เหตุ 4 ประการที่พระพุทธเจ้า ทำไม่ได้

 
joychorelada
วันที่  2 มิ.ย. 2563
หมายเลข  31912
อ่าน  32,272

กราบเรียนถามค่ะ

ข้อความด่านล่างมีแสดงไว้ในพระไตรปิฏกหรือเปล่าคะ :

🙏เหตุ 4 ประการที่พระพุทธเจ้า ทำไม่ได้

พระสาวกรูปหนึ่งถามพระพุทธเจ้าว่า "ในเมื่อพระองค์ทรงเป็นผู้
ที่มีความเมตตา และยังทรงมีอิทธิฤทธิ์มาก ทำไมจึงยังไม่สามารถทำให้ทุกคนพ้นทุกข์ได้"
พระพุทธเจ้าตอบว่า

ถึงแม้ตถาคตจะมีฤทธิ์มากเพียงใด แต่ก็มี 4 ประการที่ตถาคตไม่
สามารถกระทำได้:

🍀 1. ตถาคตไม่สามารถปลี่ยนแปลงวิบากกรรมได้ ใครสร้างกรรมเอาไว้
คนนั้นต้องรับเอง เพราะไม่มีใครรับแทนได้
🍂 2. ปัญญาให้กันไม่ได้ ต้องฝึกฝนเอาเองถึงจะเกิดปัญญาได้
🎋 3. ความศิวไลของธรรมะไม่สามารถสื่อทางภาษาได้ ความจริงแท้ใน
จักรวาลต้องใช้การปฏิบัติหนทางเดียวเท่านั้นเพื่อพิสูจน์ความจริง
🌾 4 คนที่ไม่มีวาสนาที่ดีกับคถาคต ธรรรมะจึงไม่สามารถเข้าถึงใจเขาได้
ตถาคตจึงโปรดเขาไม่ได้

ฝนแม้จะตกทั่วฟ้า ก็ยังไม่เกิดประโยชน์กับตันหญ้าที่ไร้ราก
พระธรรมแม้จะกว้างใหญ่ไพศาล ก็ยากที่จะไปโปรดคนไร้ซึ่งวาสนา

พุทธพจน์


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 2 มิ.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความที่ยกมาไม่มีในคำสอนของพระพุทธเจ้าและพระไตรปิฎกครับ

เรื่องกรรม

[เล่มที่ 32] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 168

คนหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น คนทำเหตุดี ย่อมได้ผลดี ส่วนคนทำเหตุชั่ว ย่อมได้ผลชั่ว

---------------------

พระธรรมมไม่สาธารณะกับทุกคน ผู้ที่สะสมปัญญามาเท่านั้นที่จะรับฟังคำสอน และ แม้ผู้ที่รับฟังคำสอนแล้ว แต่ ยังไม่ถึงเวลาที่จะรู้ความจริงก็ไม่สามารถที่จะทำให้รู้ได้ เพราะปัญญาเป็นของเฉพาะตน ดังข้อความในพระไตรปิฎกที่ว่า

[เล่มที่ 22] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ 149

ข้อความบางตอนจาก.. คณกโมคคัลลานสูตร [๑๐๓] พ. ดูก่อนพราหมณ์ ฉันนั้นเหมือนกันแล ในเมื่อนิพพาน ก็มีอยู่ ทางไปนิพพานก็มีอยู่ เราผู้ชักชวนก็มีอยู่ แต่ก็สาวกของเราอันเราโอวาทสั่งสอนอยู่อย่างนี้ บางพวกเพียงส่วนน้อย สำเร็จนิพพานอันมีความสำเร็จล่วงส่วน บางพวกก็ไม่สำเร็จ ดูก่อนพราหมณ์ ในเรื่องนี้ เราจะทำอย่างไรได้ ตถาคตเป็นแต่ผู้บอกหนทาง ขออนุโมทนา
 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
joychorelada
วันที่ 2 มิ.ย. 2563

กราบขอบพระคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 2 มิ.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เหตุย่อมสมควรแก่ผล เมื่อเหตุดี ผลก็ต้องเป็นผลที่ดี เป็นผลที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ แต่ถ้าเป็นเหตุที่ไม่ดี ผลก็ย่อมไม่ดี เป็นผลที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจตามสมควรแก่เหตุที่ได้กระทำแล้ว

พระสุตตันตปิฎก เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - - หน้าที่ ๑๖๔

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่วิบาก (ผล) อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ แห่งกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต จะพึงเกิดขึ้นนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะมีได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แต่ข้อที่วิบากอันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ แห่งกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต จะพึงเกิดขึ้นนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่วิบากอันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ แห่งกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต จะพึงเกิดขึ้นนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะมีได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แต่ข้อที่วิบากอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ แห่งกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต จะพึงเกิดขึ้นนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้
---------------

พระสุตตันตปิฎก เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ ๒๐๕

สัตว์ที่ได้เห็นพระตถาคต มีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่ไม่ได้เห็นพระตถาคต มากกว่าโดยแท้ สัตว์ที่ได้ฟังธรรมวินัยที่ พระตถาคตประกาศไว้ มีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่ไม่ได้ฟังธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศไว้ มากกว่าโดยแท้
---------------

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา นั้น ประกอบด้วยเหตุและผล เป็นไปเพื่อการละคลายกุศล เป็นไปเพื่อการดับกิเลส เป็นไปเพื่อการไม่เกิดอีก บุคคลผู้ที่ไม่มีปัญญา ย่อมไม่เห็นประโยชน์ของพระธรรมที่มีคุณค่ามากนี้ ถึงแม้ว่าจะมีผู้แนะนำในสิ่งที่ดีมีประโยชน์แก่เขาอย่างไรก็ตาม เขาย่อมไม่เห็นคุณค่า ไม่เห็นประโยชน์ พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง เป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่เห็นคุณค่าเห็นประโยชน์เท่านั้น มีเป็นส่วนน้อยเท่านั้นที่จะได้ฟังได้ศึกษา


...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Tikky
วันที่ 2 มิ.ย. 2563

ขออนุโมทนาคับ ได้ความรู้อีกแล้ว

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ประสาน
วันที่ 2 มิ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 3 มิ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เมตตา
วันที่ 3 มิ.ย. 2563

ยินดีในกุศล อ.ผเดิม และ อ.คำปั่น และทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
wannee.s
วันที่ 3 มิ.ย. 2563

พระธรรมเปรียบเหมือนบุคคลวางสิ่งของที่มีค่าพันอย่างไว้ที่หน้าประตูเรือนขึ้นอยู่กับว่าผู้นั้นจะเปิดประตูรับหรือไม่ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
arin
วันที่ 3 มิ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Dusita
วันที่ 5 มิ.ย. 2563

กราบ อนุโมทนา ค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ