เป็นไปได้ไหมที่เราจะตกนรกชั่วนิรันดร์

 
กล้า
วันที่  15 เม.ย. 2563
หมายเลข  31749
อ่าน  804

หากเราปรามาสพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทางใจพระพุทธเจ้าท่านมีมากมายนับอนันต์ เช่นนี้เราก็ต้องตกนรกชั่วนิรันดร์หรือ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 16 เม.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อริยุปวาท คือ เจตนา ว่าร้ายพระอริยเจ้า ซึ่งมีพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระสาวก รวมทั้งแม้พระอริยเจ้าที่เป็นคฤหัสถ์ การมีเจตนาด้วยจิตที่เป็นอกุศล เจตนาว่าร้ายและทำการว่าร้าย ชื่อว่า อริยุปวาท ซึ่งการติเตียนว่าร้ายพระอริยเจ้า ก็ด้วยการกล่าวว่าร้ายในสิ่งที่ไม่จริง เป็นต้น ว่ากล่าวว่าไม่มีคุณความดี ติโทษพระอริยเจ้าครับ ซึ่งโทษก็คือห้าม สวรรค์และมรรคผล นิพพาน โทษหนักเท่าอนันตริยกรรม

การกล่าวว่าร้ายพระอริยเจ้า คือ บุคคลนั้น จะต้องเป็นพระอริยเจ้า และไม่ใช่เพียงคิดในใจ แต่มีเจตนาพูดออกมาว่าร้ายท่าน ด้วยคุณธรรมของท่านเป็นสำคัญ ว่าท่านไม่ได้มีคุณธรรมอย่างนี้ เป็นต้น

อริยุปวาท สำคัญที่เจตนา ว่ามีเจตนาว่าร้ายที่เป็นผรุสวาจาหรือไม่ แม้การขอขมาก็เช่นกัน สำคัญที่เจตนา หากมีเจตนาขอขมา สำนึกผิด และกล่าวการขอขมา หากท่านมรณภาพไปแล้ว ก็สามารถที่จะไปที่วัดที่มีการทำการเผาศพท่านก็ได้ หรือ นึกถึงท่าน และ ขอขมาก็ได้ เพราะ มีเจตนาที่จะสำนึกในสิ่งที่ทำไป และกล่าวขอขมา ด้วยเจตนาการขอขมานี้ ก็เป็นการที่จะเห็นโทษ และ ไม่กั้นสวรรค์มรรคผล ในชาตินั้น สบายใจได้นะครับ

วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 220

ถ้าพระอริยะนั้นเป็นเอกจาริกภิกขุ (ภิกษุผู้จาริกไปผู้เดียว) สถานที่อยู่ของท่านไม่มีใครรู้ สถานที่ไปขอท่านเล่าก็ไม่ปรากฏไซร้ ก็พึงไปหาภิกษุที่เป็นบัณฑิตรูปหนึ่ง แล้วบอก (ปรึกษาท่าน) ว่า "ท่านขอรับ กระผมได้กล่าวถึงท่าน กะท่านผู้มีอายุชื่อโน้น วิปฏิสาร (เกิดมีแก่กระผมทุกทีที่ระลึกถึงท่าน กระผมทำอย่างไร (ดี) " ภิกษุบัณฑิตนั้นจะกล่าวว่า "ท่านอย่าคิดไปเลย พระเถระจะย่อมอดโทษให้แก่ท่าน ท่านจงทำจิตให้ระงับเถิด" ฝ่ายเธอก็พึงบ้างหน้าต่อทิศทางที่พระอริยะไป ประคองอัฐชลีกล่าว (ขึ้น) ว่า "ขมตุ" - ขอพระเถระนั้นขงอดโทษเถิด"

ถ้าพระอริยะนั้นเป็นผู้ปรินิพพานเสียแล้ว เธอพึงไป (ให้) ถึงที่ที่นับว่าเป็นเตียงที่ท่าน ปรินิพพาน กระทั่งถึงป่าช้าผิดิบก็ดี ขอขมา (ท่าน) เถิด

เมื่อได้ทำ (การขอขมา) เสียได้อย่างนี้แล้ว กรรมนั้นก็ไม่เป็นสัคคาวรณ์ ไม่เป็นมัคคาวรณ์เลย (กลับ) เป็นปกติเท่านั้นเองแล

เมื่อได้ทำผิดแล้ว สำนึกผิด เห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้วมีความจริงใจที่จะน้อมประพฤติในสิ่งที่ดีงามต่อไป ย่อมเป็นสิ่งที่ดี เป็นความประพฤติเป็นไปของคนดี

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงจึงเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกอย่างแท้จริง ผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษา พิจารณาไตร่ตรอง แล้วน้อมที่จะประพฤติตามพระธรรม ขัดเกลากิเลสของตนเอง ย่อมจะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง ซึ่งเมื่อได้ศึกษาพระธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา ก็จะเข้าใจได้ว่า ไม่มีคำสอนแม้แต่บทเดียวที่จะส่งเสริมหรือสนับสนุนให้คนเกิดอกุศลเลยแม้เพียงเล็กน้อย พระธรรม จึงเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสอย่างแท้จริง เมื่อมีความเข้าใจพระธรรมเป็นเครื่องนำทางชีวิตแล้ว ก็จะทำให้ความประพฤติเป็นไปในชีวิตประจำวัน เป็นไปในทางที่ดีที่ถูกที่ควรยิ่งขึ้น ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ ครับ

ขอเชิญอ่านคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ที่นี่ ครับ

ท่านอาจารย์ ก็ต้องเป็นความชัดเจน ไม่ว่าจะพูดถึงเรื่องอะไร ก็ควรที่จะให้ได้เข้าใจกระจ่างเท่าที่จะเข้าใจได้ เพราะฉะนั้น คุณบุษกรก็คงคิดถึงว่า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ปรินิพพานแล้ว แล้วเราจะไปขอขมาอะไรอย่างนี้ ก็ดูเหมือนว่า แล้วจะหายหรือ ที่เราได้กระทำไป ขอขมา แต่ว่าตามความเป็นจริง ไม่ว่าใครก็ตามที่ได้กระทำกรรมแล้ว ถึงแม้คนอื่นจะยกโทษ แต่กรรมนั้นก็ยังเป็นเหตุให้เกิดผล ถูกไหมคะ

เพราะฉะนั้น แต่ละคนก็มีทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม โดยเฉพาะการที่จะกล่าวคำขอโทษ หมายความว่า คนนั้นต้องรู้สึกตัวจริงๆ ว่าทำสิ่งที่ผิด เพราะว่าไม่ควร เพราะฉะนั้น บางคนรู้ตัวว่าผิด ขอโทษไม่ได้ไม่ได้เลยค่ะ ทั้งๆ ที่ผิด ก็ไม่ยอมที่จะขอโทษ นั่นก็แสดงให้เห็นว่า ไม่มีกุศลจิต ไม่ละอายในอกุศลที่ได้กระทำแล้ว ต่อสิ่งที่เป็นพระรัตนตรัยหรือว่าบุคคลหนึ่งบุคคลใดก็ตาม เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่เกิดกุศลจิต นอบน้อมต่อผู้ที่เราขอขมา เป็นการแสดงความเคารพ ความนอบน้อมนั่นเองค่ะ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 16 เม.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอหรันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ได้ศึกษาเรื่องอบายภูมิ มี นรก เป็นต้น ก็เพื่อที่จะให้ทุกคนเป็นผู้ไม่ประมาทในกุศล ไม่ประมาทในการเจริญกุศล ไม่ประมาทในการอบรมเจริญปัญญา เพื่อที่จะได้รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง พ้นจากการที่จะต้องเกิดในอบายภูมิ รวมถึงพ้นจากการเกิดในภพภูมิอื่นๆ ทั้งหมดอีกด้วย ซึ่งเป็นการแสดงถึงความสิ้นทุกข์ในวัฏฏะ ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป ครับ


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่มที่ ๔๒ หน้าที่ ๑๗๘ - ๑๘๐

เรื่องปฐมโพธิกาล

ในเวลาอรุณขึ้นทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ พร้อมด้วยอัศจรรย์หลายอย่าง เมื่อจะทรงเปล่งอุทานที่พระพุทธเจ้าหลายแสนพระองค์ไม่ทรงละแล้ว จึงได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า "เราแสวงหานายช่างผู้ทำเรือน เมื่อไม่ประสบ จึงได้ท่องเที่ยวไปสู่สังสาระ มีชาติเป็นเอนก ความเกิด บ่อยๆ เป็นทุกข์ แน่ะนายช่างผู้ทำเรือน เราพบท่าน แล้ว ท่านจะทำเรือนอีกไม่ได้ ซี่โครงทุกซี่ของท่าน เราหักเสียแล้ว ยอดเรือนเราก็รื้อเสียแล้ว จิตของเรา ถึงธรรมปราศจากเครื่องปรุงแต่งแล้ว เพราะเรา บรรลุธรรมที่สิ้นตัณหาแล้ว"


พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นบุคคลผู้เลิศ ผู้ประเสริฐที่สุดในโลก กว่าที่พระองค์จะได้ตรัสรู้นั้น ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาตลอดระยะเวลาที่ยาวนานมาก พระคุณของพระองค์นั้นมีมากมาย พระคุณของพระพุทธเจ้า เมื่อประมวลแล้ว สรุปรวมลงใน ๓ ประการ คือ พระบริสุทธิคุณ (ทรงดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาด ทรงมีความบริสุทธิ์ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ) พระปัญญาคุณ (ทรงมีพระปัญญาที่รู้สภาพธรรมทุกอย่างไม่มีเหลือ) พระมหากรุณาคุณ (ทรงมีพระทัยประกอบด้วยเมตตาเกื้อกูลสัตว์โลก ด้วยการแสดงพระธรรม ในแต่ละวัน พระองค์ทรงพักผ่อนน้อยมาก ส่วนใหญ่แล้วเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ต่อสัตว์โลกทั้งปวง) พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกๆ พระองค์ [ไม่เพียงพระองค์เดียว แต่หลายแสนพระองค์] ล้วนเป็นผู้ทรงอุบัติขึ้นเพื่อประโยชน์แก่สัตว์โลกอย่างแท้จริง บุคคลผู้ที่เห็นประโยชน์ของพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง จึงมีการฟัง มีการศึกษา สะสมความเข้าใจไปตามลำดับ เมื่อศึกษาเข้าใจความจริงแล้ว ย่อมจะมีความซาบซึ้งมากขึ้นในพระคุณของพระพุทธองค์ ทั้งพระบริสุทธิคุณ พระปัญญาคุณ และ พระมหากรุณาคุณ ตามปัญญาของตนเอง ผู้ที่ขาดการฟัง ขาดการศึกษา ไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ย่อมไม่สามารถที่จะเข้าใจถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าได้เลยแม้แต่นิดเดียว ครับ.

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 23 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ