ผมควรจัดการความรู้สึกอย่างไรดีครับ
ผมต้องขอโทษล่วงหน้าสำหรับการใช้ภาษาที่อาจไม่ทางการบ้าง ตัวผมอายุ 17 ปีครับ ผมพยายามหาคำตอบเกี่ยวกับข้อสงสัยของผม จนมาถึงในกรณีของพระพุทธศาสนา
เนื้อความมีอยู่ว่า ผมได้ไปอ่านบทความหนึ่งซึ่งใจความหลักมีประมาณว่า "ผมเป็นเด็กที่มีนิสัยซื่อสัตย์ตั้งแต่เด็ก แม้เห็นเพื่อนลอกข้อสอบเราก็ปฏิเสธที่จะทำตาม พอโตมาเป็นครู ได้มีเรื่องเกิดขึ้น ในการสอบเด็ก แล้วเกิดสิ่งที่ต้องเลือกระหว่างความซื่อสัตย์หรือว่าทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ผมควรคิดยังไงดีครับตามหลักศาสนา อีกเรื่องคล้ายๆ ครับ ผมเห็นเพื่อนลอกข้อสอบถ้าผมไม่ลอกตามก็มีความซื่อสัตย์ แต่เกรดก็สำคัญกับผม ถ้าอยากได้ความเท่าเทียมก็ต้องบอกครู แต่พอบอกครู เพื่อนๆ ก็ต่างไม่ชอบผม ตกลงผมควรคิดยังไงดีครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
[เล่มที่ 59] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้าที่ ๓๒๗
ผู้มีปัญญา คนใดมักชี้โทษ มักพูดบำราบ คนควรมองให้เหมือนผู้บอกขุมทรัพย์ ควรคบบัณฑิตเช่นนั้น เพราะว่า เมื่อคบบัณฑิตเช่นนั้น จะมีแต่ความดี ไม่มีความชั่ว คนควรตักเตือน ควรพร่ำสอนและควรห้ามเขาจากอสัตบุรุษ เพราะเขาจะเป็นที่รักของเหล่าสัตบุรุษ ไม่เป็นที่รักของเหล่าอสัตบุรุษ
แต่ละคนเป็นแต่ละหนึ่ง ตามการสะสม ไม่เหมือนกันเลย สำหรับ คุณความดี ความซื่อสัตย์ ความซื่อตรง เป็นธรรมฝ่ายดี เกิดขึ้นเมื่อใด ก็ไม่เปลี่ยนแปลงความเป็นสภาพธรรมที่ดี เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย สำหรับผู้ที่หนักแน่นมั่นคงในความถูกต้อง ก็จะไม่เอนเอียงไม่หวั่นไหวไปกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ยิ่งถ้าเป็นผู้ที่มีหน้าที่ในการพร่ำสอนให้ความรู้แก่ผู้อื่นด้วยแล้ว ก็ยิ่งจะต้องแนะนำเมื่อเห็นสิ่งที่ผิด ชี้ให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะถ้าหากไม่ได้รับการแนะนำ เขาก็จะเสพคุ้นกับสิ่งที่ผิดเพิ่มขึ้นๆ เป็นผู้ประมาท ไม่เห็นโทษ ต่อไปอาจจะทำอกุศลกรรมที่หนักๆ ก็ได้ จึงควรแนะนำ ส่วนใครจะมีความคิดเห็นต่อเราอย่างไร ก็ไม่สามารถห้ามได้ เพราะเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล เพราะฉะนั้น ชีวิตที่เกิดมา ค่า อยู่ที่คุณความดี ไม่ใช่การทำในสิ่งที่ผิด และ สภาพธรรมที่จะเกื้อกูลให้คุณความเจริญขึ้น คือ ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก ซึ่งจะมีปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้นได้ ก็ต้องได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ครับ
....ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...
"ชีวิตที่เกิดมา ค่า อยู่ที่คุณความดี ไม่ใช่การทำในสิ่งที่ผิด"
คำกล่าวนี้เตือนใจมาก กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์คำปั่นเป็นอย่างยิ่งค่ะ
การได้ศึกษาพระธรรมเข้าใจคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงความละเอียดของสภาพธรรมที่เป็นเหตุ และเป็นผล เกื้อกูลให้เห็นโทษของอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย ไม่คุ้มเลยกับผลตอบแทนใดๆ เมื่อต้องแลกด้วยการทำผิด แม้ไม่มีใครรู้ ใครเห็น แต่จิตตนเองนั้น สะสมทั้งหมดอย่างครบถ้วน ซึ่งเป็นโทษเป็นภัยกับตนเองอย่างไม่มีทางหลีกหนีได้เลย ตราบที่ยังต้องเวียนว่ายไม่พ้นวัฏฏสงสาร
เป็นโอกาสที่มีค่ายิ่งที่ได้ศึกษาพระธรรมค่ะ ยินดีในโอกาสนี้ กับผู้ถามด้วยนะคะ