การจากไปก่อนวัยอันควร
"การจากไปก่อนวัยอันควร" ประโยคนี้เป็นประโยคที่มักกล่าวกันทั่วๆ ไปในทางโลก สำหรับผู้ศึกษาธรรมะแล้ว ประโยคนี้ ส่วนตัวคิดว่า ไม่เป็นไปตามความหมายเท่าใดนัก เพราะไม่ว่า จุติจิตจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ถือว่าเป็นเวลาที่สมควรแล้วทั้งสิ้น และนั่นก็เป็นเพราะผลแห่งกรรม และเหตุปัจจัยที่ได้กระทำไว้
ขอคำแนะนำและความเห็นเพิ่มเติม เพื่อความละเอียดลึกซึ้งในทางธรรมะด้วยค่ะ
ขออนุโมทนาในกุศลทั้งปวง
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
[เล่มที่ 47] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖- หน้าที่ ๕๕๖
ภาชนะดินที่นายช่างทำแล้วทุกชนิดมีความแตกเป็นที่สุด แม้ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ก็ฉันนั้น ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งคนเขลา ทั้งคนฉลาด ล้วนไปสู่อำนาจของความตาย มีความตายเป็นที่ไปในเบื้องหน้าด้วยกันทั้งหมด.
พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ ๒๘๒
มรณะ เป็นไฉน
ความเคลื่อน ภาวะที่เคลื่อน ความทำลาย ความหายไป มฤตยู ความตาย ความทำกาละ ความแตกแห่งขันธ์ ความทิ้งซากศพไว้ ความขาดแห่งชีวิตินทรีย์ จากหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์ นั้นๆ อันใด นี้เรียกว่ามรณะ
------------------------------
ไม่มีใครจะรู้ได้ว่า ชีวิตจะดำรงอยู่นานเท่าใด จะตายเมื่อไหร่ จะตายที่ไหน จะตายด้วยโรคอะไร และตายแล้วจะไปเกิดที่ไหน เพราะเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น บางคนตายตอนเป็นเด็ก บางคนตายตอนเป็นหนุ่ม บางคนตายตอนเป็นผู้ใหญ่ บางคนก็ตายตอนแก่ชราแล้ว ไม่มีใครไปทำอะไรได้เลย เพราะเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น
สิ่งที่จะเป็นประโยชน์เกื้อกูล คือ ก่อนที่วันนั้นจะมาถึง ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นเมื่อใด ก็ควรที่จะเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิตอันมีประมาณน้อยนี้ ด้วยการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาและไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการสะสมเป็นที่พึ่งต่อไป ครับ
ขอเชิญคลิกฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เพิ่มเติม
ได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ
จุติจิตขณะเดียวเกิดเพราะกรรม
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...