จงเห็นความประมาทโดยเป็นภัย
* ข้อความนี้ เป็นพุทธานุสาสนี คือ คำพร่ำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
* ความประมาท คือปราศจากสติ หมายถึงในขณะที่อกุศลจิตเกิด ย่อมปราศจากสติ คือความระลึกได้ในทางที่ดีงาม
* ความประมาท เป็นภัย เพราะเป็นเหตุให้เป็นไปเพื่อความทุกข์ มีความทุกข์ในอบาย เป็นต้น
* ความไม่ประมาท คือไม่ปราศจากสติ คือมีจิตที่ดีงาม เช่น ในขณะที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นไม่ปราศจากสติที่ระลึกในทางที่ดีงาม
* ความไม่ประมาท เป็นความเกษม เพราะเป็นไปในกุศลทุกประการ โดยเฉพาะสติและปัญญาที่ระลึกรู้ตรงลักษณะสภาพธรรม ซึ่งเป็นเหตุ เครื่องบรรลุพระนิพพาน อันเกษมจากกิเลสทั้งปวง จึงควรอย่างยิ่งที่จะอบรมเจริญ ใส่ใจถึงมรรค คือหนทางแห่งการดับกิเลส ได้แก่ เจตสิก (สภาพที่เกิดกับจิต) 8 ประเภท คือ
- สัมมาทิฏฐิ (ปัญญาเจตสิกที่เข้าใจถูกในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ)
- สัมมาสังกัปปะ (วิตกเจตสิก ที่จรดในลักษณะสภาพธรรม)
- สัมมาวาจา (สัมมาวาจาเจตสิก ที่วิรัติงดเว้นวาจาที่ไม่ดี)
- สัมมากัมมันตะ (สัมมากัมมันตเจตสิก ที่วิรัติงดเว้นการกระทำที่ไม่ดีทางกาย)
- สัมมาอาชีวะ (สัมมาอาชีวเจตสิก ที่วิรัติงดเว้นการเลี้ยงชีพที่ไม่เหมาะควร)
- สัมมาวายามะ (วิริยเจตสิก ที่เพียรในการระลึกรู้สภาพธรรม)
- สัมมาสติ (สติเจตสิก ที่ระลึกตรงลักษณะสภาพธรรม)
- และสัมมาสมาธิ (เอกัคคตาเจตสิก ที่ตั้งมั่นในการระลึกรู้สภาพธรรม)
(ประมวลสรุปจากอรรถกถา พรรณนาพุทธาปาทาน ขุททกนิกาย อปทาน)
โดย อ.อรรณพ หอมจันทร์
อ่านหัวข้ออื่นๆ คลิกที่นี่ ... คติธรรม