มีข้อสงสัยเกี่ยวกับดิรัจฉานกถาครับ
ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์
ในเรื่องการพูดเพ้อเจ้อ คือพูดดิรัจฉานกถามีเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องสมุทร เรื่องความเจริญและความเสื่อม
1. คือมีข้อสังเกตว่า พระภิกษุเองก็มีช่วงเวลาทำจีวร หรือจีวรกาล แบบนี้จะไม่เข้าข่ายพูดเรื่องผ้าด้วยหรือครับ
2. คฤหัสถ์ไม่สามารถจะปฏิบัติกุศลกรรมบถ 10 ให้ครบถ้วน โดยไม่ผิดข้อพูดเพ้อเจ้อได้เลยเหรอครับ เพราะการพูดในชีวิตประจำวันยังไงก็ต้องเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้
ขอบคุณครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
จะเป็นกุศลหรืออกุศลจิตนั้นสำคัญที่จิตและสำคัญที่เจตนาครับ ดังนั้นคำพูดใดเป็นคำพูดเพ้อเจ้อก็สำคัญที่เจตนา ไม่ใช่เรื่องที่จะพูด สำคัญที่จิตครับ เช่น แม้จะพูดเรื่องราวของบุคคลอื่น เช่น เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องโจร แต่พูดด้วยจิตที่เห็นถึงความไม่เที่ยงว่า แม้โจรคนนี้จะเก่งเพียงใดก็ต้องตาย มีความไม่เที่ยงเป็นที่สุด แม้ข้าว น้ำที่มีมากเพียงใด ข้าวและน้ำนั้นก็ต้องถึงความสิ้น เสื่อมไปเป็นธรรมดา คำพูดนี้ไม่ใช่คำพูดเพ้อเจ้อ แม้จะกล่าวเรื่องของโจร เรื่องของข้าว เรื่องของน้ำ เพราะเจตนากล่าวด้วยจิตที่เป็นกุศล ด้วยจิตที่เห็นตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่ไม่เที่ยงโดยปรารภเรื่องราวในชีวิตประจำวัน แต่จิตขณะนั้นเป็นความเห็นถูก หากจิตเป็นกุศลแล้ว เรื่องราวที่พูดจะเป็นคำพูดเพ้อเจ้อไม่ได้เลยครับ
แม้การถามสาระทุกข์ เมื่อพบปะกันก็ด้วยจิตที่เป็นกุศลได้ อกุศลก็ได้ เรื่องราวเดียวกัน แต่จิตต่างกัน ทักทายกันเพราะโลภะก็ได้ แม้จะคำพูดเดียวกัน แต่อีกบุคคลพูดด้วยจิตที่ดีงามเป็นกุศลหรือกิริยาจิตก็ได้ครับ ดังเช่น พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ย่อมมีธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันคือ ย่อมถามถึงสาระทุกข์ ถามถึงความเป็นไปของภิกษุผู้อาคันตุกะที่มาถึง ว่าเธอพออดทนได้หรือ ถามถึงความเป็นไปต่างๆ ด้วยจิตที่ดี ดังนั้น เรื่องราวที่พูดจึงไม่ใช่การตัดสินว่าเป็นพูดเพ้อเจ้อ สำคัญที่จิตและเจตนาเป็นสำคัญ ครับ
ที่สำคัญควรเข้าใจความจริงว่า ปุถุชนเป็นผู้หนาด้วยกิเลส จึงเป็นธรรมดาที่อกุศลย่อมเกิดได้ง่าย ดังนั้นในชีวิตประจำวันก็มีการพูด แต่การพูดนั้นก็ย่อมเป็นไปในอกุศลมากกว่าจิตที่เป็นกุศล มีการพูดเพ้อเจ้อ เรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ ด้วยจิตที่เป็นอกุศลครับ จึงเป็นผู้ตรงว่าเป็นธรรมดาที่จะต้องมีการพูดเพ้อเจ้อ ไม่มากก็น้อย ซึ่งผู้ที่จะไม่พูดเพ้อเจ้ออีกเลยคือพระอรหันต์ครับ ส่วนในองค์ของศีล ๕ นั้นไม่มีเรื่องการพูดเพ้อเจ้อ มีแต่เพียงการพูดเท็จ ดังนั้นศีล ๕ ไม่ขาดเพราะเหตุแห่งการพูดเพ้อเจ้อครับ แต่ที่สำคัญเมื่อปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้น ก็ย่อมค่อยๆ ขัดเกลากิเลสทีละน้อย ค่อยๆ เห็นโทษแม้การพูดในเรื่องที่จะไม่เป็นประโยชน์กับตนเองและผู้อื่นครับ แม้จะยังละไมไ่ด้ เพราะไม่ใช่ฐานะ แต่เริ่มที่จะเห็นโทษแม้ด้วยใจบ้างหรือยังเท่านั้น ครับ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ในความหมายของการพูดเพ้อเจ้อ หรือ พูดสัมผัปปลาปะนั้น หมายถึง อกุศลเจตนาที่จงใจพูดในเรื่องที่ไม่มีประโยชน์แก่ผู้อื่น
การพูดเพ้อเจ้อ มีองค์ประกอบ ๒ อย่าง คือ มุ่งที่จะพูดคำที่ไร้ประโยชน์ และ มีการกล่าวถ้อยคำเช่นนั้นออกไป ซึ่งเกิดจากอกุศลจิต นั่นเอง แต่ก็ไม่ได้หมายรวมความว่า การพูดเรื่องทั่วไปแล้วจะเป็นการพูดเพ้อเจ้อทั้งหมด เพราะเหตุว่าพระธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด ลึกซึ้ง และพิจารณาที่สภาพจิตเป็นสำคัญ
ดังนั้น การจะผิดอกุศลกรรมบถข้อการพูดเพ้อเจ้อ ซึ่งเป็นวจีทุจริต นั้น ต้องหมายถึงเฉพาะการพูดด้วยอกุศลเจตนา ให้ผู้อื่นรับรู้ในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ เท่านั้น
เพราะฉะนั้น ประโยชน์ที่ได้จากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ในส่วนของอกุศลธรรม นั้น ก็เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เห็นโทษเห็นภัยของอกุศลธรรม แล้วถอยกลับจากอกุศลธรรม แม้จะเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม เพราะเหตุว่า ถ้าเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยก็จะเป็นผู้ประมาท ในที่สุดแล้วก็จะเป็นอกุศลที่มีมาก มีกำลังล่วงจนกระทั่งล่วงเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ ได้ ครับ
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...