ประเพณีของชาวพุทธ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ประมวลสาระสำคัญ
จากการสนทนาพิเศษ
เรื่อง "เข้าใจธรรมกับระเบียบประเพณี"
ที่บ้านคุณทักษพล - คุณจริยา เจียมวิจิตร
วันศุกร์ที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๓
~ ต้องไม่ลืม "พระพุทธศาสนา" ศาสนาเป็นคำสอนของพุทธะคือผู้ที่ตรัสรู้ความจริง เพราะฉะนั้น จารีตประเพณีของพระพุทธศาสนาจะเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากรู้ความจริง ถ้ามีผู้ที่ตรัสรู้แล้วไม่มีใครรู้ความจริงเลยจารีต (ความประพฤติที่ดีงาม) อยู่ที่ไหน ประเพณี (ความประพฤติที่ประพฤติสืบๆ ต่อกันมา) อยู่ที่ไหน? เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นจารีตประเพณีของชาวโลกมากมายก่ายกอง สิ่งที่ดีงามทางความประพฤติต่อบุคคลนั้นบุคคลนี้ครูบาอาจารย์บิดามารดาบรรพบุรุษ เป็นต้น อะไรที่ดีงามก็เป็นความประพฤติของชาวโลก แต่พระพุทธศาสนาไม่ใช่เพียงสอนให้ทำสิ่งที่ดีงามสากลทั่วไป แต่สอนให้รู้ความจริง เพราะฉะนั้น จารีตสำหรับพระพุทธศาสนาก็ต้องเป็นการที่จะเข้าใจถูก โดยต้องมีการฟังพระธรรม เคารพในพระธรรม ศึกษาพระธรรม เพื่อที่จะประพฤติตามซึ่งเป็นประเพณีของชาวพุทธ ถ้าเป็นประเพณีแต่ไม่มีความเข้าใจจะเป็นประเพณีของชาวพุทธไม่ได้ ก็เป็นประเพณีที่ชาวโลกกระทำกันอยู่หรือแม้กระทั่งจารีตก็ตามแต่ ความประพฤติที่ดีงามของชาวโลกก็เป็นของชาวโลก แต่ถ้าเป็นของพระพุทธศาสนา จะเป็นอย่างชาวโลกหรือ? เพราะเขาไม่มีคำว่าพุทธศาสนา แต่นี่เมื่อทรงตรัสรู้ความจริง จารีตความประพฤติที่ควรรู้ความจริง คือ ได้ฟังพระธรรม รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าใจความจริงและประพฤติปฏิบัติตามสืบๆ ต่อๆ กันมาจนเป็นประเพณีของชาวพุทธ
~ ประเพณีของชาวพุทธ จะเป็นอื่นไม่ได้ จะเป็นการไม่ศึกษาธรรมก็ไม่ใช่จารีตของชาวพุทธ และก็ถ้าไม่มีความเข้าใจพระพุทธศาสนา ไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็ไม่ใช่ประเพณีของชาวพุทธ
~ ถ้าเป็นชาวพุทธ สิ่งที่สมควรแก่การประพฤติก็คือรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเป็นชาวพุทธ แต่หนทางที่จะรู้จักพระองค์ ไม่มีหนทางอื่นเลยนอกจากฟังคำของพระองค์ไตร่ตรองความลึกซึ้งอย่างยิ่งจนมีความเข้าใจ จึงประพฤติปฏิบัติตามสืบต่อกันมาเป็นประเพณีของชาวพุทธ
~ คำสอนทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้โลกซึ่งมืดด้วยความไม่รู้ ได้เข้าใจความจริงทั้งหมดทุกอย่างที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้ว เพราะฉะนั้น ทุกคำของพระองค์สำหรับศึกษาสำหรับฟังด้วยความเคารพอย่างยิ่ง เพราะลึกซึ้ง ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ไม่คลาดเคลื่อน
~ แม้พระอรหันต์ (ผู้ห่างไกลแสนไกลจากกิเลส) ยังฟังธรรม เพราะท่านเป็นพระสาวก เพราะฉะนั้น คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีอีกมากซึ่งท่านจะต้องศึกษาเพื่อดำรงให้คงอยู่เป็นประเพณีสืบต่อมา เพราะชาวพุทธต้องเข้าใจธรรม
~ พระพุทธศาสนา คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อเข้าใจและถ้าไม่ศึกษาจะเข้าใจไม่ได้เลย แล้วทำอย่างไร จึงจะเข้าใจ หนทางเดียวคือศึกษา เป็นจารีตและก็เป็นประเพณีที่ว่าใครก็ตามที่นับถือพระพุทธศาสนาแล้วไม่ศึกษาพระพุทธศาสนาจะเข้าใจไม่ได้เลย ก็เข้าใจผิด
~ บวชแล้วทำอะไร เห็นไหม? สำคัญกว่าไหม? จากการเป็นคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิตอุปสมบท (บวชเป็นพระภิกษุ) ก่อนบวชก็ต้องรู้จุดประสงค์ แต่ถ้าไม่รู้จุดประสงค์แล้วบวช บวชแล้วทำอะไร อย่างนั้นจะเป็นการบวชหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ก็เป็นประเพณีไม่รู้
~ บวชคือการสละความไม่รู้ ซึ่งจะต้องมีการศึกษาเข้าใจความจริงและอบรมสิ่งที่ดีงามทุกอย่างตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้เพื่อขัดเกลากิเลส เห็นประโยชน์อย่างยิ่งของพระธรรมวินัยทุกข้อ จึงสมควรบวช แต่ถ้าไม่รู้เลยแล้วบวช ก็คือ อยากบวช
~ บวช ก็คือ การสละทุกสิ่งทุกอย่างในเพศคฤหัสถ์ เพื่อที่จะอุทิศชีวิตเพื่อที่จะได้ขัดเกลากิเลส ด้วยการเข้าใจพระธรรม
~ เมื่อไม่รู้ ก็ไปตามความไม่รู้ แต่ถ้ารู้เมื่อไหร่ ก็ไปตามความรู้ แต่ถ้ายังไม่มีความรู้แล้วจะไปประพฤติตามความรู้ได้อย่างไร
~ ถ้าไม่มีปัญญา ไม่บวชแน่
~ พระภิกษุ เกิดจากใคร เป็นบุตรของใคร เป็นศากยบุตร เกิดจากพระอุระ (คือ เกิดจากพระปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) เพราะได้ฟังธรรม จึงเกิดจากธรรม แล้วก็เป็นทายาทของธรรม เมื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรม
~ การบวชทั้งหมดที่เป็นเพราะไม่รู้ เป็นการทำลายพระพุทธศาสนา แต่การบวชด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องตามความเป็นจริงเท่านั้นที่จะดำรงรักษาพระพุทธศาสนา
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...