ความหมายของ ..ผู้ทรงศีล

 
talaykwang
วันที่  24 มิ.ย. 2563
หมายเลข  31971
อ่าน  3,525

ผู้ทรงศีล หมายความว่า อย่างไรค่ะ มีบัญญัติไว้ในพระไตรปิฏก หรือเปล่า ขอสอบถามเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้น

ขออนุโมทนาในกุศลค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 25 มิ.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ในพระไตรปิฎก กล่าวถึง ทรงศีล ผู้ทรงศีล ก็คือ เป็นผู้ที่มีศีลที่เป็นกุศลศีล มีศีล 5 ศีล 8 ศีลของพระภิกษุ เป็นต้น แต่ความละเอียดของศีล มีอีกมาก จึงขอเพิ่มเติมในเรื่องศีลดังนี้ครับ

ศีล ที่ปรากฏในคำสอนทางพระพุทธศาสนามีหลากหลายนัย มีคำแปลหลายความหมาย หมายถึง การรวบรวมกาย วาจา จากที่เคยเป็นไปกับด้วยอกุศล ก็เป็นไปกับด้วยกุศลมากยิ่งขึ้น เป็นความประพฤติเรียบร้อยดีงาม หมายถึง เป็นที่รองรับกุศลธรรมทั้งหลาย นอกจากนั้นยังมีความหมายหลายอย่าง คือ ปกติ เกษม สำรวม ซึ่งโดยมากเรามักเข้าใจว่า ศีล คือ การกระทำทางกาย วาจา เป็นการวิรัติงดเว้นที่จะไม่กระทำบาป ทางกาย วาจา เท่านั้น เช่น งดเว้นจากการฆ่าสัตว์งดเว้นจากการลักทรัพย์ งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม งดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจากการดื่มสุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ซึ่งเป็นศีล ๕ แต่ในความเป็นจริง ศีล มีหลากหลายนัย ขึ้นอยู่กับว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงศีล โดยนัยใด จึงสำคัญอยู่ที่ผู้ศึกษาจะต้องมีความละเอียดรอบคอบในการศึกษา เพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง และประการที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า ศีล เป็นธรรม

นัยหนึ่งที่ทรงแสดงเรื่องศีล จำแนกศีล ออกเป็น ๔ อย่าง คือ

๑. เจตนา เป็น ศีล

๒. เจตสิก เป็น ศีล

๓. ความสำรวม สังวร เป็นศีล

๔. การไม่ก้าวล่วงเป็นศีล

ซึ่งมีคำอธิบายโดยสังเขป ดังนี้

เจตนา เป็นศีล หมายถึง เจตนาที่งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ จากการลักทรัพย์ จากการประพฤติผิดในกาม จากการพูดเท็จ เป็นต้น ขณะที่มีความจงใจ ตั้งใจ ที่งดเว้นในสิ่งที่ไม่ดีเหล่านั้น ก็เป็นศีล เป็นธรรมที่มีจริง

เจตสิกเป็นศีล คือ การงดเว้นจากความโลภ คือไม่เพ่งเล็งอยากได้ของของผู้อื่นมาเป็นของตน ที่เป็นอนภิชฌา งดเว้นจากการพยาบาท คือ ไม่พยาบาทปองร้ายผู้อื่น ที่เป็น อพยาปาทะ และ มีความเข้าใจถูกเห็นถูก ที่เป็นสัมมาทิฏฐิ ชื่อว่า เจตสิกเป็น ศีล เป็นธรรมที่มีจริง

การไม่ก้าวล่วงเป็นศีล คือ มีเจตนาสมาทานศีล ซึ่งเป็นการถือเอาด้วยดีเป็นข้อปฏิบัติที่จะรักษา โดยไม่ล่วงละเมิด ในสิ่งที่ตนเองได้ตั้งใจเอาไว้ เพื่อความเป็นผู้มีความประพฤติเป็นไปทางกาย ทางวาจาที่ดีงาม อย่างนี้ เรียกว่า การไม่ก้าวล่วง เป็นศีล

ความสำรวม หรือ การสังวร เป็นศีล ความสำรวม หรือ การสังวรในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงอาการกิริยาภายนอกที่ทำการสำรวม แต่มุ่งหมายถึงสภาพจิตเป็นสำคัญ กล่าวคือ สภาพจิตที่เป็นกุศล อันเป็นการปิดกั้นไม่ให้อกุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นไป ในขณะที่กุศลเกิดขึ้น การสำรวม หรือ สังวรนั้นมี ๕ ประการ คือ

- ปาฏิโมกขสังวร คือ การประพฤติงดเว้นในข้อบัญญัติที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสห้ามไว้ และน้อมประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่พระองค์ทรงอนุญาต เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายกิเลสของตนเอง ก็เป็น ศีล

- สติสังวร คือ การสำรวมด้วยสติ ในขณะที่มีสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และใจชื่อว่า สติสังวร ก็เป็นศีล

- ญาณสังวร คือ การสำรวมด้วยปัญญา ในขณะที่ปัญญาเกิด ละกิเลส ชื่อว่า สังวรด้วยปัญญา และหมายรวมถึงการพิจารณาปัจจัยที่ได้มา มีอาหาร เป็นต้น ก่อน แล้วจึงบริโภคใช้สอย ว่า ไม่ใช่เพื่อความเพลิดเพลินมัวเมา แต่เพื่ออุปการะเกื้อกูลให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้ เพื่อศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสของตนเองต่อไป การพิจารณาด้วยปัญญาแล้วจึงบริโภค ก็ชื่อว่า ญาณสังวร เป็นศีลในขณะนั้น คือ ปัจจยสันนิสสิตศีล

- ขันติสังวร คือ การสำรวมด้วยขันติ ความเป็นผู้อดทนต่อหนาวและร้อน อดทนที่จะไม่เป็นไปตามอำนาจของกิเลส มีโลภะ โทสะ เป็นต้น ชื่อว่า สำรวมด้วยขันติ ก็เป็นศีล

- วิริยสังวร คือ สังวรด้วยความเพียร เป็นการปรารภความเพียร เพื่อไม่ให้อกุศลที่ยังไม่เกิดขึ้น เพื่อละอกุศลที่เกิดแล้ว เพื่อเจริญกุศลยิ่งๆ ขึ้นไป ชื่อว่าสำรวมด้วยวิริยะ ก็เป็นศีล ด้วย

ศีล มีหลากหลายนัย คือ ทั้งเจตนางดเว้นจากบาปก็เป็นศีล และไม่ใช่เพียงงดเว้นจากบาป ที่เป็นวิรตีเจตสิกเท่านั้น ขณะที่เจตนาที่จะประพฤติสมาทานศีล อันเป็นการไม่ก้าวล่วงตามที่ตั้งใจไว้ ก็เป็นศีล และแม้ไม่มีการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ไม่มีวิรตีเจตสิกเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น แต่มีการสำรวม สังวรก็ชื่อว่า ศีล ที่เป็นสติสังวร เป็นต้น ด้วย

อีกนัยหนึ่งที่ทรงแสดงศีล ๒ อย่าง ที่เป็น วาริตศีล และ จาริตตศีล ดังนี้ คือ วาริตศีล เป็นการงดเว้นในสิ่งที่ควรงดเว้น เช่น งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ งดเว้นจากการลักทรัพย์ เป็นต้น นอกจากจะเว้นในสิ่งที่ควรงดเว้นแล้ว ก็ยังจะต้องน้อมประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ดีงามด้วย เช่น เลี้ยงดูมารดาบิดา ประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน ช่วยเหลื่อผู้อื่น เป็นต้น ซึ่งเป็นจาริตศีล

และอีกนัยหนึ่งที่ทรงแสดงศีล โดยนัยที่เป็นปกติ กล่าวคือ ทรงแสดงตามความประพฤติเป็นไปของสัตว์โลก ว่า ไม่พ้นไปจากสิ่งเหล่านี้ คือ ปกติเป็นอกุศล ก็เป็นอกุศลศีล ปกติเป็นกุศล ก็เป็นกุศลศีล และ ปกติเป็นอัพยากตะ (สำหรับพระอรหันต์) ก็เป็นอัพยากตศีล

ในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ สมณมุณฑิกสูตร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงถึงความแตกต่างระหว่าง อกุศลศีล กับ กุศลศีล ไว้ว่า กายกรรมเป็นอกุศล วจีกรรม เป็นอกุศลการเลี้ยงชีพชั่ว เหล่านี้เรากล่าวว่าศีลเป็นอกุศล ก็ศีลที่เป็นอกุศลเหล่านี้มีอะไรเป็นสมุฏฐาน แม้สมุฏฐานแห่งศีลเป็นอกุศลเหล่านั้น เรากล่าวแล้ว ก็ต้องกล่าวว่า มีจิตเป็นสมุฏฐาน จิตเป็นไฉน ถึงจิตเล่าก็มีมาก หลายอย่าง มีประการต่างๆ จิตใดมีราคะ โทสะ โมหะ ศีลเป็นอกุศล มีจิตนี้เป็นสมุฏฐาน

เราย่อมกล่าวซึ่งกายกรรมเป็นกุศล วจีกรรมเป็นกุศล และอาชีวะอันบริสุทธิ์ ลงในศีล เหล่านี้เรากล่าวว่าศีลเป็นกุศล ก็ศีลเป็นกุศลเหล่านี้มีอะไรเป็นสมุฏฐาน แม้สมุฏฐานแห่งศีลเป็นกุศลเหล่านั้น เรากล่าวแล้ว ก็ต้องกล่าวว่า มีจิตเป็นสมุฏฐาน จิตเป็นไฉน แม้จิตเล่าก็มีมากหลายอย่าง มีประการต่างๆ จิตใดปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะ ศีลเป็นกุศล มีจิตนี้เป็นสมุฏฐาน

นี้คือ ความประพฤติเป็นไปของสัตว์โลก ที่ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ก็ยังไม่พ้นไปจากความประพฤติเป็นไปที่เป็นอกุศล บ้าง เป็นกุศล บ้าง ตามการสะสม เพราะเหตุว่าการที่จะดับอกุศลได้นั้น ต้องเป็นการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้น พระอริยบุคคล เป็นผู้ดับอกุศล (ดับอกุศลศีล) ได้ตามลำดับขั้น จนกว่าจะดับได้อย่างหมดสิ้น เมื่อถึงความเป็นพระอรหันต์ จึงกล่าวได้ว่า พระอรหันต์ ดับได้ทั้งอกุศลศีล และ ไม่มีกุศลศีลเกิดขึ้นเป็นไป มีแต่อัพยากตศีล เท่านั้น

ศีล จึงหลากหลายนัยมาก ทั้งหมดทั้งปวงนั้น ก็เพื่ออุปการะเกื้อกูลให้ได้เข้าใจธรรม เข้าใจสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง ไม่ให้เข้าใจผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เพราะความจริง เป็นอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ใครๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

พระบารมีทั้งหมดที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญมา ก็เพื่อที่จะได้ทรงตรัสรู้สภาพธรรมที่มีจริงตามความเป็นจริง แล้วทรงแสดงพระธรรมอุปการะเกื้อกูลแก่สัตว์โลก ให้ได้เข้าใจตามด้วย จึงเป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ได้สะสมเหตุที่ดีมา ที่จะได้ฟัง ได้ศึกษาในสิ่งที่มีจริง สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกต่อไปตามกำลังปัญญาของแต่ละบุคคล

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Sanjuta
วันที่ 25 มิ.ย. 2563

ขอบพระคุณนะคะ มีประโยชน์มากคะ

ขออนุโมทนานะคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 25 มิ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 25 มิ.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

บรรพชิตที่บวชในพระพุทธศาสนาจะต้องศึกษาในแต่ละสิกขาบทที่เป็นพระวินัยบัญญัติที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ กล่าวคือปาฏิโมกข์ ซึ่งมีมากเป็นอย่างยิ่ง พร้อมทั้งละเว้นไม่กระทำในสิ่งที่ผิดพระวินัย ส่วนคฤหัสถ์มีศีลที่ต้องสำรวมระวังรักษาอยู่เป็นนิตย์ที่เรียกว่านิจจศีลหรือ ศีล ๕ มีการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ งดเว้นจากการลักทรัพย์ งดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจากการดื่มสุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท และถ้าสิ่งไหนดี ก็สามารถน้อมประพฤติปฏิบัติตามได้ และสิ่งใดที่เป็นโทษ ไม่นำมาซึ่งประโยชน์ใดๆ ก็งดเว้น ไม่น้อมประพฤติในสิ่งนั้น

ดังนั้น มีศีล ก็ต้องเป็นหมายถึงสภาพธรรมฝ่ายดีเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ โดยนัยที่เป็นกุศลศีล ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นผู้ที่ประพฤติชั่ว ล่วงละเมิดสิกขาบท ก็เป็นผู้ทุศีล

คำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ มีดังนี้

"คฤหัสถ์รักษาศีลตามพระวินัยได้ตามควร เพราะฉะนั้นแต่ละคนจะมีศีล มีความประพฤติขัดเกลามากน้อยสักเท่าไร ก็เป็นเรื่องที่ทำเฉพาะตัว ไม่ใช่ทำเพื่อประกาศให้คนอื่นชื่นชมอนุโมทนา รับรู้หรืออะไรต่างๆ ทั้งสิ้น ถ้าผู้ใดอ่านพระวินัยปิฎกทั้งๆ ที่เป็นคฤหัสถ์ จะเห็นได้จริงๆ ว่า ที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติความประพฤติที่ดีงามทั้งกายวาจา ยิ่งกว่าของคฤหัสถ์ ก็แสดงให้เห็นว่าผู้ที่อยู่ในเพศสมณะ ต้องสงบจริงๆ ระดับไหนแค่ไหน ไม่ใช่จะเหมือนอย่างคฤหัสถ์ แต่ทุกข้อที่บัญญัติเพื่อขัดเกลายิ่งขึ้น เพื่อความสงบ เป็นเรื่องเฉพาะตัว ซึ่งคฤหัสถ์เวลาอ่านแล้ว ถ้าเห็นว่าสิ่งนี้ดี น่าประพฤติปฏิบัติตาม ทำได้ไหมคะ ไม่มีข้อห้ามเลย ต้องไปบอกใครไหมว่า เรามีศีลมากกว่านั้นอีก เราเที่ยวไปเก็บเล็กเก็บน้อยจากพระวินัยมาประพฤติปฏิบัติ แล้วเราก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องนับว่าเรามีตั้งเท่านั้น หรือตั้งเท่านี้ แต่สิ่งใดที่ดีงามที่ทรงบัญญัติไว้สำหรับพระภิกษุ คฤหัสถ์ที่เห็นสมควรจะกระทำตามได้ก็ทำ โดยที่ว่ายังเป็นเพศของคฤหัสถ์ แล้วก็ไม่จำเป็นที่จะไปบอกใครว่า มีการกระทำที่เป็นไปตามพระวินัยเพิ่มขึ้น เป็นศีลข้อนั้นข้อนี้ เพราะว่าทั้งหมดของพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของการขัดเกลา"

ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

สีลสูตร

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
talaykwang
วันที่ 25 มิ.ย. 2563

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ประสาน
วันที่ 26 มิ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 28 มิ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ