บุญกับกุศลเป็นธรรมอันหนึ่งอันเดียวกันหรือไม่

 
Tongwichit
วันที่  1 พ.ค. 2563
หมายเลข  31821
อ่าน  693

สงสัยว่าทำไมจึงต้องมีการเรียกชื่อต่างกันจะมีความละเอียดต่างกันอย่างไรบัางครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 1 พ.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กุศล เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม เป็นสภาพธรรมที่ตัดซึ่ง อกุศลธรรม กุศลเป็นนามธรรม หมายถึง สภาพจิตใจที่ดีงาม ซึ่งจิตใจที่ดีงามนี้ ทำให้เกิดผลที่เป็นสุข, จิตใจที่ดีงาม ย่อมเป็นเหตุ ทำให้ได้รับ ผลที่ดีงามด้วย ฉะนั้น ถ้าใครมีจิตใจที่ดีงาม โดยที่ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ขณะนั้นเป็นกุศล รวมความว่า ขณะใดที่ จิตประกอบด้วยเจตสิกที่ดีงาม เช่น ศรัทธา สติ ปัญญา เป็นต้น และ ไม่ประกอบด้วย เจตสิกที่ไม่ดี คือ ไม่มีกิเลส คือ ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎก อธิบายไว้ในศัพท์คำว่า กุศล ไว้ดังนี้ ครับ

[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้า ๒๒๖

กุศล ศัพท์ ใช้ในอรรถว่า ความไม่มีโรค ความไม่มีโทษ ความฉลาด และมีสุขเป็นวิบาก.

สภาวะที่ชื่อว่า กุศล เพราะอรรถว่า ยังปาปธรรมอันบัณฑิตเกลียดให้ไหว ให้เคลื่อนไป ให้หวั่นไหว คือ ให้พินาศ.

ชื่อว่า กุศล เพราะอรรถว่า ธรรมแม้เหล่านี้ ย่อมตัดส่วนทั้งกิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต) ที่ถึงส่วนทั้งสอง คือ ที่เกิดขึ้นแล้วและยังไม่เกิด เหมือนหญ้าคาย่อมบาดส่วนแห่งมือที่ลูบคมหญ้าทั้งสอง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กุศล เพราะอรรถว่า ย่อมตัด คือ ย่อมทำลายอกุศล เหมือนหญ้าคา ฉะนั้น.

ซึ่ง ควรอ่านคำอธิบายเพิ่มเติมของท่านอาจารย์สุจินต์ใน กุศลศัพท์ ดังนี้ ครับ

ข้อความบางตอนจากคำบรรยายของท่านอาจารย์

เรื่อง กุศล

สำหรับ ความหมายของคำว่า “กุศล” ข้อความในอัฏฐสาลินี จิตตุปาทกัณฑ์ ได้แสดงความหมายของกุศลศัพท์ มีข้อความว่า กุศลศัพท์ ใช้ในอรรถ ว่า ความไม่มีโรค ความไม่มีโทษ ความฉลาด และ มีสุข เป็นวิบาก.

คือ ลักษณะของ สภาพธรรมที่เป็น กุศล ในขณะนั้นเป็นสภาพที่ไม่มีโรค คือ ไม่มีกิเลส ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ ในขณะนั้นเมื่อไม่มีกิเลส ก็ย่อมไม่มีโทษ ไม่เป็นโทษทั้งตนเองและกับบุคคลอื่น ขณะใดที่กิเลสเกิดขึ้น ถ้าไม่พิจารณาว่าขณะนั้นเป็นโรค โรคทางกายเห็นได้ เจ็บปวด ทุกข์ทรมาน ไม่มีใครต้องการเลย แต่โรคทางใจไม่เคยเห็น แต่ถ้าทราบว่าขณะใดที่กิเลสเกิด ขณะนั้นเป็นโรค เพราะฉะนั้น จิตนี้มีโรคหลายอย่าง แล้วแต่ว่าจะเป็นโรคโลภะ โรคโทสะ โรคอิสสา โรคมัจฉริยะ ก็มีประเภทของโรคต่างๆ ซึ่งก็ปรากฏอาการได้ จากคำพูดหรือว่าการกระทำ

แต่สำหรับ กุศลธรรม นั้น ไม่มีโรค คือ ไม่มีกิเลส เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีโทษ นอกจากนั้นสำหรับกุศลบางประเภทก็เป็นความฉลาด และกุศลทุกประเภทมีสุขเป็นวิบาก

สภาวะที่ชื่อว่า กุศล เพราะอรรถว่า ยังปาปกธรรมอันบัณฑิตเกลียด ให้ไหว ให้เคลื่อนไป ให้หวั่นไหว คือให้พินาศ. อีกอย่างหนึ่ง สภาวธรรมใด ย่อมผูกพันโดยอาการที่บัณฑิตเกลียด สภาวธรรมนั้น ชื่อว่า กุสะ ธรรม ที่ชื่อว่า กุศล เพราะอรรถว่าย่อมถอนขึ้น คือย่อมตัด กุสะ กล่าวคือ อกุศลเหล่านั้น. อีกอย่างหนึ่ง ญาณ ชื่อว่า กุสะ เพราะทำอกุศลอันบัณฑิตเกลียดให้สิ้นสุด หรือเบาบาง. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า กุศล เพราะอรรถว่า อันญาณชื่อ กุสะ นั้นพึงตัด คือ พึงถือเอา พึงให้เป็นไปทั่วด้วยกุสญาณนั้น.

นี่คือทุกๆ ขณะที่เป็น กุศล แม้ในขณะนี้

อีกอย่างหนึ่งชื่อว่า กุศล เพราะอรรถว่า ธรรมแม้เหล่านี้ ย่อมตัดส่วน สังกิเลส ที่ถึงส่วนทั้งสอง คือ ที่เกิดขึ้นแล้วและยังไม่เกิด เหมือนหญ้าคาย่อมบาดส่วนแห่งมือที่ลูบคมหญ้าทั้งสอง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กุศล เพราะอรรถว่า ย่อมตัด คือ ย่อมทำลายอกุศล เหมือนหญ้าคา ฉะนั้น.

ในบรรดา ธรรมทั้งสาม นั้น กุศล มีความไม่มีโทษ และมี วิบากเป็นสุขเป็นลักษณะ อกุศล มีโทษและมีทุกข์เป็นวิบากเป็นลักษณะ อัพยากตะ ไม่มีวิบากเป็นลักษณะ.

นี่คือสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวัน

ส่วน คำว่า บุญ หมายถึง สภาพธรรม ชำระ ขัดเกลาสันดาน หรือ เป็นสภาพธรรมที่ชำระจิตให้สะอาด (เพราะโดยปกติแล้วจิตสกปรก ด้วยอำนาจของอกุศลธรรม) จากที่เป็นอกุศล ก็ค่อยๆ เป็นกุศลขึ้นในชีวิตประจำวัน ซึ่งก็ไม่พ้นไปจาก ขณะที่จิตเป็นกุศล เป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในการอบรมเจริญความสงบของจิต และเป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา หากพิจารณาอรรถ คำว่า บุญ ที่ว่า สภาพธรรมที่ชำระขัดเกลาสันดาน หรือ ขัดเกลาจิตใจให้สะอาดจากกิเลส แล้วธรรมอะไร ที่ทำให้จิตปราศจาก กิเลส ชำระสันดาน ชำระจิตได้ หากไม่ใช่สภาพธรรม ที่เป็นฝ่ายดี คือต้องเป็นสภาพธรรมที่ปราศจากกิเลส ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ เพราะฉะนั้น สภาพธรรมนั้น ก็ต้องเป็น กุศลจิต กุศลธรรมเช่นกัน เพราะฉะนั้น คำว่า บุญ และ กุศล ต่างกันแต่เพียงพยัญชนะ แต่อรรถความหมาย ก็สามารถอธิบาย และ มีความหมายเหมือนกันได้ เพียงแต่ว่า ที่ใช้ชื่อต่างกัน ก็เพราะ แสดงถึง นัยของเทศนาของพระพุทธเจ้า ที่แสดงลักษณะของสภาพธรรมที่ดีงาม ว่าทำหน้าที่ได้หลายอย่าง เช่น กุศล คือ ธรรมที่ไม่มีโรค ไม่มีโทษ ขัดเกลากิเลส บุญ ก็เป็นทำหน้าที่ชำระสันดาน คือ ชำระจิตให้ปราศจากกิเลส เพราะฉะนั้น ทั้ง บุญ และ กุศล ต่างก็เป็นธรรมฝ่ายดีทั้งสองประการ ครับ

ดังข้อความในพระไตรปิฎกที่ว่า

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 142

กุลบุตรผู้ใคร่ประโยชน์ พึงศึกษาบุญนั่นแล อันสูงสุดต่อไป ซึ่งมีสุขเป็นกำไร คือ พึงเจริญทาน ๑ ความประพฤติสงบ ๑ เมตตาจิต ๑ บัณฑิตครั้นเจริญธรรม ๓ ประการ อันเป็นเหตุเกิดแห่งความสุขเหล่านี้แล้ว ย่อมเข้าถึงโลกอันไม่มีความเบียดเบียน เป็นสุข.

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔- หน้าที่ 150

ในบทเหล่านั้น บทว่า ปุญฺเมว โส สิกฺเขยย ความว่ากุลบุตร ผู้ใคร่ประโยชน์ พึงศึกษา พึงดำรงมั่น พึงเสพธรรมเป็น กุศล ๓ อย่าง อันได้ชื่อว่า บุญ เพราะให้เกิดผลน่าบูชา และเพราะชำระสันดานของตน.

บทว่า อายตคฺค ความว่า บุญ ชื่อว่า อายตคฺค เพราะมีผลไพบูลย์มีผลยิ่งใหญ่ หรือสูงสุดต่อไป เพราะมีผลน่ารัก น่าพอใจ หรือเพราะเลิศด้วยความเจริญ คือ ด้วยความยิ่งใหญ่และสูงสุดด้วยปัจจัย มีโยนิโสมนสิการเป็นต้น

อีกอย่างหนึ่ง บุญ ชื่อ อายตคฺค เพราะเลิศ คือ เป็นประธานทางความเจริญ อันเป็นผลน่าพอใจ. อธิบายว่า ต่อจากนั้นก็มีสุขเป็นกำไร คือ มีสุขเป็นวิบาก.

ท่านถามว่า ก็บุญนั้นเป็นไฉน และกุลบุตรพึงศึกษาบุญได้อย่างไร.

ตอบว่า พึงบำเพ็ญทาน สมจริยา และเมตตาจิต.

จะเห็นนะครับว่า ข้อความในพระไตรปิฎก แสดงถึง กุศศล 3 คือ ทาน ศีล และ การเจริญเมตตาจิต ก็คือ บุญ นั่นเองครับ และข้อความในพระไตรปิฎกก็แสดงความหมายของบุญด้วย

ความหมายของบุญ

1. บุญ เป็นสภาพธรรมให้ผลที่เลิศ

2. บุญ เป็นสภาพธรรมที่ชำระสันดาน คือ ขัดเกลากิเลสที่เกิดที่จิต

3. บุญ เป็นสภาพธรรมที่ให้ผลที่ดี และ ให้ผลไพบูลย์

4. บุญ เป็นสภาพธรรมที่มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก

จะเห็นนะครับว่า จากความหมายของ บุญ ตามพระธรรมที่ พระพุทธเจ้า ทรงแสดงสอดคล้องกับ

ความหมายของคำว่า กุศล กุศลมีดังนี้

1. ความไม่มีโรค

2. ความไม่มีโทษ

3. ความฉลาด

4. มีสุขเป็นวิบาก

5. ชำระขัดเกลากิเลส

ซึ่ง บุญ ก็เป็นสภาพธรรม ที่ชำระล้างสันดาน ก็คือ ขัดเกลากิเลส ดังเช่นกุศล บุญ เป็นสภาพธรรม ที่มีสุขเป็นผล เป็นกำไร ให้ได้ผลที่ดี ก็ตรงกับความหมายของกุศลที่มีสุขเป็นวิบาก

นี่แสดงถึง คำว่า บุญ และ กุศล ที่มีความหมายเหมือนกัน สามารถใช้กันได้ ต่างกันที่พยัญชนะ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 1 พ.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ ๓๐

กุศลกรรมทั้งหลาย อันต่างโดยประเภท มี ทาน และ ศีลเป็นต้น ได้ชื่อว่า บุญ เพราะทำให้บังเกิดผลคือความที่น่าบูชา และ เพราะชำระชะล้างสันดานของตนเองให้หมดจด
(อรรถกถา ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ ปฐมปีฐวิมาน)

ขณะที่อกุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นไป หรือ แม้กระทั่งในขณะที่หลับสนิท ขณะนั้น บุญไม่เกิด กุศลไม่เกิด แต่เมื่อใดที่สติเกิด ระลึกได้เป็นไปในกุศลประการต่างๆ กล่าวคือ ระลึกเป็นไปใน ทาน ศีล ความสงบของจิต และการอบรมเจริญปัญญา เมื่อนั้นบุญย่อมเจริญซึ่งไม่จำกัดเลย

ที่ควรพิจารณา คือ บุญ ไม่ใช่มีแต่เฉพาะทานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญบุญ ที่เป็นบุญกิริยาวัตถุมี ๑๐ ประการ คือ

๑. ทาน การให้วัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้รับ

๒. ศีล ได้แก่ ความประพฤติทางกาย ทางวาจา ที่เป็นกุศล คือ ไม่เบียดเบียนบุคคลอื่นให้เดือดร้อน

๓. ภาวนา การอบรมจิตให้สงบ คือ สมถภาวนา ๑ และการอบรมให้เกิดปัญญา วิปัสสนาภาวนา ๑

๔. อปจายนะ การอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม ก็เป็นบุญ เพราะว่าจิตใจในขณะนั้นไม่หยาบกระด้างด้วยความถือตัว

๕. เวยยาวัจจะ การสงเคราะห์แก่ผู้ที่ควรสงเคราะห์ ไม่เลือกสัตว์ บุคคล ผู้ใดที่อยู่ในสภาพที่ควรสงเคราะห์ช่วยเหลือให้ความสะดวก ให้ความสบาย ก็ควรจะสงเคราะห์แก่ผู้นั้น แม้เพียงเล็กน้อยในขณะนั้น ก็เป็นกุศลจิต เป็นบุญ

๖. ปัตติทาน การอุทิศส่วนกุศล ให้บุคคลอื่นได้ร่วมอนุโมทนา ซึ่งจะเป็นเหตุให้กุศลจิตของบุคคลอื่นเกิดได้

๗. ปัตตานุโมทนา การอนุโมทนาแก่ผู้อื่นที่ได้กระทำกุศล เพราะเหตุว่า ถ้าเป็นคนพาล ไม่สามารถจะอนุโมทนาได้เลย เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ได้ทราบการกระทำบุญกุศลของบุคคลอื่น ก็ควรเป็นผู้ที่มีจิตยินดี ชื่นชม อนุโมทนา ในกุศลกรรมของบุคคลอื่นที่ตนได้ทราบนั้น ไม่ใช่เป็นผู้ที่ตระหนี่แม้แต่จะชื่นชมยินดีในบุญกุศลของบุคคลอื่น

๘. ธัมมเทศนา การแสดงธรรมแก่ผู้ต้องการฟัง ไม่ว่าเป็นญาติ มิตรสหาย หรือบุคคลใดก็ตาม ซึ่งสามารถจะอนุเคราะห์ให้เขาได้เข้าใจเหตุผล ในพระธรรมวินัย ก็ควรที่จะได้แสดงธรรมแก่บุคคลนั้น

๙. ธัมมัสสวนะ การฟังธรรม เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก ในสภาพธรรม ตรงตามความเป็นจริง ก็เป็นบุญ

๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ การกระทำความเห็นให้ตรง ตามสภาพธรรม และเหตุผล ของสภาพธรรมนั้นๆ ธรรมใดที่เป็นกุศล ก็ให้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริง ว่า เป็นกุศลจริงๆ ธรรมใดที่เป็น อกุศล ก็ให้พิจารณากระทำความเห็นให้ตรงตาม สภาพธรรม จริงๆ ว่า สภาพธรรมนั้นเป็นอกุศล ไม่ปะปนกุศลธรรมกับอกุศลธรรม

พระธรรมที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา มีความละเอียด ลึกซึ้ง เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้ที่ได้ศึกษา และมีความเข้าใจ ไปตามลำดับอย่างแท้จริง เพราะทุกส่วนของคำสอนที่พระองค์ทรงแสดงนั้น เป็นไป เพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมอย่างแท้จริง ซึ่ง กล่าวโดยอรรถแล้ว บุญ กับ กุศล อรรถอย่างเดียวกัน เพราะแสดงถึง สภาพธรรมที่ดีงามทั้งหมด แม้พยัญชนะจะต่างกันก็ตาม ขึ้นอยู่กับว่าจะมุ่งหมายถึง กุศลระดับใด บุญระดับใด นั่นเอง ถ้าเป็น บุญสูงสุด กุศลสูงสุด แล้ว ต้องเป็นในระดับ โลกุตตระ สามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น

สภาพธรรมที่ชำระจิตให้สะอาดจากอกุศล เกิดขึ้นเมื่อใด ก็ขจัดขัดเกลาอกุศลธรรม เป็นเรื่องของ บุญ, กุศล จากที่เป็นอกุศล ก็ค่อยๆ เป็นกุศลขึ้นในชีวิตประจำวัน ซึ่งก็ไม่พ้นไปจาก ขณะที่จิตเป็น กุศล เป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปใน การอบรมเจริญความสงบของจิต และเป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา โดยที่ไม่มีตัวตนที่จะไปทำบุญ เพราะบุญอยู่ที่สภาพจิต จิตเป็นกุศลก็เป็นบุญ ในทางตรงกันข้าม ถ้าจิตเป็นอกุศลก็ไม่ใช่บุญ

ดังนั้น ผู้ที่เห็นประโยชน์ของ การขัดเกลากิเลส ก็จะไม่ละเลยโอกาส ในการเจริญกุศลประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เพราะถ้ากุศลไม่เกิด ก็จะเป็นโอกาสให้ อกุศลเกิด พอกพูนหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Tongwichit
วันที่ 2 พ.ค. 2563

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์และอาจารย์วิทยากรทุกๆ ท่านด้วยความเคารพยิ่งครับผมสาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Selaruck
วันที่ 2 พ.ค. 2563

กราบขอบคุณและอนุโมทนาอาจารย์วิทยากรทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เฉลิมพร
วันที่ 22 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 23 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ