เพราะเหตุใด อวิชชาจึงไม่ใช่สมุทัยในอริยสัจ 4

 
Witt
วันที่  6 มิ.ย. 2563
หมายเลข  31926
อ่าน  1,119

กราบเรียนถามอาจารย์วิทยากรครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 6 มิ.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง แสดงโดยหลากหลายนัย แม้แต่ เหตุ แห่งทุกข์ที่เป็นสมุทัย ก็ทรงแสดงหลากหลายนัยอีกเช่นกัน สำหรับ สมุทัย ที่เป็นเหตุแห่งทุกข์นั้น ทรงแสดงโดยโลภะ หรือ ตัณหา ว่าเป็นสมุทัย คือ เหตุแห่งทุกข์ ซึ่งก็ต้องเข้าใจว่า ทุกข์ในอริยสัจจะ มีหลายอย่าง คือ ทุกข์กาย (ทุกขทุกข์) ทุกข์ใจ (ปกิณณกทุกข์) และ ทุกข์ที่เป็นการเกิดขึ้นและดับไป (สังขารทุกข์) ครับ

ซึ่ง ตัณหา หรือ โลภะ เป็นเหตุแห่งทุกข์ เพราะแสดงให้เห็นว่า โลภะ เมื่อเกิดขึ้นย่อมนำมา ซึ่งทุกข์ ทั้งที่เห็นกันอยู่ คือ ทุกข์ใจ เมื่อไม่ได้สิ่งที่น่าปรารถนา ต้องการย่อมเกิดทุกข์ใจ ที่เป็นโทมนัสเวทนา เพราะมี ความติดข้อง พอใจ ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งเมื่อสิ่งนั้น แปรปรวนไป เปลี่ยนไป ก็เกิดทุกข์ใจประการต่างๆ และ โลภะ เมื่อยังมีอยู่ก็ยังนำมาซึ่งการเกิด คือ ขันธ์ ๕ นั่นคือ นำมาซึ่งทุกข์ ที่เป็นการเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรม และ โลภะ ตัณหา ก็นำมาซึ่งทุกข์กายด้วย เพราะเมื่อมีการเกิด ก็ก็ต้องมีขันธ์ ๕ จึงต้องได้รับทุกข์ทางกายด้วย ครับ

จะเห็นนะครับว่า โลภะ เป็นปัจจัย ให้เกิดทุกข์ประการต่างๆ อย่างกว้างขวาง พระองค์จึงทรงแสดงว่า โลภะ หรือ ตัณหา เป็นสมุทัย เป็นเหตุแห่งทุกข์

ส่วน อวิชชา ความไม่รู้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า เป็นหัวหน้าของอกุศลธรรมหมายถึง เพราะมี อวิชชา (ความไม่รู้) ย่อมทำให้อกุศลประการต่างๆ เจริญด้วย ซึ่งขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ไม่ว่าประเภทใด จะต้องมีโมหเจตสิก หรือ อวิชชา ความไม่รู้เกิดร่วมด้วยเสมอ จึงเป็นหัวหน้าของอกุศลธรรมทั้งหลาย และ เพราะมีอวิชชา ตามนัยปฏิจจสมุปบาท ย่อมเป็นปัจจัย ให้มีการทำกรรม ที่เรียกว่า สังขาร เมื่อทำกรรม ก็ทำให้มีการเกิด (วิญญาณ) และ ก็มีนามรูป คือ มีรูปร่างกาย จิตใจ และก็ทำให้ได้รับทุกข์ประการต่างๆ คือ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ (ความโศกเศร้า) เป็นต้น เพราะฉะนั้นอวิชชา ความไม่รู้ จึงนำมาซึ่งทุกข์ประการต่างๆ ด้วย คือ ทุกข์ เพราะ มีการเกิดขึ้นของสภาพธรรมที่เกิดขึ้น และดับไป ทุกข์ คือการเกิด และ ทุกข์ คือ โทมนัสเวทนา คือความเศร้าโศกเสียใจ ครับ ซึ่ง เพราะอวิชชา ความไม่รู้มี กิเลสต่างๆ จึงมีด้วย

ซึ่งในอรรถกถา บางแห่ง ก็แสดงว่า ทั้งโลภะ และ อวิชชา เป็นเหตุแห่งทุกข์ ครับเพียงแต่ว่า เมื่อแสดงโดยอริยสัจจะ ที่เป็นสมุทัยเหตุแห่งทุกข์ที่แสดงมีโลภะ ตัณหาความติดข้อง เพราะ สามารถเข้าใจได้ง่ายและชัดเจน ที่จะนำมาซึ่ง ทุกข์ใจ ที่เป็นๆ กันอยู่ ทุกๆ คนว่า ถ้าติดข้อง ยินดี พอใจ อะไรแล้ว ก็นำมาซึ่งทุกข์ ที่เป็นทุกข์ใจ ที่เกิดประสบ พบเจอกันในชีวิตประจำวัน แต่ อวิชชา ไม่ใช่เหตุโดยตรง ที่จะทำให้เกิดทุกข์ใจทันที ที่เกิดในชีวิตประจำวัน แต่ อวิชชา นำมาซึ่งการเกิดขึ้นของขันธ์ ๕ ครับนำมาซึ่งทุกข์ คือ การเกิดขึ้นของขันธ์ ๕ หรือ สภาพธรรมทีเป็น นามธรรม รูปธรรมคือ จิต เจตสิก รูป ที่เป็น สังขารทุกข์ เป็นสำคัญ ครับ เพราะฉะนั้น สมุทัยอริยสัจจะจึงแสดงโดย ตัณหา หรือ โลภะเป็นสมุทัย ไม่ใช่ อวิชชา เป็นสมุทัย ตามเหตุผลที่กล่าวมา แต่หากว่าศึกษาโดยละเอียดแล้ว และ เข้าใจความหมายของทุกข์ ประการต่างๆ ตามที่กล่าวมา เหตุแห่งทุกข์ ก็รวมถึง อวิชชา ความไม่รู้ด้วย เพราะทั้งโลภะหรือ ตัณหา และ อวิชชา ก็ล้วนแล้วแต่ นำมาซึ่งการเกิดขึ้นของขันธ์ ๕ ซึ่งจะนำมาซึ่งทุกข์ประการต่างๆ ทั้งหมด เพราะฉะนั้น ก็ควรเข้าใจว่า พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง มีหลากหลายนัยว่า พระองค์ทรงมุ่งหมายให้เข้าใจ อย่างไร แบบไหน แม้ สมุทัยอริยสัจจะ ก็เพื่อให้เห็นเหตุแห่งทุกข์หยาบๆ ที่เกิดในชีวิตประจำวัน ที่สัตว์โลกพอเข้าใจเบื้องต้นได้ เพราะเกิดกับตนเอง คือ ทุกข์ใจ ซึ่งมีโลภะเป็นเหตุใกล้ ครับไม่ใช่ อวิชชาเป็นเหตุใกล้ ครับ

แต่ที่สำคัญ อวิชชา หรือ โมหะ ความไม่รู้ นั้นเป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง และเป็นมูลเหตุของ ตัณหา และโลภะด้วย เพราะ มีอวิชชา จึงมีตัณหา ความติดข้องพอใจ เมื่อมีความไม่รู้ กิเลสประการต่างๆ ก็เจริญขึ้น เพราะฉะนั้น เหตุ แห่งทุกข์โดยละเอียด แท้จริง ก็ไม่พ้นไปจากอวิชชา ความไม่รู้เลย และ อวิชชายังเป็นสมุทัยสัจจะ เหตุแห่งทุกข์ โดยนัยปฏิจจสมุปบาท เชิญอ่านข้อความในพระไตรปิฎก ครับ

อวิชชาเป็นมูลเหตุของโลภะ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑- หน้าที่ 146

อรรถกถาจตุจักกสูตร

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ตัดความผูกโกรธด้วย กิเลสเป็นเครื่องร้อยรัดด้วย ความปรารถนา และความโลภอันลามกด้วย ถอนตัณหาอันมีอวิชชาเป็นมูล (เหตุ) เสียแล้วอย่างนี้ ความออกไป (จากทุกข์) จึงมีได้

บทว่า สมูล ตณฺห ได้แก่ ตัณหาอันมีมูล โดยมีอวิชชาเป็นมูล (เหตุ)


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓- หน้าที่ 272

ทุกขสมุทัยอริยสัจ เป็นอย่างไร

อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมี สังขารสงฺขารปจฺจยา วิญฺาณ เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมี วิญญาณ


ภวปจฺจยา ชาติ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมี ชาติชาติปจฺจยา ชรามรณ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมี ชรามรณะโสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส เป็นอันว่ากองทุกข์ทั้งมวลนั่นเกิดขึ้น ด้วยประการอย่างนี้ นี่ ภิกษุทั้งหลาย เราเรียกว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจ


เพราะอวิชชา ความไม่รู้มี กิเลสต่างๆ จึงมีด้วย

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้าที่ 988

ฉะนั้น พึงทราบว่า อวิชชาในที่นี้ แม้เมื่อเป็นเหตุแห่งสังขารอันมีวัตถุเป็นอารมณ์ และธรรมเกิดร่วมกันเป็นต้น เหล่าอื่น ท่านก็แสดงโดยความเป็นเหตุแห่งสังขารทั้งหลาย เพราะความเป็นประธาน ในบทว่า อวิชชา เป็นเหตุแห่งเหตุของสังขารมีตัณหาเป็นต้น แม้เหล่าอื่นเพราะบาลีว่า ตัณหาย่อมเจริญแก่ผู้เห็นความชื่นชม และว่า อวิชฺชา สมุทยาอาสวสมุทโย เพราะอวิชชาเป็นสมุทัย อาสวะ (กิเลส) จึงเกิด. เพราะปรากฏในพระบาลีว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ไม่รู้ไปสู่อวิชชาย่อมปรุงแต่ง แม้ปุญญาภิสังขาร (การทำกุศลกรรม หรือ อกุศลกรรม)

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 6 มิ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 6 มิ.ย. 2563

ขอนอบน้อมด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตราบใดที่ยังมีตัณหา ความติดข้องต้องการ นั่นหมายความว่า ยังเป็นผู้ที่ไม่ปราศจากกิเลสโดยเด็ดขาด ยังมีเหตุที่จะทำให้สังสารวัฏฏ์เป็นไป ซึ่งจะต้องเป็นทุกข์อีกต่อไปในสังสารวัฏฏ์ ตามความเป็นจริงแล้ว ตัณหายังมี นั่นหมายความว่ายังมีอวิชชาด้วย เพราะเหตุว่าผู้ที่จะดับตัณหาหรือโลภะได้อย่างเด็ดขาดนั้น ต้องเป็นพระอรหันต์ เท่านั้น และเมื่อนั้นก็ดับอวิชชา ได้ด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ที่ยังมีตัณหายังมีอวิชชา จึงยังไม่พ้นไปจากทุกข์ สืบเนื่องมาจากยังมีการเกิดอยู่ เพราะยังมีอวิชชา เป็นเครื่องกางกั้น และมีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ จึงทำให้สัตว์ท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏฏ์อย่างไม่มีวันจบสิ้น เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ มีสภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไปต่อไปอีก

การที่จะดับทุกข์ ก็ดับที่เหตุแห่งทุกข์ คือ ดับกิเลส ต้องปัญญาเท่านั้นจึงจะละได้ ถ้าไม่มีปัญญา ก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสอะไรได้เลย แล้วปัญญาจะมาจากไหน จะเจริญขึ้นได้อย่างไร ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาัสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ซึ่งทุกคนจะต้องเริ่มตั้งแต่ในขณะนี้ โดยที่ไม่ขาดการฟังพระธรรมในชีวิตประจำวัน นั่นเอง เพราะปัญญาจะมีมากได้ ก็ต้องอาศัยการสะสมไปทีละเล็กทีละน้อยการดับกิเลส เป็นเรื่องที่ไกลมาก แต่ในขณะนี้ ก็สามารถสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย จากการได้ฟังความจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 6 มิ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Witt
วันที่ 6 มิ.ย. 2563

กราบขอบพระคุณอาจารย์วิทยากรทั้งสองท่านเป็นอย่างสูงครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เฉลิมพร
วันที่ 8 ธ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ทรงศักดิ์
วันที่ 25 พ.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ