เวทนา vs ธรรมารมณ์

 
T.S.
วันที่  21 เม.ย. 2563
หมายเลข  31783
อ่าน  951

สวัสดีครับ ผมอยากทราบว่าเวทนากับธรรมารมณ์แตกต่างกันยังไงครับ ผมพยายามคิดมานานแล้วแต่ก็หาคำตอบไม่ได้สักที

ขอบคุณมากครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 21 เม.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธัมมารมณ์ เป็นอารมณ์ที่จิตรู้ได้เฉพาะทางใจทางเดียวเท่านั้น มี ๖ อย่าง

๑. จิต ๘๙

๒. เจตสิก ๕๒

๓. ปสาทรูป ๕

๔. สุขุมรูป ๑๖

๕. นิพพาน

๖. บัญญัติ

ธัมมารมณ์ ๕ คือ ปสาทรูป สุขุมรูป จิต เจตสิก นิพพาน เป็นปรมัตถธรรม ธัมมารมณ์ คือ บัญญัติ ไม่ใช่ปรมัตถธรรม

ส่วน เวทนา คือ ความรู้สึก นั้น มี ๕ คือ ความรู้สึกที่เป็นสุขทางกาย (สุขเวทนา) ความรู้สึกที่เป็นสุขทางใจ (โสมนัสเวทนา) ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ทางกาย (ทุกขเวทนา) ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ทางใจ (โทมนัสเวทนา) และ ความรู้สึกเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ (อทุกขมสุขเวทนา หรือ อุเบกขาเวทนา) ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นตามสมควรแก่จิตประเภทนั้นๆ ซึ่งเวทนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง ในขณะที่เห็นเกิดขึ้นมีเวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยแต่เป็นอุเบกขาเวทนาเท่านั้น ส่วนเหตุให้เกิดเวทนาคือ ผัสสะ ครับ

ซึ่งเวทนาก็เป็นธัมมารมณ์ด้วย เพราะเป็นเจตสิกหนึ่งคือเวทนาเจตสิก ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ประสาน
วันที่ 22 เม.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ประสาน
วันที่ 22 เม.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Somporn.H
วันที่ 22 เม.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 22 เม.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความใน พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้าที่ ๑๕๘

แสดงความหมายและประเภทของเวทนาไว้ดังนี้

“ธรรม มีสุขเป็นต้นแม้ทั้งหมด ชื่อว่า เวทนา เพราะอรรถว่า ย่อมรู้สึก คือ ย่อมเสวยรสของอารมณ์ บรรดาเวทนาเหล่านั้น สุขเวทนา มีความเสวยอารมณ์ที่น่าปรารถนาเป็นลักษณะ ทุกขเวทนา มีการเสวยอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาเป็นลักษณะ อทุกขมสุขเวทนา (ความรู้สึกไม่สุข ไม่ทุกข์ หรือ อุเบกขาเวทนา) มีการเสวยอารมณ์ผิดแปลกจากเวทนาทั้งสอง”


เวทนา หรือ ความรู้สึกนั้น มี ๕ ประเภทโดยละเอียด ได้แก่ ความรู้สึกที่เป็นสุข (สุขเวทนา) ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ (ทุกขเวทนา) เวทนาทั้ง ๒ อย่างนี้ หมายความถึงความรู้สึกทางกาย เช่น เวลาที่เจ็บไข้ได้ป่วย ความรู้สึกที่เป็นทุกข์เกิดขึ้น เป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะปัจจัยปรุงแต่ง แต่ไม่ใช่จิต ความรู้สึกขณะที่เป็นทุกข์ทางกายเกิดขึ้นนั้นเป็นความรู้สึกที่มีจริง ต้องอาศัยกาย จึงเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีกาย ก็จะไม่หิวไม่ปวด ไม่เมื่อย ทุกขเวทนาเกิดขึ้นไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ความรู้สึกเป็นทุกข์ทางกาย เป็นทุกขเวทนา และ ความรู้สึกเป็นสุขทางกาย เป็นสุขเวทนา ในขณะที่สัมผัสสิ่งที่น่าปรารถนาน่าใคร่น่าพอใจ และอีก ๓ เวทนาเป็นความรู้สึกดีใจ คือ โสมนัสเวทนา ความรู้สึกเสียใจ ไม่สบายใจ เป็นโทมนัสเวทนา และ ความรู้สึกที่เป็นอุเบกขา หรือ อทุกขมสุขเวทนา เป็นความรู้สึกที่ไม่สุขไม่ทุกข์ คือ เฉยๆ แต่เมื่อกล่าวโดยเวทนา ๓ แล้ว สุขทางกาย (สุขเวทนา) กับ ความรู้สึกดีใจ (โสมนัสเวทนา) เป็น สุขเวทนา ความรู้สึกทุกข์ทางกาย (ทุกขเวทนา) และ ความรู้สึกที่เป็นความเสียใจไม่สบายใจ (โทมนัสเวทนา) เป็น ทุกขเวทนา และอีกเวทนาหนึ่ง คือ ความรู้สึกที่เป็นอุเบกขาเวทนา หรือ อทุกขมสุขเวทนา (ไม่สุข ไม่ทุกข์ คือ เฉยๆ) จึงรวมเป็นเวทนา ๓ ประการ

เวทนา ไม่ใ่ช่ สี เสียง กลิ่น รส และ โผฏฐัพนะ เวทนาเป็นอารมณ์ที่รู้ได้เฉพาะทางใจเท่านั้น รู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายไม่ได้ จึงเป็นธัมมารมณ์ ตามความเป็นจริงของสภาพธรรม ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 8 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ