โปรดช่วยอธิบายพระพุทธพจน์นี้ด้วยครับผม
คือผมได้อ่านพระพุทธพจน์หนึ่งว่า
พระผู้มีพระภาคจึง ตรัสว่า ภิกษุถูกตักเตือนด้วยวาจา พึงเป็นผู้มีสติชอบใจ พึงทำลายความเป็นผู้ กระด้างในสพรหมจารีทั้งหลาย พึงเปล่งวาจาอันเป็นกุศล ไม่พึงเปล่ง วาจาเกินขอบเขต ไม่พึงคิดเพื่อธรรมคือการกล่าวว่าซึ่งชน.
สงสัยในประโยคที่ว่า “ไม่พึงคิดเพื่อธรรมคือการว่ากล่าวซึ่งชน“ คือ ในพระไตรปิฎกว่า ไม่ควรแม้คิดซึ่งการว่ากล่าวติเตียนใครๆ สมมติว่าเรามีลูก หรือคนรอบข้างเราเขาทำผิดศีลผิดธรรมอยู่ เราก็ไม่ควรเข้าไปตักเตือนเขาหรือครับ แล้วแบบนี้จะไม่ขัดแย้งกับประโยคแรกที่ว่า “ภิกษุถูกตักเตือนด้วยวาจา พึงเป็นผู้มีสติชอบใจ“ แล้วใครจะมาติเตียนเราละครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม ไม่มีแม้แต่คำเดียว ที่ส่งเสริมหรือสนับสนุนให้เกิดอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย และ พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงเป็นคำจริง ไม่มีความขัดแย้งกันเลย
การชี้โทษ หรือ การเพ่งโทษ เพื่อให้บุคคลอื่นเห็นโทษตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่เป็นกุศล หวังดีต่อผู้กระทำผิด เพื่อให้เขาได้ละทิ้งในสิ่งที่ผิด นั่นคือ การกระทำที่ถูกต้องดีงาม เป็นกุศล ควรกระทำ เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น แต่ถ้าเป็นผู้มุ่งร้าย มุ่งทำร้ายบุคคลผู้นั้น ด้วยจิตที่เป็นอกุศล ด้วยความไม่ชอบผู้นั้น ด้วยการพูดกระหน่ำซ้ำเติมเขา ว่าร้ายเขา ไม่ได้มีความหวังดีต่อเขาเลย อันนี้ เป็นอกุศล เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ดังนั้น จากข้อความที่ว่า ไม่พึงคิดเพื่อธรรมคือการกล่าวว่าซึ่งชน จึงมุ่งหมายถึงว่า ไม่ควรคิดไปในการที่จะพูดในด้านมุ่งร้ายคิดร้ายติเตียนด้วยจิตที่เป็นอกุศลต่อผู้ที่กระทำผิดประการต่างๆ นั่นเอง
ดังนั้น การมุ่งอนุเคราะห์ผู้กระทำผิด เพื่อให้เขาเห็นโทษของตนเองตามความเป็นจริง กับ การกล่าวกระหน่ำซ้ำเติมผู้กระทำผิด ย่อมมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ครับ
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...