วันสงกรานต์กับพระพุทธศาสนา

 
sutta
วันที่  14 ก.ค. 2563
หมายเลข  32066
อ่าน  509

ในสมัยพุทธกาลได้มีประเพณีซึ่งเป็นการละเล่นที่เป็นงานมหรสพของผู้คนในสมัยนั้นโดยการใช้น้ำเช่นกัน ซึ่งย่อมเป็นไปได้ที่จะสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันในงานประเพณีสงกรานต์ในปัจจุบัน เพราะทำประจำในเดือน 4 เช่นกันดังข้อความในพระไตรปิฎกที่ว่า

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๓ - หน้าที่ 31

ก็สมัยนั้น มหาชนพากันเล่นมหรสพในอุตตรผัคคุณีนักขัตฤกษ์ปลายเดือน ๔ ทุกๆ ปี กระทำพิธีสรงน้ำที่ท่าใกล้แม่น้ำคยา, ด้วยเหตุนั้นชนทั้งหลายพากันเรียกมหรสพนั้นว่า คยาผัคคุณี ดังนี้.

ในการละเล่นที่ใช้น้ำในสมัยพุทธกาลที่เรียกว่า คยาผัคคุณี มีการใช้น้ำเป็นหลักด้วยความเชื่อของบุคคลสมัยนั้นว่า น้ำคือสิ่งที่ชำระล้างบาป อกุศลธรรมที่ได้ทำไว้ได้ แต่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงพระธรรมให้มหาชนมีความเข้าใจถูกว่าน้ำไม่สามารถชำระล้างกิเลสได้ แต่ปัญญา กุศลธรรมประการต่างๆ เท่านั้นที่จะชำระล้างกิเลสที่สะสมมาจนหมดสิ้นได้ครับ ดังข้อความพระไตรปิฎกที่ว่า

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 463

บทว่า สทา ผคฺคุ ได้แก่แม้งานนักษัตรประจำเดือน ที่มีเป็นประจำ. ได้ยินว่าพราหมณ์นั้นมีทิฏฐิอย่างนี้ว่าในเดือน ๔ ผู้ใดอาบน้ำในวันข้างขึ้นเดือน ๔ ผู้นั้นย่อมชำระบาปที่ตนกระทำตลอดปีได้. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงคัดค้านทิฏฐิของพราหมณ์นั้นจึงตรัสว่าสำหรับผู้บริสุทธิ์แล้วเดือน ๔ มีอยู่ทุกเมื่อสำหรับผู้หมดกิเลสแล้วนักษัตรประจำเดือน ๔ มีประจำ ห้วงน้ำนอกนี้ จักชำระล้างได้อย่างไรดังนี้.

น้ำในธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า

น้ำในพระธรรมวินัยของพระอริยเจ้าที่เป็นความเห็นถูกก็อย่างหนึ่ง น้ำตามความเข้าใจของปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ไม่ได้ฟังอีกอย่างหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงแสดงความจริงที่เป็นสัจจะให้ผู้ที่มีความเห็นผิด ได้มีความเห็นถูกในความเข้าใจเรื่องการละกิเลส การดับกิเลสว่าน้ำไม่ใช่เหตุให้ละกิเลสได้ หากเธอจะอาบน้ำเพื่อละกิเลส เธอจงอาบน้ำนี้.. ซึ่งสามารถละกิเลสได้ น้ำที่พระองค์ทรงแสดงจึงไม่ใช่น้ำที่เราเข้าใจกัน แต่เป็นน้ำคือ อริยมรรคที่มีความเห็นถูกเป็นหัวหน้า ให้เข้าใจความจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรมที่ไม่เที่ยงและไม่ใช่เรา นี่คือน้ำในพระธรรมวินัยที่จะชำระล้างกิเลสที่สะสมมาที่เป็นความไม่รู้ ไม่รู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ปัญญาเท่านั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อกิเลส ไม่ใช่น้ำที่จะชำระล้างกิเลสได้

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 464

บทว่า อิเธว สินาหิ ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เธอจงอาบน้ำในศาสนาของเราตถาคตนี้แล.

ท่านกล่าวอธิบายไว้อีกว่า ถ้าเธอปรารถนาจะล้างมลทิน คือกิเลสภายในไซร้ จงอาบด้วยน้ำคือมรรคมีองค์ ๘ ในศาสนาของเราตถาคตนี้นั่นแล. เพราะว่าในที่อื่น น้ำคือมรรคมีองค์ ๘ เช่นนี้ไม่มี ดังนี้.

ความสะอาดภายใน [ชฏิลสูตร]

ความเข้าใจในเรื่องการสรงน้ำพระภิกษุ

ในคำสอนทางพระพุทธศาสนา ไม่มีการนิมนต์พระมานั่งเรียงแถวแล้วสรงน้ำที่มือหรือที่ตัว ซึ่งมีขึ้นมาในภายหลัง แต่ในคำสอนทางพระพุทธศาสนาพบคำว่า สรงน้ำพระภิกษุ เมื่อมีเหตุ ดังตัวอย่างเช่น พระภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นโรคท้องร่วง นอนจมกองอุจจาระปัสสาวะพระผู้มีพระภาคเสด็จไปกับท่านพระอานนท์ เพื่อทำการดูแลโดยการสรงน้ำทำความสะอาดร่างกายให้ ซึ่งเป็นเหตุให้พระองค์ ได้ทรงอนุญาตให้พระภิกษุทั้งหลายดูแลกันเองเมื่อยามที่อาพาธ (ป่วย) ดังนั้น ต้องเป็นพระภิกษุด้วยกันที่สรงน้ำ (ไม่ใช่คฤหัสถ์) ทำความสะอาด พระภิกษุรูปที่ป่วย

ประเพณีในปัจจุบันมีการสรงน้ำพระภิกษุโดยฆราวาส ซึ่งไม่ใช่กิจของฆราวาสและพระภิกษุท่านก็ไม่ได้ป่วยจึงไม่ใช่กิจที่คฤหัสถ์ทั้งหลายจะสรงน้ำพระภิกษุ การสรงน้ำพระภิกษุ จึงไม่ใช่การแสดงออกถึงการเคารพในพระภิกษุสงฆ์ที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ซึ่งในสมัยพุทธกาลพระภิกษุทั้งหลายจะสรงน้ำด้วยตนเอง หากพระรูปใดป่วยก็เป็นพระภิกษุช่วยสรงน้ำให้กัน ดังที่พระพุทธเจ้าช่วยอาบน้ำให้พระภิกษุผู้อาพาธ ดังนั้น สรงน้ำพระภิกษุโดยอ้างประเพณี ดำรงประเพณีไว้ที่คิดว่างดงาม แต่ ไม่งดงามเลย เพราะ ผิดพระวินัย เป็นประเพณีที่ไม่ถูกต้อง เพราะทำด้วยอวิชชา ความไม่รู้และไม่ตรงตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง

สรงน้ำพระ

เรื่องพระปูติคัตตติสสเถระ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 17 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ