ในขณะที่นอนหลับสนิทไม่รู้อะไร และภวังคจิตเกิดดับสืบต่อตลอด เหมือนกับจิตของอรูปพรหมมั้ยครับ

 
tax_lawyer1997
วันที่  30 มิ.ย. 2563
หมายเลข  32000
อ่าน  615

ขอกราบเท้าท่านอาจารย์สุจินต์ และขอกราบสวัสดีอาจารย์วิทยากรทุกท่านครับ

ผมขอสอบถามหน่อยครับว่า ในขณะที่นอนหลับสนิทไม่รู้อะไร และภวังคจิตเกิดดับสืบต่อตลอด สภาวะของจิตในขณะที่เป็นภวังจิต จะเหมือนกับสภาวะของจิตของผู้ที่เกิดในอรูปพรหมภูมิมั้ยครับ

ถ้าใช่ ต่อให้เป็นอรูปพรหมนานแสนนานเท่าไหร่ พอจุติจิตเกิด ต้องพ้นจากอรูปพรหม แล้วปฏิสนธิเกิดสืบต่อในภพภูมิใหม่ ก็เหมือนกับว่า นอนหลับสนิทแล้วก็ตื่นจากการนอนหลับสนิท หรือครับ

ขอขอบพระคุณล่วงหน้าครับผม


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 30 มิ.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาัสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ทุกขณะของชีวิต ก็คือ การเกิดดับสืบต่อกันของจิตแต่ละขณะๆ เป็นไปอย่างไม่ขาดสาย จิต เมื่อจำแนกเป็นประเภทใหญ่ๆ แล้ว มี ๒ ประเภท คือ จิตที่เป็นวิถีจิต กับจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต ซึ่งก็ต้องกล่าวถึงความหมายของจิต ๒ ประเภทนี้เป็นเบื้องต้นก่อนว่าวิถีจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยทวารหนึ่งทวารใดใน ๖ ทวาร (ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) ในการรู้แจ้งอารมณ์

จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นรู้แจ้งอารมณ์โดยไม่อาศัยทวารหนึ่งทวารใดใน ๖ ทวารเลย จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต มี ๓ ประเภท คือ ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และจุติจิต จะเห็นได้ว่าปฏิสนธิจิตเกิดแล้ว เป็นจิตขณะแรกในภพนี้ชาตินี้ จะไม่มีปฏิสนธิจิต ๒ หรือ ๓ ขณะในชาติเดียวกัน ส่วนจุติจิตยังไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จิตที่ไม่ใช่วิถีจิตในชีวิตประจำวันนี้ ก็คือ ภวังคจิต นั่นเอง

ในชีวิตประจำวัน วิบากจิต (จิตที่เป็นผลของกรรม) ที่เกิดขึ้นเป็นไปนั้น สำหรับผู้ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ไม่พิการตั้งแต่กำเนิด นอกจากจะมีวิบาก อันเป็นผลของกุศล ที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ เช่น ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ที่ดี ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ แล้วยังมีวิบากจิตอีกประเภทหนึ่ง ที่เกิดขึ้นเป็นไป ทำกิจหน้าที่ดำรงรักษาความเป็นบุคคลนี้ไว้จนกว่าจะจุติ นั่นก็คือภวังคจิต ขณะนี้ก็มีภวังคจิตเกิดขึ้นเป็นไป จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย

จิตทุกขณะเมื่อเกิดขึ้นย่อมทำกิจหน้าที่ เช่น ภวังคจิต เกิดขึ้นก็ทำกิจหน้าที่ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ไว้ จิตเห็น (จักขุวิญญาณ) เกิดขึ้นก็ทำหน้าที่เห็น เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นธรรมที่มีจริงทั้งหมด ก็ต้องค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ

อรูปพรหม คือ บุคคลที่อบรมสมถภาวนา จนถึงได้ฌานที่ ๕ ขึ้นไป และเมื่อฌานไม่เสื่อมก็ไปเกิดในอรูปพหรมภูมิ เป็นอรูปพรหมบุคคล ซึ่งไม่มีรูปเลย มีแต่นามเท่านั้นครับคือ มีแต่ จิตและเจตสิกเท่านั้นที่เกิดขึ้นครับ ดังนั้น จิตของผู้เกิดเป็นอรูปพรหม ไม่ได้จำกัดแค่ มีการเกิดเฉพาะภวังคจิตเท่านั้น แต่ เกิดกุศลจิตก็ได้ อกุศลจิตก็ได้ ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชน ไม่ใช่เกิดเฉพาะภวังคจิตลอดเวลา ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
tax_lawyer1997
วันที่ 30 มิ.ย. 2563

ขอบพระคุณอาจารย์เผดิมมากครับ

ตอนแรกผมก็เข้าใจว่าได้อยู่ในสภาวะเหมือนอรูปพรหมทุกคืนๆ เวลาหลับสนิทซะอีก

ขออนุโมทนาสาธุครับผม

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 30 มิ.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำคัญคือความเข้าใจถูกเห็นถูกต้องแต่ต้นจริงๆ ภวังคจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ไว้ จนกว่าจะจุติ ในชีวิตประจำวัน มีจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และ ทางใจ สลับกับภวังคจิต (ที่เกิดขึ้นโดยไม่อาศัยทวารทั้ง ๖ เลย) เพราะเหตุว่า ปฏิสนธิจิต เกิดแล้วดับแล้ว ตั้งแต่ขณะแรกในภพนี้ชาตินี้ ส่วนจุติจิต ซึ่งเป็นจิตขณะสุดท้ายของภพนี้ชาตินี้ ยังไม่เกิดขึ้น แต่ต้องเกิดแน่ๆ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถจะทราบได้ว่าจะเป็นที่ไหน เวลาใด ภวังคจิต เป็นจิตชาติวิบาก เป็นผลของกรรม นี้คือ ความเป็นจริงของธรรม

สำหรับ ผู้ที่เกิดเป็นอรูปพรหม ก็คือ ไม่มีรูป มีแต่นามธรรม คือ จิตและเจตสิก เกิดขึ้นเป็นไป ซึ่งแน่นอนตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ ก็ย่อมมีทั้งกุศลและอกุศล ตามการสะสมของแต่ละบุคคล และเมื่ออรูปพรหมบุคคล สิ้นสุดความเป็นอรูปพรหมบุคคล ก็ต้องมีการเกิดอีก ยังไม่พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ทันทีที่จุติเกิดแล้วดับไป ก็เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อ ไม่มีจิตอื่นเกิดคั่นเลย เร็วแสนเร็ว ครับ

ขอเชิญอ่านคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ ครับ

ขณะหลับสนิทเป็นภวังคจิต

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
tax_lawyer1997
วันที่ 1 ก.ค. 2563

ขอกราบขอบพระคุณอาจารยคำปั่นด้วยครับผมที่ช่วยอนุเคราะห์เกื้อกูลด้วยการอธิบายเพิ่มเติมให้เข้าใจยิ่งขึ้นครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 3 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ประสาน
วันที่ 3 ก.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ