วิกฤตพระพุทธศาสนา ให้เด็กทำสมาธิปิดตา
คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเรื่องของการละ ไม่ใช่เรื่องของการได้ เช่น เรียนเก่ง ทายอะไรถูกโดยปิดตา ไม่ใช่เรื่องของปัญญาเลย เพราะพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของการละกิเลส ขัดเกลากิเลส อันเกิดจากปัญญาความเข้าใจถูกต้องเกิดขึ้น
การนำเด็กมานั่งสมาธิ แต่ไม่สอนให้เข้าใจเลยว่า สมาธิคืออะไร ไม่มีปัญญาเข้าใจถูก แล้วจะทำให้เด็กได้ฌาน ได้ญาณ ปัญญาได้อย่างไร แต่ก็หลอกคนอื่นเพียงแค่ว่าทายป้ายถูกเพราะปิดตานั่นคือการได้ฌาน ผู้ที่จะอบรมฌาน สมถภาวนา ต้องเห็นโทษของกิเลสในชีวิตประจำวัน มีปัญญาอย่างมาก เข้าใจถูกในขั้นการฟังอย่างดี แต่ เด็กยังเล่นเกม ติดเกม แล้วมาบวชสามเณรภาคฤดูร้อน แล้วเด็กจะเห็นโทษของกิเลสในชีวิตประจำวันหรือยัง ไม่มีแม้ความเข้าใจว่า สมาธิคืออะไร ธรรมคืออะไร แล้วจะได้ฌานอย่างไร
ขอนำพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องปาฏิหาริย์ 3 อย่าง และเรื่องสมาธิ ที่บรรยาย โดย ท่าน อ.สุจินต์ บริหารวนเขตต์และวิทยากรมูลนิธิ ดังนี้
ท่านอาจารย์ สมาธิเป็นสภาพที่ตั้งมั่นคงที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดเท่านั้นเอง ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตและเกิดกับจิตทุกๆ ขณะด้วย แม้ขณะนี้ก็มีเอกัคคตาเจตสิกเกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต แต่เวลาที่ปรากฏอาการของสมาธิ หมายความว่า จิตขณะนั้นรู้อารมณ์นานๆ จนกระทั่งปรากฏลักษณะที่ตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์นั้น เช่น คนที่กำลังตั้งใจทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ตั้งใจอย่างมากที่จะไม่ให้ผิด ขณะนั้นจะเห็นลักษณะอาการของสมาธิได้
เพราะฉะนั้น สมาธิมีทั้งที่เป็นมิจฉาสมาธิและสัมมาสมาธิ ถ้าไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยขณะใด ขณะนั้นเป็นมิจฉาสมาธิทั้งหมด เช่น ขณะที่กำลังอ่านหนังสือพิมพ์ ขณะนั้นก็มีสมาธิ อ่านรู้เรื่อง และเข้าใจเรื่อง พิจารณาเรื่องที่กำลังอ่านด้วย แต่ขณะนั้นไม่มีปัญญา ขณะนั้นก็เป็นมิจฉาสมาธิ
ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน สภาพที่ตั้งมั่นอยู่ที่สิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ยังคงตั้งมั่นอยู่ที่สิ่งนั้น ขณะที่เดินเป็นสมาธิก็ได้ ขณะที่นั่งเป็นสมาธิก็ได้ ขณะที่นอนเป็นสมาธิก็ได้ ขณะที่ยืนเป็นสมาธิก็ได้ แต่สมาธิไม่ใช่ปัญญา
ถ้าใครกำลังตั้งใจทำอะไร จดจ่อ ขณะนั้นก็รู้ได้ว่า ลักษณะอาการของสมาธิปรากฏ ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน ก็ตาม
อ.อรรณพ กราบท่านอาจารย์ครับ ประเด็นเรื่องสมาธิ ที่มีโทษอย่างมาก คือ ไม่เข้าใจพระธรรมคำสอน แล้วก็คิดว่า พระพุทธศาสนาคือการทำสมาธิ และในเมื่อไม่เข้าใจ ก็เป็นการ "ตั้งมั่นผิด" เป็น "มิจฉาสมาธิ" แล้วยังเอามิจฉาสมาธินั้นมาสอนกัน แล้วก็ตู่ว่า นี่คือหนทาง นี่คือวิปัสสนา แต่จริงๆ แล้วเป็น "มิจฉาสมาธิ" ซึ่งประกอบด้วยความเข้าใจผิด การเห็นผิด
ท่านอาจารย์ครับ สิ่งที่ทำให้ระบบการศึกษา ตั้งแต่ประถมขึ้นมา คิดกันก็คือว่า ทำสมาธิแล้วนักเรียนจะได้เรียนหนังสือเก่ง ท่านอาจารย์มีความเห็นอย่างไรครับ?
ท่านอาจารย์ ก็พูดคำที่ไม่รู้จัก เอาละครับ เขาไม่รู้จัก แต่ถ้าเขาให้ไปทำอย่างนั้น ที่เขาคิดว่าเป็นสมาธิ ให้เด็กอาจจะตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด แล้วจะมีผล ทำให้เรียนหนังสือเก่ง จริงไหมครับท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ แล้วแต่เหตุปัจจัย แค่ความสนใจ ก็ทำให้เข้าใจสิ่งที่เรียนได้
อ.อรรณพ จริงๆ อันนี้เป็นการทึกทักกัน เพราะว่าเด็กที่เขาสะสมมา อย่างพวกฝรั่งพวกอะไร เด็กนักเรียนของเขา เขามีความสนใจในศาสตร์นั้น เขาก็เรียนคอมพิวเตอร์ เรียนอะไรเก่ง โดยที่เขาไม่ต้องมานั่งหลับตาท่องอะไร หายใจเข้าออกอะไรทั้งสิ้น แต่เด็กที่เขาสะสมมา ที่เขาจะมีความเก่งในวิชาการต่างๆ พอถูกจับมานั่งสมาธิ เกิดคนนั้นเรียนดี ก็จะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่าง แล้วก็อ้างว่าสมาธิ ทำให้เขาเรียนเก่ง
เพราะฉะนั้น ก็เลยบังคับให้เด็กนั่งหลับตา ทำสมาธิ แล้วเหมือนได้สองอย่าง หนึ่งเรียนเก่งด้วย สองเป็นการรักษาพระศาสนาด้วย แต่จริงๆ แล้วเป็นการทำลายคำสอน เพราะตัดโอกาสให้เขาได้เข้าใจในหนทางที่ถูกต้อง แล้วคิดว่าการทำในสิ่งที่ไม่ได้เป็นพระธรรมคำสอน แต่จะเป็นแนวทาง เพราะฉะนั้น เมื่อมีความเป็นตัวตนที่เข้าใจผิดทั้งสิ้นเลย เพราะว่าคนที่เขาไม่ได้นั่งสมาธิแล้วเขาเรียนหนังสือเก่งๆ ก็เยอะแยะไป
ปาฏิหาริย์มี ๓ อย่าง คือ
๑. อิทธิปาฏิหาริย์ ฤทธิ์เป็นอัศจรรย์
๒. อาเทสนาปาฏิหาริย์ ดักใจเป็นอัศจรรย์
๓. อนุสาสนีปาฏิหาริย์ คำสอนเป็นอัศจรรย์
อิทธิปาฏิหาริย์ คือ การแสดงฤทธิ์ได้ เช่น คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ เป็นต้น
อาเทสนาปาฏิหาริย์ คือ สามารถรู้ใจผู้อื่นได้ว่าผู้นั้นคิดอย่างไร
ส่วนอนุสาสนีปาฏิหาริย์ คือ คำสอนของพระพุทธเจ้าที่แสดงกับเหล่าสาวก อันสามารถทำให้ละกิเลสประการต่างๆ ได้ ซึ่ง อนุสาสนีปาฏิหาริย์ เป็นเลิศประเสริฐที่สุด ครับ ดังนั้นถ้าจะกล่าวว่า สุดยอดปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้าคืออะไร ก็ต้องกล่าวว่า อนุสาสนีปาฏิหาริย์ คือสุดยอดปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้า เหตุผลเพราะว่าอิทธิปาฏิหาริย์ อาเทสนาปาฏิหาริย์ ไม่สามารถสละขัดเกลาและละกิเลสได้เลย จึงไม่ใช่ปาฏิหารย์จริงๆ ครับ แต่อนุสาสนีปาฏิหาริย์ คือ คำสอนของพระพุทธเจ้าที่สอนสาวกให้รู้ว่า สิ่งใดมีโทษ สิ่งใดไม่มีโทษ สิ่งใดควรเจริญ ไม่ควรเจริญ สิ่งนี้เป็นกุศล สิ่งนี้เป็นอกุศล หนทางนี้ คือ ทางดับกิเลส คือ อริยมรรค การสอนด้วย พระธรรมที่เป็นสัจจะนี้เองที่สามารถให้สาวก หรือ ผู้ที่ได้ฟัง ละสละขัดเกลากิเลส และมีปัญญา ถึงการดับกิเลสได้ นี่คือปาฏิหาริย์อันสูงสุด เพราะว่ากิเลสเป็นสิ่งที่ละยาก การละกิเลสได้จนหมดสิ้นด้วยพระธรรม จึงเป็นสิ่งที่เป็นปาฏิหาริย์สูงสุด