราได้มีโอกาสสนทนาธรรมะกับท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ก็เป็นโอกาสที่ดีจริงๆ ที่ได้สนทนาธรรมะ ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจในพระธรรม ก็จะปรารภเหตุประการต่างๆ ในการเจริญกุศล ในการสะสมความดี อย่างเช่นในวันนี้ ทางพี่ศิริลักษณ์ก็ปรารภถึงการขึ้นบ้านใหม่ โดยการเรียนเชิญท่านอาจารย์และคณะฯ มาสนทนาธรรมะ ก็เป็นโอกาสดี ในการที่จะได้ศึกษาสนทนาเพื่อความเข้าใจความเป็นจริงของธรรมะ
พี่ต่าย กราบท่านอาจารย์นะคะ ขึ้นต้นด้วย ความดีคือการสนทนาธรรม จากที่คุยกับเพื่อนๆ การสนทนาธรรมเป็นความดีอย่างไรคะ?
ท่านอาจารย์ ก่อนอื่น ก็ต้องรู้ว่า "ความดี" คืออะไร? ใช่ไหม? ไม่ว่าเราจะพูดคำอะไรทั้งหมด ต้อง "ทีละคำ" พอพูดถึงความดี เราพูดกันบ่อยมาก แล้ววันหนึ่งๆ ดีบ้างไหม? ใช่ไหม? หรือว่าเพียงแต่พูดเรื่องความดี พูดแล้วพูดอีก ว่าอะไรเป็นความดี แต่วันหนึ่ง วันหนึ่ง ดีหรือเปล่า?
เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจจริงๆ ว่า ดีคือเมื่อไหร่? (ดี) เมื่อขณะที่ไม่มีความติดข้องต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด วันนี้ดีหรือยัง? ยาก ใช่ไหม? แล้ว ดีคือ ไม่ได้ขุ่นเคืองหรือว่าพยาบาท หรือว่าโกรธใครเลย ไม่ว่าเขาจะทำอะไรก็ตามแต่ แต่ว่า ความดีคือขณะนั้นไม่โกรธ ให้อภัย แล้วก็หวังดี แล้วก็เป็นมิตร วันนี้ดีหรือยัง?
พี่ต่าย ยังค่ะ
ท่านอาจารย์ เห็นไหม? เพราะฉะนั้น ถ้าเราพูดเรื่องความดี โดยเราไม่ได้คิดให้เข้าใจจริงๆ ว่า แท้ที่จริง เราพูดเรื่องความดีทำไม? พูดเฉยๆ หรือ พูดเพื่อจะได้ดี? (หรือ) เพราะเห็นว่า ความดีต้องดีกว่าความไม่ดี และความดีที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ละเอียดมาก ใครจะคิดว่าวันนี้ทำดีได้ทั้งวัน ไม่ใช่ทุกขณะ แต่ว่ามีโอกาสที่จะทำสิ่งที่ดีได้ ถ้าขณะนั้น มีความเข้าใจถูกต้อง ว่าอะไรดี
เพราะฉะนั้น ที่สำคัญที่สุด คือ ไม่โลภ ไม่ติดข้อง มากมายมหาศาล หรือว่า ไม่โกรธ ไม่ขุ่นเคือง ไม่ขุ่นใจ เห็นไหม? ความละเอียด และ "ไม่ ไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ" นี่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่เราพูดบ่อยๆ ว่า ไม่โลภ แล้วก็ไม่โกรธ เข้าใจได้ แต่พอถึง "ไม่หลง" กำลังหลงหรือเปล่า?
ถ้าไม่รู้ตามความเป็นจริง ก็จะไม่เข้าใจเลยว่า เราเกิดมา ได้ยินคำเยอะแยะ คนโน้นก็พูดอย่างนี้ คนนี้ก็พูดอย่างนั้น แต่ "คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" จะทำให้มีความเข้าใจที่ละเอียด มั่นคง ลึกซึ้ง เป็นประโยชน์ และถูกต้องตลอดไป ไม่ใช่ว่าเดี๋ยวถูก เดี๋ยวผิด แต่ว่า ทุกอย่างที่ได้ยิน ได้ฟัง มีความถูกต้องที่ลึกซึ้งขึ้น
ที่สำคัญที่สุดคือ ไม่โลภ ก็พอจะรู้จักใช่ไหม? ตั้งแต่มากๆ จนกระทั่งถึงนิดเดียว เพราะว่าติดข้องกันทั้งวัน อาหารต้องอร่อย ติดข้องแล้ว ไม่โลภอย่างนี้ไม่ได้ แต่อย่าให้ถึงกับเป็นทุจริต ที่จะเบียดเบียนคนอื่น ห้ามโกรธก็ห้ามไม่ได้ บางคนเห็นอะไรก็ติเลย ดอกไม้นี่ก็เป็นอย่างนั้น ผ้านี่ก็เป็นอย่างนี้ มีเรื่องติได้ตลอดเวลา เพราะเห็นแต่ความไม่ถูกใจ จนเป็นนิสัย แต่ก็เป็นสิ่งซึ่งไม่ถึงกับทำร้ายเบียดเบียนใคร ก็ยังดี แต่หารู้ไม่ว่า สิ่งที่เล็กน้อยที่สุด เหมือนก้านไม้ขีด แต่เผาบ้านเผาเรือนได้!!
เพราะฉะนั้น อกุศลทุกประเภท ก็สามารถที่จะค่อยๆ เจริญขึ้น สะสมไป จนกระทั่งทำร้ายได้ แต่ลืมว่า ความไม่ดีทั้งหมด ก่อนอื่น ไม่ได้ทำร้ายใครเลยทั้งสิ้น แต่ "ทำร้ายจิต" ที่ขณะนั้น มี "สภาพธรรมะที่ไม่ดี" เกิดขึ้น!!
ก็เป็นเรื่องของแต่ละหนึ่งคน ซึ่งไม่เคยรู้เลยว่า อะไรบ้าง ดีชั่วแค่ไหน มากน้อยแค่ไหน ตั้งแต่เกิด ก็เห็นผ่านๆ ไปเรื่อยๆ แต่ถ้าพิจารณาแล้ว ก็จะเห็นประโยชน์อย่างยิ่ง ของการที่จะมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ว่าแท้ที่จริงแล้ว ความถูกต้องจริงๆ เดี๋ยวนี้คืออะไร? โดยมากเราก็ไปหาความถูกต้องไกลๆ ไกลตัว แต่ความจริงหรือความถูกต้องเดี๋ยวนี้ คืออะไร?
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้น เป็นธรรมดา" ประโยคนี้ผ่านหูไป ไม่รู้เลย แท้ที่จริง สิ่งที่มีแต่ละหนึ่ง ไม่เกิดไม่มี แต่เพราะเกิดขึ้นมี จึงมี
แต่ละคำเป็นคำที่ผ่านไปง่ายๆ ไม่ได้เลย เพราะต่อไปก็จะรู้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้น มีจริงๆ คืออะไร แต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง ไม่ปะปนกัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมะคือสิ่งที่มีจริง ที่เกิดขึ้นปรากฏ ว่า สิ่งใดก็ตามทั้งหมด ที่มีการปรุงแต่ง มีการเกิดขึ้น ไม่ใช่เรา และไม่ใช่ของเรา
ขณะนี้ บ้านนี้ของใคร? (หัวเราะกันครืน)
เห็นไหม? มีเจ้าของ และตัวเจ้าของบ้านล่ะ เห็นไหม? ไม่ใช่มีแต่บ้าน แต่ตัวเจ้าของบ้านล่ะ ของใคร? ก็ของตัวเจ้าของบ้าน ใช่ไหม? แสดงว่ามีความเป็นตัวตน "เรา" แล้วก็มี "ของเรา" ด้วย แต่ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความจริงว่า ไม่ว่าอะไรทั้งหมด ไม่ใช่เรา และไม่ใช่ของเรา และไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งหลงเข้าใจผิดว่าเป็นสิ่งนั้น นี่คือพระปัญญาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แล้วใครจะทำให้คนอื่นได้เริ่มเข้าใจถูกต้อง ว่าคำนี้เป็นคำจริง ทุกอย่างเกิดขึ้นต้องมีเหตุปัจจัย ไม่มีใครไปทำได้เลยสักอย่างเดียว เวลานี้ หิวไหม? ตอบได้ทั้งนั้นเลย ทุกอย่างที่จริงต้องจริง เวลานี้หิวไหม? ตอบสิคะ
พี่ต่าย ไม่หิวค่ะ
ท่านอาจารย์ ไม่หิว คนที่ไม่หิวก็มี คนที่หิวก็มี ใครไปทำให้หิว? ใครไปทำให้ไม่หิว? เห็นไหม? ไม่มีเลย แต่พอหิวเกิดขึ้น "เราหิว" แต่ก่อนที่จะหิว ไม่หิว แล้ว "เรา" อยู่ไหน? แต่พอหิวเกิดขึ้น เราหิว เพราะฉะนั้น ตอนไม่หิว หิวไม่เกิด หิวไม่เกิด ยังไม่เป็นเรา เพราะว่าหิวยังไม่เกิด แต่มีเราที่กำลังอยู่ตรงนี้
เพราะฉะนั้น ตั้งแต่เกิดจนตายไม่เคยรู้ความจริงเลย ว่า "เป็นธรรมะ" แค่คำเดียว "เป็นธรรมะ" เราก็ไปค้นคว้าหาใหญ่เลย ธรรมะคืออะไร คือคุณากร คืออะไรก็ท่องไป ว่าไป แต่ว่าความจริง ต้องละเอียดอย่างยิ่ง และต้องรู้ว่า คำไหนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ หมายความถึงอะไร "ธรรมะ" ไม่ใช่ภาษาไทย เป็นภาษามคธีซึ่งดำรงพระศาสนาสืบต่อมา จึงใช้คำว่าภาษาบาลีหรือปาละ ซึ่งหมายความถึงภาษาของชาวเมืองแคว้นหนึ่ง ซึ่งเขาพูดภาษานั้นเป็นธรรมดา แต่เราฟังแล้วไม่รู้เรื่อง เราไม่ใช่ชาวเมืองนั้น ต้องนั่งเรียนกันนานมาก กว่าจะเข้าใจความละเอียดของภาษานั้น
เพราะฉะนั้น แค่ "ธรรมะ" คำเดียว ประมาทไม่ได้เลย ถ้ารู้ธรรมะจริงๆ จะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าพระองค์ทรงตรัสรู้ธรรมะ และทรงแสดงธรรมะ ที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้ เพราะฉะนั้น แค่ "ธรรมะ" คำเดียวประมาทไม่ได้เลย มีใครบ้างซึ่งเคยเข้าใจมาก่อนที่จะได้ฟัง ว่าธรรมะคือสิ่งที่มีจริงทุกอย่าง เราเข้าใจว่าบางอย่างเป็นธรรมะ บางอย่างไม่ใช่ธรรมะ แต่ความหมายของธรรมะก็คือสิ่งที่มีจริงๆ ขณะนี้อะไรมีจริงเป็นธรรมะทั้งหมด
"กำลังเห็น" พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่ามีจริงไหม? จริง สิ่งที่มีจริงนั้นแหละ เป็นธรรมะ ไม่ได้ตรัสว่าเป็นของใครหรือเป็นใคร เพราะเหตุว่า เห็นมีจริง นกก็เห็น งูก็เห็น ช้างก็เห็น แล้วเห็นเป็นช้างหรือเห็นเป็นนกหรือเห็นเป็นคนหรือเห็นเป็นงู เห็นเป็นอะไรไม่ได้เลย เปลี่ยนไม่ได้ ธรรมะคือสิ่งที่มีจริงๆ จะเปลี่ยนธรรมะให้เป็นคนได้ไหม? ไม่มีทาง!! เปลี่ยนให้เป็นงูได้ไหม? ไม่ได้ ธรรมะก็ต้องเป็นธรรมะแต่ละหนึ่ง
เพราะฉะนั้น "เห็นเป็นเห็น" ไม่ใช่ "เราเห็น" แค่นี้ ฟังแล้วเป็นอย่างไร? ไม่เคยคิดหรอกว่าเห็นไม่ใช่เราเห็น ใช่ไหม? เห็นทีไรเป็นเราทุกที หมายความว่า ผิดมานานมาก หลงเข้าใจสิ่งซึ่งยังไม่เกิดก็ไม่มี แต่เมื่อเกิดมีแล้วก็ดับไป แล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย เห็นเมื่อวานนี้ไม่ใช่เห็นวันนี้ เห็นเมื่อกี้นี้ ไม่ใช่เห็นขณะนี้ และเห็นขณะนี้ก็ดับ ที่เห็นเกิดต่อไปก็ไม่ใช่เห็นขณะนี้แล้ว
ถ้าไม่เห็นความลึกซึ้งอย่างนี้ เราจะเคารพสูงสุดยิ่งกว่าสิ่งอื่น คือคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระองค์ซึ่งเป็นผู้ที่ทรงตรัสรู้และให้เราได้มีความเข้าใจอย่างนี้ได้ไหม? ถ้าเราไม่เข้าใจ "แต่ละคำ"
เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมะ ไม่ใช่ไปฟังเรื่องยาวๆ แล้วก็ ให้เราทำอย่างนั้น ให้เราทำอย่างนี้ "ให้เราทำ" ไม่ได้!! ไม่มีเรา!! แต่ว่า "ความจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้" จะนำไปสู่สิ่งที่ดี ที่ถูกต้องยิ่งขึ้น เมื่อได้ "เข้าใจ" คำของพระองค์ยิ่งขึ้น...
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของคุณอุดม คุณนวลศรี และพันโทหญิงศิริลักษณ์ มิ่งโมฬี
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ
.........
ขอเชิญคลิกชมกระทู้ที่เกี่ยวข้อง ได้ที่นี่...
- ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านมิ่งโมฬี สวนผึ้ง ๒๒ - ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๔
- ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านมิ่งโมฬี สวนผึ้ง ๓๐ ต.ค. - ๑ พ.ย. ๒๕๕๕
- ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านมิ่งโมฬี สวนผึ้ง ราชบุรี ๒๖ - ๒๘ พ.ย. ๒๕๕๖
- ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านมิ่งโมฬี สวนผึ้ง ราชบุรี ๑๐-๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
- ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ เมืองลัคเนา รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย ๒๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
- ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร ๔ มิถุนายน ๒๕๖๒
- ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ๒๒ มกราคม ๒๕๖๓
- ณ กาลครั้งหนึ่ง.....กับเรื่องราวของ คุณ John Lloyd Griffiths ผู้ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย