ความตาย ๓ อย่าง

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  14 มิ.ย. 2563
หมายเลข  31948
อ่าน  1,040

ความตาย ๓ อย่าง

(จากคำบรรยายของ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ณ แพรวอาภาเพลส จ.ราชบุรี)

ผู้ฟัง : เวลาที่ตาย ตายแล้วไปไหน แล้วใครในสมัยนี้เป็นผู้รู้ได้หรือไม่ แล้วถ้าตายแล้ว จำเป็นต้องสวดพระอภิธรรมหลายคืนไหม แล้วเวลาพระท่านสวดพระอภิธรรม คือ ไม่ทราบว่า พระท่านสวดให้ ผู้ที่ไปฟังได้ฟังหรือเปล่า แล้วก็ขณะที่กำลังจัดพิธีสวด เราเอาข้าวไปให้ที่ข้างโลง ท่านผู้เสียชีวิตไปแล้วจะได้รับหรือไม่คะ

ท่านอาจารย์สุจินต์ : คำถามยาวนะคะ แต่คำตอบยาวกว่า ถ้าจะให้เข้าใจจริงๆ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะเข้าใจได้เลยทันที แต่ว่า ต้องเป็นคนที่ “คิด” ขณะนี้ตายหรือยัง? (มีเสียงผู้ตอบว่า ยังค่ะ) ยังไม่ตายหรือคะ? เห็นเกิดแล้ว เห็นตายไป หรือเปล่า? สิ่งใดก็ตามที่เกิดแล้ว หายไป ไม่กลับมาอีกเลย ชาวบ้านจะใช้คำว่า “ตาย” ถูกต้องไหม

เพราะฉะนั้น ในพระธรรมคำสอน จะมี ความตาย ๓ อย่าง คือ

- ขณิกมรณะ (ขะ-นิก-กะ-มอ-ระ-นะ) มาจากคำว่า ขณะ ทุกขณะ ตายทุกขณะ ไม่เคยรู้ตัวเลย เห็นเกิดแล้ว เห็นตายแน่ๆ เพราะว่า หมดแล้ว ไม่กลับมาอีกเลย สิ่งใดก็ตาม หมดแล้ว ไม่กลับมาอีก ไม่เหลือเลย เหมือนไฟดับ ไฟที่ดับ ใครจะไปตามหาไฟนั้นได้ไหม ไม่มีร่องรอยเลย ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ขณะนี้ ค่ะ ขณิกมรณะ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่เกิดขึ้น สิ่งนั้นดับ จนกว่า จะถึง

- สมมติมรณะ (สัม-มะ-ติ-มอ-ระ-นะ) ที่เราสมมติว่า “ตาย” แต่ว่า ตายอยู่ทุกวัน เพราะฉะนั้น เวลาที่ตาย ก็คือว่า จิตขณะสุดท้ายของชาตินี้ เฉพาะชาตินี้ เกิดแล้วดับ จึงชื่อว่า “ตาย” ถ้า จิตขณะนี้ เช่น เห็นเกิด แล้วก็ดับไป แล้วก็มีเห็นต่อไป แล้วก็มีได้ยินต่อไป สืบต่อ อยู่เรื่อยๆ ในชาตินี้ ยังไม่ชื่อว่า “ตาย” แต่ว่าเมื่อ จิตขณะสุดท้าย เกิดขึ้นแล้วดับไป ทำกิจ เคลื่อนพ้น สภาพความเป็นบุคคลนี้ โดยสิ้นเชิง จะกลับมาอีก ไม่ได้เลย

ถ้าเรานอนหลับ แล้วก็ตื่น ตอนหลับนี่ อยู่ที่ไหน ไม่มีใครรู้เลย ใช่ไหม ชื่ออะไรตอนหลับ? บ้านอยู่ที่ไหน? นอนอยู่ที่ไหน? มีทรัพย์สมบัติมากมาย มีความทุกข์ความสุขอย่างไร ไม่มีเลยในขณะที่หลับ แต่ก็ต้องตื่น เพราะ ยังไม่ตาย เพราะเหตุว่า กรรม ที่ทำให้เป็นบุคคลนี้ ยังไม่สิ้นสุด แต่เวลาที่ กรรมทำให้สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ จิตขณะสุดท้าย เกิดแล้วดับไป สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ ไม่มีใครรู้เลยว่า จิต เป็น ธาตุ ที่น่าอัศจรรย์ เป็น ธาตุ ที่เกิดขึ้น ต้องรู้ สิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น ขณะนี้อะไรปรากฏ เพราะจิตเกิดขึ้น จึงเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง รู้ว่าเสียงเป็นอย่างนี้ รู้ว่ากลิ่นเป็นอย่างนี้ รู้ว่านิมิตเครื่องหมายต่างๆ ในห้องนี้ เป็นอย่างนี้เป็นโต๊ะบ้าง เป็นอะไรบ้าง นี่เป็น “ธาตุ รู้ ”

แต่ว่า “จิต” น่าอัศจรรย์ที่ว่า จิตเกิดขึ้นแล้ว ถ้าจิตนั้นยังไม่ดับไป จิตอื่นเกิดสืบต่อไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ จิต แต่ละหนึ่งขณะ เท่านั้น ที่เกิดขึ้น ดับไปแล้ว ทันทีที่จิตนั้นดับไป ทำให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ เพราะฉะนั้น “จิตขณะแรก” ที่เราใช้คำว่า “เกิด” ภาษาบาลี ใช้คำว่า ปฏิสันธิจิต (ปะ-ติ-สัน-ธิ-จิต) หมายความว่า จิตนี้ เกิดสืบต่อจาก จิตสุดท้ายของชาติก่อน คือ ตาย ตาย เมื่อไหร่ เกิดทันที เหมือนเมื่อกี้นี้ ดับไป ก็มีขณะต่อไป เกิดสืบต่อ ทันที แต่ยังไม่สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ ก็ไม่ใช่คำว่า “ตาย” เพราะเหตุว่า เป็นเพียง ขณิกมรณะ ตายอยู่เรื่อยๆ ทุกขณะ จนกว่าจะถึง ขณะสุดท้าย ที่ทำให้พ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ ที่เราใช้คำว่า “ตาย”

เพราะฉะนั้น เมื่อจิตขณะนี้ เกิดแล้วดับ เป็นปัจจัยให้ จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น ฉันใด เวลาที่ จิตขณะสุดท้ายของชาตินี้ ดับ ก็เป็นปัจจัยให้ จิตขณะต่อไป เกิดขึ้น ไม่รู้ที่ไหน ใครรู้บ้างตายแล้วไปไหน แต่ไปแน่ เหมือนกับชาติก่อน เราเป็นใคร อยู่ที่ไหน แล้วเราก็อาจจะสงสัยว่าตายแล้วจะเกิดอีกหรือเปล่า? แต่ว่าจากชาติก่อนที่สงสัย เคยเป็นอย่างนี้ แล้วเวลาที่ จิตขณะสุดท้าย เกิดแล้วดับไป ก็เป็นธรรมดา คือว่า ต้องมีจิต เกิดสืบต่อจาก จิตที่ดับไปจนกว่าจะถึง

- สมุจเฉทมรณะ (สะ-หมุด-เฉ-ทะ-มอ-ระ-นะ) คือ การตายของพระอรหันต์ ที่ใช้คำว่า ปรินิพพาน หมายความว่า เมื่อจิตนั้นดับแล้ว จะไม่มีการเกิดอีกเลย พระอรหันต์ทุกพระองค์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปรินิพพาน เข้าใจได้ใช่ไหม เดี๋ยวนี้ ไม่มีอะไรเลยที่เหลือ ที่จะเป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเหตุว่า ดับโดยรอบ ที่ยังคงเหลืออยู่ในเวลานี้ ก็คือ พระบรมสารีริกธาตุ เป็น ส่วนของรูป ซึ่งก็คงเกิดดับสืบต่อยั่งยืน จนกว่าจะถึงกาละที่ อันตรธาน ไม่มีอีกแล้วในกาลครั้งหนึ่ง ข้างหน้า ซึ่งยังไม่เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น การเกิด การตาย เป็นธรรมดา ถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้ว ก็จะรู้ได้ว่า เราเกิดมาในชาตินี้ เราก็ต้องตายแน่ๆ มีใครบ้างไหม ที่เกิดมาแล้วไม่ตาย เคยเห็นใครเกิดมาแล้ว ไม่ตายบ้าง ไม่มีเลย ตายทุกคน แต่ ตายแล้วไปไหน ตามกรรม

เพราะฉะนั้น ถ้าเราทำกรรมไม่ดีไว้ หตุที่ไม่ดีมี ผลที่ไม่ดีก็คือว่า เกิดในที่ไม่ดี ถ้าทำกุศลกรรม กรรมดี ไม่ทำให้ไปสู่ที่ไม่ดีเลย แต่ว่าจะทำให้สู่โลกที่เป็นสุคติที่ดี เช่น เกิดเป็นมนุษย์หรือว่าเกิดเป็นเทพ หรือว่าถ้าสูงกว่านั้น เพราะกุศลที่ยิ่งกว่านั้น ก็เกิดเป็นพรหม ถึงความเป็น อรูปพรหม ได้ (อะ-รูป-ปะ-พรหม) แต่ก็ยังกลับมาสู่ ความเป็นอย่างนี้ เพราะว่า กรรม ที่ได้กระทำแล้ว มีมากมาย เพียง กรรมหนึ่ง ทำให้เกิด เป็นอย่างนั้น พอสิ้นสุดกรรมนั้นแล้ว ก็ยังมีกรรมอื่นที่ให้ผล

เพราะฉะนั้น ทุกคน มีกรรมที่ทำมาแล้วมาก ในอดีต อาจจะเป็น อกุศลกรรม ที่ร้ายแรงมาก ยังไม่ได้ให้ผล เพราะว่า กรรมดีให้ผล ทำให้เกิด ในชาตินี้ แต่กรรมอื่น ก็ยังมีโอกาสที่จะทำให้เกิดต่อจากชาตินี้ได้

เพราะฉะนั้น พระปัจฉิมวาจา (ปัด-ฉิม-มะ-วา-จา) คือ "ท่านทั้งหลาย จงยัง ความไม่ประมาท ให้ถึงพร้อม" เพราะเหตุว่า ใครจะตายเมื่อไหร่ ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้เลย แต่ก็มีเหตุ ที่จะทำให้ต้องเกิดอีก

(คัดจากกระทู้...ถอดคำบรรยายธรรม (ณ แพรวอาภาเพลส ราชบุรี) -- ความตาย ๓ อย่าง --โดย : ใหญ่ราชบุรี)


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
sanit99141@gmail.com
วันที่ 14 มิ.ย. 2563

สาธุครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 14 มิ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 14 มิ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
พัชรีรัศม์
วันที่ 14 มิ.ย. 2563

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ที่เคารพยิ่ง

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Witt
วันที่ 14 มิ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
suchada.s
วันที่ 19 มิ.ย. 2563

กราบเท้าท่านอาจารย์สุจินต์ด้วยความเคารพ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ประสาน
วันที่ 19 มิ.ย. 2563

ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ